ประวัติซีเกมส์ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (THE SEA GAMES) หรือการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ (The South – East Asia Games) ในปัจจุบัน ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาจากการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทอง (The South – East Asia Peninsular Games) หรือที่เรียกชื่อย่อในภาษาไทยว่า กีฬาแหลมทอง และชื่อย่อในภาษาอังกฤษว่า เซียปเกมส์ (SEAP GAMES)

ประวัติซีเกมส์ กีฬาซีเกมส์มีประวัติการพัฒนาการทางการแข่งขันดังนี้

เมื่อหลายปีผ่านมาแล้ว การแข่งขันกีฬาต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อบ้านใกล้เคียง เช่น ฟุตบอล รักบี้ แบดมินตัน เทนนิส มวย ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยองค์การกีฬาต่างประเทศเป็นฝ่ายเสนอเข้ามาแข่งขันในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เชิญให้ประเทศไทยออกไปแข่งขันยังนครหลวงประเทศของเขา ซึ่งเจตนารมย์นี้เราก็ได้ตอบสนองและรับการเชิญทุกครั้งเท่าที่โอกาสอำนวยให้ได้ เหตุนั้นความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างประเทศตามวิถีทางการกีฬาจึงได้กระชับเกลียวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประวัติซีเกมส์

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2501 ได้มีการปรารถกันจากที่หลายแห่งว่า บรรดาประเทศต่างๆ ในภาคพื้นแหลมทองหรือที่เรียกตามภูมิศาสตร์ว่า เอเชียอาคเนย์ ซึ่งได้แก่ ไทย พม่า กัมพูชา มาลายา ลาว และเวียดนาม ควรจะได้มีการชุมนุมแข่งขันกีฬาต่างๆ ตามนัยของการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกบ้าง เพราะจากผลของการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกที่แล้วมา ประเทศในภาคพื้นแหลมทองโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย นักกีฬายังมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพด้อยกว่าประเทศอื่นอยู่

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วเป็นประการแรก ประการที่สองประเทศต่างๆ ในภาคพื้นแหลมทองนี้มีความเป็นอยู่ละม้ายคล้ายคลึงกัน อากาศหนาวร้อนสม่ำเสมอกัน รูปพรรณสัณฐานไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และก็จะจัดให้มีการแข่งขันในฤดูกาลอันควรให้ได้จังหวะก่อนการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกด้วยแล้ว ก็จะเป็นการตระเตรียมที่มีคุณค่าแก่การแข่งขันครั้งใหญ่ดังกล่าวนั้นไปในตัวเลยทีเดียว ประการสุดท้ายจุดประสงค์สำคัญของการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศนี้ก็คือ

  1. เพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 6 ให้มีความกระชับสนิทสนมยิ่งขึ้น เพราะการกีฬาเป็นสื่อสัมพันธไมตรีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง
  2. เพื่อจะได้ปรับปรุงกิจการกีฬา และเพาะนักกีฬาของเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการประลองฝีมือกันแล้วยังเป็นการกระตุ้นให้นักกีฬาตื่นตัวยิ่งขึ้น และมีโอกาสได้ตระเตรียมตัวเพื่อการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกคราวต่อไปด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิก หากไม่จัดส่งทีมไปแข่งขันเลยก็จะเป็นการขาดหายไปซึ่งเป็นสิ่งมิบังควร

ด้วยมูลเหตุดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2501 และลงมติให้พิจารณาวางโครงการ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันหลายวาระ ในที่สุดได้ตกลงที่จะให้มีการแข่งขันครั้งแรกขึ้น ให้ชื่อการแข่งขันในภาษาอังกฤษว่า “South East Asia Peninsular Games” และเรียกชื่อภาษาไทยว่า “การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทอง” ซึ่งย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “SEAP GAMES” และย่อเป็นภาษาไทยว่า “กีฬาแหลมทอง” ประเทศที่จะเข้าร่วมการแข่งขันครั้งที่ 1 ควรจะเป็นประเทศไทย พม่า มาลายา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวม 6 ประเทศ ซึ่งอยู่บนภาคพื้นแหลมทอง (PENINSULAR) แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SOUTH EAST ASIA) ตามภูมิศาสตร์อย่างถูกต้อง

