EyWwB5WU57MYnKOuX2AH6xpaPiLsJgZu0ABvBoQgl5zA8F9eaMghhL

คลังเร่งรับมืออีกแค่ 10 ปีคนสูงอายุเต็มเมือง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติโดยมีตนเป็นประธาน เพื่อให้กองทุนฯแห่งนี้เป็นแหล่งเงินออมในวัยเกษียณผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรที่สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายทางด้านงบประมาณสูงถึง 600,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายปีละ 200,000-300,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายช่วยเหลือคนชรา ค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น

นายสมชัยกล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างทางด้านการออมเงินหลังเกษียณของไทยเป็นแบบการออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยกเว้นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่เป็นการออมภาคบังคับสำหรับข้าราชการ แต่ในภาคประชาชนยังไม่มีการออมแบบภาคบังคับเลย ซึ่งหมายความว่าประชาชนทุกคนจะต้องออมเงินเพื่ออนาคตของตนเอง สำหรับหลักการของกองทุนบำนาญแห่งชาติ จะมีลักษณะการออมภาคบังคับ โดยจะเริ่มต้นจากแรงงานที่อยู่ในระบบอายุระหว่าง 15-60 ปี มีประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ บางคนมีประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการออมแบบภาคสมัครใจ ขณะที่บางคนไม่ได้อยู่ในระบบการออมรูปแบบใดเลย ก็มีอีกจำนวนมาก

โดยในช่วงแรก กระทรวงการคลังจะดึงงานทางด้านชราภาพที่สำนักงานประกันสังคมดูแลอยู่แล้ว มารวมอยู่ที่กองทุนบำนาญแห่งชาติ คือเมื่ออายุเกิน 60 ปี ก็จะยกภารกิจทางด้านชราภาพมาให้กองทุนฯแห่งนี้ดูแลแทนทั้งหมด โดยแรงงานในระบบจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากนายจ้างเหมือนกับกองทุนประกันสังคม โดยรัฐจะใส่เงินสมทบหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนการบริหารกองทุนนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะให้อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

 

ที่มา : http://www.thairath.co.th/