อาการ Reverse Culture Shock คืออะไร?

ทำความรู้จักกับ Reverse Culture Shock

Reverse Culture Shock คือ ภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อเดินทางกลับมาใช้ชีวิตยังประเทศเดิมของตนหลังจากการไปเรียนที่ต่างประเทศมาระยะหนึ่ง ซึ่งภาวะนี้คือการปรับตัวทางด้านอารมณ์และจิตใจเพื่อให้คุ้นเคยกับสิ่งใหม่ เหมือนกับการปรับตัวเมื่อครั้งที่ไปเรียนต่างประเทศนั่นเอง ภาวะที่เกิดขึ้นจะมีหลายรูปแบบตั้งแต่การเกิดความรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจในตัวคุณเลย หรือ การเกิดความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะสูญเสียตัวตนของตัวเองไปหากไม่มีวิธีหรือช่องทางที่ทำให้สามารถไล่ตามความสนใจของตัวเองได้ เป็นต้น อาการที่แสดงออกนั้นจะแตกต่างกันไป แต่สัญญาณหลักๆที่มักจะเกิดขึ้นคือ:

  • มีอาการกระสับกระส่าย ร้อนใจ กระวนกระวายใจ
  • เกิดความรู้สึกว่าไร้สิ่งยึดเหนี่ยว ไร้ที่พึ่ง
  • เกิดความเบื่อหน่าย
  • เกิดความลังเล ไม่มั่นใจ
  • เกิดความสับสน
  • ปลีกตัวแยกจากผู้คน
  • รู้สึกอยากอยู่คนเดียว
  • “Reverse homesickess”

ภาวะนี้จะเหมือนกับ Culture Shock ที่คุณเคยได้มีประสบการณ์เมื่อครั้งแรกที่ไปยังต่างประเทศ เพียงแต่ครั้งนี้จะกลับกัน เช่นเดียวกันกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลา การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบ้านเกิดก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน
ทักษะและวิธีการที่เคยใช้ช่วยในการปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ก็สามารถนำมาปรับใช้ช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับที่บ้านเกิดได้เช่นกัน:
เข้าไปคุลกคลีกับสิ่งต่างๆในวัฒนธรรมนั้นๆ
มองหากลุ่มนักเรียนที่ไปเรียนที่ต่างประเทศมาเหมือนกันเพื่อช่วยเหลือกันในการปรับตัว
อย่าด่วนตัดสินอะไรก่อนที่จะเข้าในสถานการณ์อย่างละเอียด
ความมีอารมณ์ขันเองก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยในการปรับตัวเช่นกัน

ปัญหาอุปสรรคที่อาจพบเมื่อเกิดภาวะนี้

ทำความรู้จักกับ Reverse Culture Shock

มีเหตุผลมากมายให้ตั้งตารอที่จะได้กลับบ้าน แต่ก็มีอุปสรรคทางด้านอารมณ์ สังคม และวัฒนธรรมมากมายที่ต้องเจอในการปรับตัวอีกครั้งเช่นกัน ซึ่งหลายครั้งสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นปัญหาที่ยากลำบาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ไปเรียนที่ต่างประเทศและพบกับภาวะนี้และสามารถผ่านไปได้ ได้แนะนำถึงปัญหาต่างๆและวิธีรับมือเอาไว้ดังนี้

1. ความเบื่อหน่าย
หลังจากที่ได้พบเจอสิ่งใหม่ๆและสิ่งเร้าต่างๆในช่วงที่อยู่ต่างประเทศ การที่จะต้องกลับมาหาครอบครัว เพื่อน และวิถีชีวิตแบบเดิมๆ (ไม่ว่าจะยอดเยี่ยมและสบายแค่ไหน) ก็สามารถทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อได้ เป็นเรื่องปกติที่จะคิดถึงความตื่นเต้นและความท้าทายของการไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่ประสบภาวะนี้เองว่าจะสามารถหาวิธีที่จะก้าวข้ามมันไปได้หรือไม่ ลองพยายามนำมุมมองใหม่ๆที่ได้จากการไปเรียนมาปรับใช้กับที่บ้าน มองหาสิ่งที่ยังไม่เคยได้ลองทำ มองหางานอดิเรกใหม่ๆ หรือลองใช้เวลาออกไปท่องเที่ยว สำรวจดูเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้