ประวัติกีฬาซีเกมส์

ภาคพื้นแหลมทอง (PENINSULAR) | ประวัติซีเกมส์

เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้ปรึกษาหารือกันอีกวาระหนึ่ง ก็ได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับความเห็นชอบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยอนุมัติให้ดำเนินการได้ ดังนั้นคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ได้ประชุมและแต่งตั้งให้หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากทางการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมงานฉลองและแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2501 เข้าร่วมประชุมหารือกับบรรดาหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศพม่า มลายา และลาว ส่วนเขมรและเวียดนามได้เจรจากันในระยะต่อมา ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องด้วยกับการดำริเริ่มของประเทศไทย และได้ลงมติรับหลักการว่าจะมีการแข่งขันกัน ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2502 เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และจะได้ตั้งองค์การกีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทองขึ้น โดยมีธรรมนูญการแข่งขันหรือข้อบังคับสหพันธ์การกีฬาระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมการแข่งขันให้ดำเนินไปอย่างมีเกียรติและเสมอภาคนอกจากนั้นยังได้พิจารณาตกลงในหลักการต่างๆ อีกรวม 13 ข้อ

เมื่อหัวหน้าคณะผู้แทนไทยกลับมาถึงประเทศไทยแล้วก็ได้นำรายละเอียดข้อตกลงต่างๆ ในการประชุมครั้งนั้นเสนอต่อประธานกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้ประชุม พิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งนั้นเป็นงานใหญ่เกี่ยวกับเกียรติและชื่อเสียงของประเทศชาติ ควรจะได้มีการร่วมมือประสานงานกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่เพื่อให้งานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และประการสำคัญจะต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่ายไว้จำนวนหนึ่งเพือใช้จ่ายในการนี้ด้วย เหตุนี้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจัดงาน และคณะกรรมการรับผิดชอบงานแต่ละประเภท ขออนุมัติเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) และนำข้อตกลงบางประการที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ไปร่วมประชุมมาเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ในการประชุมที่กรุงโตเกียวกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้าแข่งขันได้ตกลงในหลักการดังต่อไปนี้

  1. ชื่อของการแข่งขันนี้จะได้เรียกว่า “SOUTH EAST ASIA PENINSULAR GAMES” หรือเรียกโดยย่อว่า “SEAP GAMES”
  2. จะให้มีการแข่งขันในระหว่างปีที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและเอเชี่ยนเกมส์ และสำหรับคราวแรกจะได้จัดให้มีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2502 ในคราวต่อๆ ไปจะได้จัดให้การแข่งขันในนครหลวงต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป
  3. ระเบียบข้อบังคับและกติกาในการแข่งขัน จะได้ใช้ระเบียบ ข้อบังคับและกติกาของเอเชี่ยนเกมส์โดยใกล้เคียงที่สุด
  4. จะได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้เรียกว่า “SEAP GAMES FEDERATION” โดยจะให้มีผู้แทนของประเทศที่เข้าแข่งขันทั้ง 6 ประเทศ นี้ไม่เกินประเทศละ 3 คน และคณะกรรมการชุดนี้จะได้พบปะเพื่อปรึกษาหารือกันก่อนจะมีการแข่งขัน
  5. สำหรับการแข่งขัน “กรีฑา” จะถือว่าเป็นการแข่งขันบังคับ ส่วนการแข่งขันอื่นๆ ให้แต่ละประเทศเลือกเอาว่า จะเข้าแข่งขันกีฬาชนิดหรือประเภทใดบ้าง แต่ถ้าจะเปิดการแข่งขันชนิดหรือประเภทใด จะต้องมี 3 ประเทศเข้าแข่งขัน ทั้งนี้รวมทั้งการแข่งขันกรีฑาซึ่งมีอยู่หลายชนิด “ลู่” และ “ลาน”
  6. ประเทศไทยได้เสนอการแข่งขันกีฬา 12 ชนิด คือ
    6.1 กรีฑา (การแข่งขันบังคับ)
    6.2 ฟุตบอล
    6.3 บาสเกตบอล
    6.4 มวย
    6.5 แบดมินตัน
    6.6 เทนนิส
    6.7 ยกน้ำหนัก
    6.8 วอลเลย์บอล
    6.9 ยิงปืน
    6.10 แข่งจักรยาน
    6.11 ว่ายน้ำทางไกล
    6.12 เทเบิลเทนนิส
  7. ทุกประเทศที่เข้าแข่งขันจะต้องเสียค่าเดินทางจากประเทศของตนมากรุงเทพฯ เอง
  8. ค่าอาหาร ค่าห้องพัก และค่ายานพาหนะจากที่พักไปยังสนามกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้จัดให้ โดยคิดราคาประมาณ 4 เหรียญอเมริกันต่อหนึ่งวัน
  9. จะได้จัดให้มีพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน
  10. ได้กำหนดการแข่งขันไว้รวม 5 วัน แต่นักกีฬาจะมาฝึกซ้อมในประเทศไทยก่อนก็ได้ไม่เกินอีก 5 วัน
  11. ได้ตกลงออกแบบธงของ “SEAP GAMES”
  12. แต่ละประเทศจะได้นำคบเพลิงของตนเข้ามา และในพิธีเปิดการแข่งขันผู้แทนแต่ละประเทศทั้ง 6 จะได้วิ่งนำคบเพลิงเข้ามาในสนามแข่งขันไปจุดในกระถางคบเพลิง
  13. อาจจัดให้มีการแข่งขันกีฬาพื้นเมืองคือ “ตะกร้อ” เป็นเกมส์ประกวดขึ้นเป็นพิเศษอีกเกมส์หนึ่ง

