เกษียณอย่างเศรษฐี

วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่อง “การเกษียณอย่างเศรษฐี” กัน

ดีกว่านะครับ นับจากนี้ไปอีกสองอาทิตย์กว่า ก็จะถึงวันเกษียณอายุราชการกันแล้ว อายุ 60 ปีสมัยนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตบั้นปลาย

จากการสำรวจอายุขัยของคนไทยล่าสุดปี 2556 พบว่า ผู้ชายไทยมีอายุเฉลี่ย 71.1 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78.1 ปี ผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชายถึง 7 ปี เมื่อดูอายุเฉลี่ยย้อนหลังไป 10 ปีก็พบว่า คนไทยอายุยืนขึ้นกว่าเดิมอีก 3 ปี อีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยก็จะอายุยืนขึ้นไปอีก

การใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 10–20 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคิดแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตหลังเกษียณไปจนถึงวันตาย จะเก็บออมอย่างไรให้เพียงพอเลี้ยงตัวเอง สมัยนี้จะพึ่งพา ลูกหลานเลี้ยงไปจนตายคงลำบาก

เมื่อวานนี้ รัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งแถลงนโยบายต่อสภา มีนโยบายที่จะ ยกเลิกประโยชน์ทางภาษี LTF ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นระยะยาวเพื่อการออมในระยะยาว เก็บออมไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ เมื่อครบกำหนดยกเว้นภาษีในปี 2559 การลงทุนในแอลทีเอฟก็จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกต่อไป

ใครที่สนใจเรื่อง การออมเพื่อวัยเกษียณ ไม่ว่าท่านกำลังจะเกษียณในวันที่ 30 กันยายนนี้หรือยังไม่เกษียณ ผมขอแนะนำให้ไปอ่าน วารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนกันยายนที่กำลังวางแผง เขาได้จัดทำสกู๊ปพิเศษเรื่อง “RETIRE อย่างเศรษฐี” และ “วิธีการเตรียมเงินให้

พร้อมก่อนเกษียณ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ผมจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กัน ฟัง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะเกษียณในสองสัปดาห์เศษข้างหน้า และผู้ที่กำลังจะเกษียณต่อไปในอนาคต

เนื้อหาในสกู๊ปมีคำแนะนำที่น่าสนใจมากๆจากกูรูทางการเงินที่เชี่ยวชาญจริงๆ เช่น คุณวิโรจน์ ตั้งเจริญ รองผู้จัดการอาวุโสฯ จาก บลจ.กรุงไทย ที่ได้ชี้ให้เห็นถึง “พลังแห่งการออมเงิน” ตั้งแต่ช่วงวัย 30-60 ปี 40-60 ปี และ 50-60 ปี ด้วยการออมตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท ซึ่งไม่มากสำหรับมนุษย์เงินเดือนสมัยนี้ ถ้ามีการจัดสรรการใช้จ่ายที่ดี

การออมเงินตั้งแต่วัยทำงานตอนอายุยังน้อย ถือเป็นการสร้าง “ฐานเงิน” ที่ “ทรงพลัง” อย่างยิ่ง เพื่อเตรียมการ “รีไทร์อย่างเศรษฐี” ตามสกู๊ปปก คุณวิโรจน์ ยกตัวอย่างคนอายุ 45 ปี ไม่เคยออมเงินมาเลย แต่พอมีเงินออมอยู่บ้าง 200,000 บาท เขายังมีระยะเวลาในการออมอีก 15 ปีกว่าจะเกษียณอายุ เขาจึงเริ่มเก็บเงิน เมื่อเทียบกับอีกคนหนึ่งที่อายุ 45 ปีเท่ากัน แต่เก็บออมสะสมมาตั้งแต่เด็ก จนวันนี้เขามีเงิน 2 ล้านบาท

คนมี ฐานเงิน 2 แสนบาท กับคนมี ฐานเงิน 2 ล้านบาท เก่งเท่ากัน คิดเหมือนกัน เก่ง คือ จัดพอร์ตเก่ง ลงทุนในหุ้น ลงทุนในสินทรัพย์หลายอย่าง ได้ผลตอบแทน 20% ต่อปี คนที่มีฐานเงิน 2 ล้านบาท จะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 400,000 บาท แต่คนที่มีฐานเงิน 2 แสนบาท จะได้ผลตอบแทนเพียง 40,000 บาทเท่านั้น ต่างกันถึง 10 เท่า การสร้าง ฐานเงินจึงสำคัญ

คนไม่มีเงินก็รวยได้ แต่ต้องรีบสร้าง “ฐานเงิน” เพื่อส่งเงินไปทำงาน ถ้าสร้างฐานเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะได้ในสิ่งที่ฝัน แต่ถ้าไม่สร้างฐานเงินเลย ก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ คนที่เริ่มต้นสร้างฐานเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ย่อมได้เปรียบ จะเริ่มน้อยๆตั้งแต่ 500 บาท ก็ได้ แต่ไม่ว่า จะอยู่ในช่วงวัยใด การวางแผนการเงินก็สามารถทำได้

จำนวนเงินที่จะใช้หลังเกษียณ ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่จะใช้หลังเกษียณ คนส่วนใหญ่จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และใช้ชีวิตต่อไปอีก 10-20 ปี การวางแผนการเงินหลังเกษียณ จึงต้องวางแผนให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอไปอีก 20 ปี แต่ถ้าไม่ได้วางแผนเอาไว้ ชีวิตก็ลำบากแน่นอน

เทคนิคและวิธีการวางแผนและบริหารเงินยังมีอีกเยอะ ต้องไปหาอ่านเอาเองสิ่งที่ผมอยากจะบอกกับท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้ก็คือ “การวางแผนการเงิน” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตในยุคนี้ ไม่เพียงวางแผนการใช้เงินในปัจจุบัน แต่ต้องวางแผนการใช้เงินไปจนถึงอายุ 80 ปี เมื่อคุณแก่ตัวไม่มีแรงทำงานแล้ว และเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

ที่มา : http://www.thairath.co.th/