2. ไม่มีใครอยากฟังเรื่องราวของคุณ
สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อกลับมาจากการไปเรียนที่ต่างประเทศคือ จะไม่มีใครที่กระตือรือร้น ใส่ใจอยากจะฟังเรื่องราวการผจญภัยและการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆที่คุณอยากจะแบ่งปันให้พวกเขาเท่าไหร่นัก สิ่งนี้ไม่ใช่การปฏิเสธตัวคุณหรือความสำเร็จของคุณแต่อย่างใด เป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่ว่าเมื่อเพื่อนหรือครอบครัวของคุณได้ฟังเรื่องราวส่วนที่เป็นไฮไลท์ไปแล้ว พวกเขามักจะคิดว่าได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ดังนั้นเวลาที่อยากจะเล่าให้คนอื่นฟัง พยายามเล่าให้กระชับ ได้ใจความ ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความน่าตื่นเต้น เร้าใจที่ผู้เล่าเคยได้รู้สึกไปโดยสิ้นเชิง บ่อยครั้งที่คุณจะพบว่าผู้ที่เคยมีประสบการณ์ไปต่างประเทศมาก่อนจะสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณได้เจอมาได้มากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นพวกเขาเหล่านี้จะมีอารมณ์ร่วมมากกว่า (หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจ) กับเรื่องราวที่คุณจะเล่าให้ฟัง

3. อธิบายไม่ถูก
แม้ว่าจะได้รับโอกาสให้เล่าถึงสิ่งที่ได้เห็นมา ความรู้สึกที่ได้สัมผัสมาในช่วงที่ไปเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณไม่สามารถอธิบายได้กระจ่างชัดเท่าที่ควร การจะสื่อเรื่องราวประสบการณ์ของตัวเองให้ผู้อื่นที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องเดียวกันกับตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากไม่ว่าผู้ฟังจะใส่ใจขนาดไหนก็ตาม เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับต่างประเทศ เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ต่างกันอาจทำให้เพื่อนหรือครอบครัวของคุณที่ไม่มีพื้นเพในเรื่องเหล่านี้ไม่รู้สึกสนใจที่จะฟังเท่าที่ควร ลองเพิ่มสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยลงไปในเรื่องเล่าเช่น อาหาร โรงเรียน การช้อปปิ้ง เป็นต้น อาจจะช่วยดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้มากขึ้น

4. Reverse Homesickness
เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปยังประเทศบ้านเกิด ก็มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกคิดถึงผู้คน สถานที่ และสิ่งต่างๆที่เริ่มคุ้นเคยเมื่อตอนที่ไปใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนที่ต่างประเทศ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้สามารถบรรเทาลงได้โดยการเขียนจดหมาย โทรศัพท์ และคอยติดต่อกับผู้คนที่ได้เคยพบมาอยู่เสมอ แต่ความรู้สึกสูญสเยก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่เหล่านักเรียนที่ไปเรียนยังต่างประเทศจะต้องประสบและต้องยอมรับให้ได้

5. ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป
เมื่อไปเรียนที่ต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เลยที่ความสัมพันธ์ที่มีกับครอบครัวและเพื่อนๆจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปในระหว่างที่อยู่ที่ต่างประเทศ ผู้คนที่บ้านจะสามารถรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็เป็นไปได้ทั้งในด้านดีและไม่ดี แต่การที่หวังจะไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือ ความยืดหยุ่นในการปรับตัว ความเปิดเผย มีอคติให้น้อยที่สุด และพยายามมองสิ่งต่างๆในแง่บวกไว้เสมอ