ต่อมาเมื่อคณะนักกีฬาไทยได้เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมกันหลายครั้ง เพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป เช่น เรื่องจัดหาที่พักให้นักกีฬา เรื่องอาหารและเรื่องระเบียบการต่างๆ ซึ่งทุกๆ เรื่องเป็นเรื่องใหญ่แทบทั้งสิ้น คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยเข้าใจว่าจะมีนักกีฬาเข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 ถึง 600 คน ฉะนั้นการเตรียมงานทั้งในเรื่องที่พัก อาหาร ยานพาหนะ ก็เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ยังมีงานใหญ่อื่นๆ อีกอาทิเช่น พิธีเปิดและปิดการแข่งขัน เรื่องการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภท เรื่องสถานที่ฝึกซ้อม เรื่องสถานที่แข่งขัน เรื่องเจ้าหน้าที่ เรื่องผู้ตัดสิน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้นเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องพิธีเปิด การแข่งขันก็มีเรื่องที่จะต้องตกลงและดำเนินการให้งานดำเนินไปโดยสมเกียรติที่สุด ดังเช่นงานโอลิมปิกเกมส์หรือเอเชี่ยนเกมส์ ในพิธีนี้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควร ที่จะนำความกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดการแข่งขัน ซึ่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมทั้ง 6 ประเทศ ก็จะได้เดินขบวนรอบสนามถวายความเคารพ ดังเช่นงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์หรือเอเชี่ยนเกมส์

ซีเกมส์โลโก้

สัญลักษณ์การแข่งขันซีเกมส์ | ประวัติซีเกมส์

ประวัติซีเกมส์ โดยสรุป

ซีเกมส์ หรือ SEA Games (South-East Asian Games) เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำเนิดมาจากกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES) ซึ่งมีการจัดขึ้นในทุกสองปี (ปีเว้นปี) ดำเนินการแข่งขันโดยสมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGF : South-East Asian Games Federation) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC : International Olympic Committee) และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA : Olympic Council of Asia)

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) องค์กรการกีฬา ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ร่วมกันจัดการประชุม เพื่อก่อตั้งองค์กรการกีฬาในระดับภูมิภาค โดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ อดีตรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย) เสนอว่าควรจัดการแข่งขันกีฬา ระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

สหพันธ์กีฬาแหลมทอง (SEAP Games Federation) จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการสมาชิกผู้ก่อตั้งประกอบด้วย ประเทศไทย มลายา เวียดนามใต้ ราชอาณาจักรลาว พม่า และ ราชอาณาจักรกัมพูชา (หลังจากนั้น สิงคโปร์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย) โดยตกลงร่วมกันว่า จะจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างภูมิภาคขึ้นในทุกสองปี คือกีฬาแหลมทอง(Southeast Asian Peninsular Games) หรือ เซียปเกมส์ (SEAP Games) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครของไทย ระหว่างวันที่ 12 -17 ธันวาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) โดยมีเจ้าหน้าที่และนักกีฬา จากประเทศไทย มลายา สิงคโปร์ เวียดนามใต้ ลาว และพม่า เข้าร่วมการแข่งขันกีฬา 12 ชนิด รวมทั้งสิ้น 527 คน สำหรับกัมพูชา เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)

จากนั้นในปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) สมาพันธ์กีฬาแหลมทองประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น สมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น ซีเกมส์ ดังที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งมีมติให้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ บรูไน เข้าเป็นสมาชิกและกรรมการสมาพันธ์อย่างเป็นทางการ จึงได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งขันครั้งที่ 9 ที่กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เป็นครั้งแรกด้วย และในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) สมาพันธ์ฯ มีมติให้ ติมอร์-เลสเต เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในซีเกมส์ครั้งที่ 22 ที่ฮานอยของเวียดนาม

ธงของสมาพันธ์ซีเกมส์

ธงของสมาพันธ์ซีเกมส์ | ประวัติซีเกมส์

ประวัติกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES)

กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2500 ด้วยการริเริ่มของ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ โดยในระยะนั้นประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้มีการติดต่อทางการกีฬากันเป็นประจำ โดยเฉพาะพม่าได้มีสาส์นเชิญประเทศไทยให้ส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขัน ฟุตบอล รักบี้ แบดมินตัน เทนนิส มวยสากล บาสเกตบอล กรีฑา เป็นประจำเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการ โอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ จึงได้เกิดความคิดขึ้นมาว่า “น่าจะจัดแข่งขันกีฬาระหว่างชาติในกลุ่มแหลมทอง” ขึ้นในลักษณะคล้ายคลึงกับ “เอเชี่ยนเกมส์” หรือ “โอลิมปิกเกมส์” เพราะประชาชาติที่อยู่ในภาคพื้นนี้มีความเป็นอยู่ อากาศและรูปร่างคล้ายคลึงกันมาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการกีฬาของชาติในกลุ่มแหลมทองให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเกมส์ใหญ่ ๆ เช่น เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และเพื่อให้นักกีฬาของแต่ละประเทศในแถบนี้ได้มีความสามารถฝึกฝนสมรรถภาพของตนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเกมส์ใหญ่ ๆ และข้อสำคัญ คือ เป็นการสร้างสรรค์ความสัมพันธไมตรีและความร่วมมือระหว่างชาติเพื่อนบ้านในภาคพื้นแหลมทองด้วยกัน

ปี 2501 คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ได้นำความคิดเห็นของท่านฝากไปกับ ม.ร.เดฟ คิชเตอร์ ผู้ฝึกสอนกิตติมศักดิ์ของสมาคมกรีฑาไทยที่จะเดินทางไปประเทศเขมร เวียดนาม เป็นการส่วนตัว ระหว่างวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2501 เพื่อได้ปรึกษาและซาวเสียงต่างประเทศเหล่านั้น ปรากฏว่าทั้งเขมร เวียดนาม ในสมัยนั้นได้สนับสนุนความคิดริเริ่มของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ อย่างเต็มที่ ต่อมาคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ จึงได้นำความคิดเห็นของท่านที่จะจัดแข่งขันกีฬาระหว่างชาติในกลุ่มแหลมทอง รวมทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติเพื่อนบ้านเสนอเป็นการปรึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกฯครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2501 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วรับหลักการเห็นควรให้จัดการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม 2501 พร้อมกับได้มอบให้คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายกอง วิสุทธารมณ์ และนายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นผู้ดำเนินการวางโครงการและรายละเอียดต่อไป และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อมา

ในระหว่างการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 3 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม 2501 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ , นายกอง วิสุทธารมณ์ และนายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นผู้แทนไทยเดินทางนำข้อเสนอแนะ การจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มแหลมทองไปปรึกษาหารือกับประเทศในภาคพื้นแหลมทองที่โตเกียว ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมคือ ไทย พม่า มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เขมร และเวียดนาม ที่ประชุมได้เห็นชอบและมีมติให้ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า “กีฬาแหลมทอง” (SEAP GAMES – SOUTH EAST ASIA PENINSULAR GAMES) และเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยจึงกำหนดจัดให้มีการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2502