6. ผู้คนรอบข้างเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงผิดไป
บางครั้งคนรอบตัวคุณจะใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในพฤติกรรมและความคิดของคุณและรู้สึกไม่ดี หรือไม่พอใจกับสิ่งเหล่านั้น บางคนอาจกล่าวว่าเป็นผลมาจากการที่คุณไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความอิจฉา ความกลัว หรือความรู้สึกในเรื่องของความเหนือชั้นหรือต่ำชั้นกว่า เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงหรือทำให้เกิดน้อยที่สุด ให้ลองสำรวจตัวเองและปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่มีต่อตัวคุณ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆหลังจากที่กลับมาจากต่างประเทศ

7. เกิดความเข้าใจผิด
มีบางคนที่อาจจะตีความหมายของคำพูดหรือการกระทำของคุณผิดไปบ้างในกรณีที่การสื่อสารไม่ตรงกันซึ่งจะทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าใจกัน เช่น บางเรื่องที่คุณเห็นว่าเป็นเรื่องตลก (โดยเฉพาะการเสียดสี การหยอกล้อ) และการแสดงถึงความสนใจ หรือการสนทนา อาจถูกมองว่าเป็นความก้าวร้าวหรือการโอ้อวดแทน ดังนั้นควรระวังในเรื่องของมุมมองที่คุณมองคนอื่นและพฤติกรรมที่จะแสดงต่อผู้อื่น และจำไว้ว่าการพูดถึงเรื่องเมื่อตอนที่คุณอยู่ต่างประเทศบ่อยๆอาจกลายเป็นการแสดงความโอหังในสายตาของผู้อื่น หรือแม้แต่เป็นการปฏิเสธวัฒนธรรมของประเทศบ้านเกิดของคุณเอง

8. ความรู้สึกแปลกแยก แตกต่างจากผู้อื่น
บางครั้งความจริงที่ว่าคุณได้กลับมาอยู่ที่บ้านแล้วก็ทำให้รู้สึกแปลกหรือไม่น่ายินดีเท่าที่คิดไว้ชีวิตประจำวันที่ขาดความสนุกสนาน ตื่นเต้น หรือ ต้องเรียกร้องมากกว่าที่เคยเป็น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกแปลกแยก แตกต่างจากผู้คนรอบข้าง สังเกตเห็นถึงความผิดพลาดในสังคมที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน หรือแม้แต่กลายเป็นคนที่คอยวิจารณ์คนอื่นและสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้จะเหมือนกับตอนที่คุณพึ่งออกจากบ้านไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก การคิดเปรียบเทียบสิ่งต่างๆนั้นสามารถทำได้ แต่ขอให้เก็บไว้กับตัวเองคนเดียวจนกว่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับมุมมองของวัฒนธรรมที่คุณอยู่ได้

9. ไม่สามารถนำความรู้และทักษะมาใช้ได้
ผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกผิดหวังกับการที่ไม่สามารถนำความรู้และทักษะใหม่ที่ได้เรียนรู้มาใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การจะหลีกเลี่ยงความรู้สึกรำคาญใจนี้สามารถทำได้โดยการปรับตัวเข้ากับความจริงเมื่อถึงคราวจำเป็น เปลี่ยนในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความอดทน และเหนือสิ่งอื่นใดคือการใช้ทักษะการปรับตัวระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกันเพื่อช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่บ้าน วางใจได้ว่าทักษะการปรับตัวระหว่างวัฒนธรรมนี้จะเป็นเครื่องมืออันมีค่าของคุณและโอกาสที่จะได้ใช้มันจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน

10. สูญเสียคุณค่าของประสบการณ์
การกลับมาอยู่บ้าน ตามด้วยความกดดันจากงาน เพื่อนและครอบครัวมักทำให้ผู้ที่กลับมารู้สึกเป็นกังวลว่าพวกเขาจะสูญเสียประสบการณ์และคุณค่า กลายเป็นเพียงสิ่งที่เหมือนกับของที่ระลึก หรืออัลบั้มรูปถ่ายที่นานๆทีถึงจะถูกนำออกมาดู คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น คอยติดต่อกับคนที่มีประสบการณ์แบบเดียวกับคุณ ฝึกฝนทักษะ และให้ความสำคัญกับการทำงานของคุณและความสนุกที่เคยได้รับเมื่อตอนที่อยู่ต่างประเทศก็พอ

 

ที่มา: http://www.marquette.edu/