ข้อหารือและมติในการประชุมที่โตเกียว 22 พฤษภาคม 2501 พอสรุปได้ดังนี้

  1. ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมีความยินดีและเห็นชอบในหลักการที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา แหลมทอง บางประเทศแถลงว่า การแข่งขันกีฬาระดับนี้เป็นกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาลของตนก่อน
  2. ที่ประชุมมีมติให้จัดการแข่งขันกีฬานี้ ทุกๆ 2 ปี เพื่อให้มีขึ้นในระหว่างระยะเวลาการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอให้มีการแข่งขันกีฬาเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี 2502
  3. ให้มีการจัดทำธรรมนูญขึ้นโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้
  4. สหพันธ์กีฬาแหลมทองจะประกอบด้วยผู้แทนของประเทศภาคี ประเทศละไม่เกิน 3 คน มนตรีสหพันธ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้จะมีการประชุมก่อนการแข่งขันแต่ละครั้ง
  5. ประเทศไทยเสนอให้มีการแข่งขันกีฬา 12 ชนิด คือ ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล มวยสากล แบดมินตัน เทนนิส จักรยาน(ประเภทถนน) ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส ยิงปืน
  6. ให้กรีฑาเป็นกีฬาบังคับ ส่วนกีฬาอื่นให้เลือกได้ แต่ต้องมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ไม่น้อยกว่า 3 ประเทศด้วยกัน
  7. ภาคีแต่ละประเทศจะต้องจ่ายค่าเดินทางไปยังกรุงเทพฯ และกลับเอง ถ้าเดินทาง กลับด้วยรถไฟ ประเทศไทยจะพยายามจัดรถพยาบาล จัดรถพิเศษ และลดราคาค่าโดยสารให้ทีมต่างๆ นั้นในช่วงที่อยู่ในประเทศไทย
  8. คณะกรรมการจัดการแข่งขันจะให้มีที่พัก อาหาร และพาหนะภายในประเทศ ภาคีแต่ละประเทศจะต้องเสียค่าที่พัก อาหาร ให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่คนละ 8 เหรียญต่อวัน เพื่อช่วยค่าใช้จ่าย ตามที่เคยปฏิบัติในเอเชี่ยนเกมส์
  9. จะมีพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน
  10. ระยะการแข่งขันมีกำหนด 5 วัน คณะนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันอาจมาพักอยู่ได้ 5 วันก่อนการแข่งขัน
  11. ได้มีการหารือและพิจารณาธงเครื่องหมายของกีฬาแหลมทองด้วย
  12. ภาคีประเทศจะจัดให้มีการจุดไฟพิธีในประเทศของตนและนำมารวมกันกรุงเทพฯ ในพิธีเปิดการแข่งขันจะมีผู้ถือคบไฟ 6 คนจากประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันประเทศละ 1 คน ซึ่งจะได้มาจุดพร้อมกันที่กระถางไฟพิธี
  13. ได้มีการหารือในการจัด “ตะกร้อ” เป็นกีฬาแสดงการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งแรกเดิมกำหนดว่าแข่งขันในเดือนมกราคม 2502 ต่อมาคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯได้มีการพิจารณา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2501 อีกครั้ง และมีความเห็นว่า เพื่อให้มีการเตรียมการได้ทันจึงให้เลื่อนการแข่งขันไปเป็นเดือนธันวาคม 2502 พร้อมกันนั้นได้ตั้ง พ.ท. เอิบ แสงฤทธิ์ ดร. คลุ้ม วัชโรบล และนพ.บุญสม มาร์ติน เป็นผู้คิดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ต่อมาได้มีการแต่งตั้งให้ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร (ยศในสมัยนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานมนตรีสหพันธ์กีฬาแหลมทองคนแรก และคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันครั้งที่ 1

ต่อมาได้มีการแต่งตั้งให้ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร (ยศในสมัยนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานมนตรีสหพันธ์กีฬาแหลมทองคนแรก และคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันครั้งที่ 1

มาสคอทซีเกมส์ | ประวัติซีเกมส์

มาสคอทซีเกมส์ กดเพื่อขยายภาพ

ประเทศสมาชิก ประวัติซีเกมส์

ประเทศ/ชื่อตั้งโดยไอโอซี พ.ศ.ที่เข้าร่วม รหัสไอโอซี
กัมพูชา 2504 CAM
ลาว (ชื่อตั้งโดยไอโอซี: สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) 2504 LAO
มาเลเซีย 2504 MAS
พม่า 2504 MYA
สิงคโปร์ 2504 SGP
ไทย 2504 THA
เวียดนาม 2504 VIE
บรูไน (ชื่อตั้งโดยไอโอซี: บรูไนดารุสซาลาม) 2520 BRU
อินโดนีเซีย 2520 INA
ฟิลิปปินส์ 2520 PHI
ติมอร์-เลสเต 2546 TLS

การจัดการแข่งขัน

กีฬาแหลมทอง

เมืองที่เป็นเจ้าภาพสูงสุด 3 ครั้งคือ กรุงเทพมหานครของไทย ในปี พ.ศ. 2502, 2510 และ 2518 นครหลวงที่เป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้งมี 2 เมืองคือ กรุงย่างกุ้งของพม่า ในปี พ.ศ. 2504 และ 2512 และกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2508 และ 2514 ส่วนกรุงพนมเปญของกัมพูชา เคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2506 แต่เนื่องจากปัญหาภายในประเทศ ก่อนแข่งขันจึงต้องประกาศยกเลิกไป

ตารางประเทศเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง

ครั้งที่ การแข่งขัน เมือง – ประเทศเจ้าภาพ เจ้าเหรียญทอง(1) เจ้าเหรียญทอง(2) เจ้าเหรียญทอง(3)
1 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2502 กรุงเทพมหานคร – ไทย ไทย (35) พม่า (11) มลายา (8)
2 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2504 ย่างกุ้ง – พม่า พม่า (35) ไทย (21) มลายา (16)
กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2506 พนมเปญ – กัมพูชา ยกเลิก
3 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2508 กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย ไทย (38) มาเลเซีย (33) สิงคโปร์ (18)
4 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2510 กรุงเทพมหานคร – ไทย ไทย (77) สิงคโปร์ (28) มาเลเซีย (23)
5 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2512 ย่างกุ้ง – พม่า พม่า (57) ไทย (32) สิงคโปร์ (31)
6 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2514 กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย ไทย (44) มาเลเซีย (41) สิงคโปร์ (32)
7 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2516 สิงคโปร์ – สิงคโปร์ ไทย (47) สิงคโปร์ (45) มาเลเซีย (30)
8 กีฬาแหลมทอง พ.ศ.2518 กรุงเทพมหานคร – ไทย ไทย (80) สิงคโปร์ (38) พม่า (28)

กีฬาซีเกมส์

เมืองที่เป็นเจ้าภาพสูงสุดถึง 4 ครั้งคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2520, 2532, 2544 และ 2560 โดยนครหลวงที่เป็นเจ้าภาพมาแล้ว 1 ครั้งมีถึง 7 เมืองคือ กรุงเทพมหานครของไทย (พ.ศ. 2528), กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย (พ.ศ. 2522, 2530, 2540 และ 2554 ร่วมกับเมืองปาเล็มบัง), สิงคโปร์ (พ.ศ. 2526, 2536 และ 2558), กรุงฮานอยของเวียดนาม (พ.ศ. 2564 ร่วมกับเมืองนครโฮจิมินห์) และกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ (พ.ศ. 2524, 2534, 2548 และ 2562) ส่วนกรุงย่างกุ้งของพม่า เคยเป็นเจ้าภาพมาสองครั้ง ตั้งแต่ส่วนการแข่งขันในปี พ.ศ. 2556 เมียนมายังคงจัดที่นครหลวง แต่หลังจากประกาศย้ายไปยังกรุงเนปยีดอ และเปลี่ยนชื่อประเทศไปเมื่อปี พ.ศ. 2553

ขณะที่เวียดนามให้กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ เป็นเจ้าภาพร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2546 ส่วนกรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวันของบรูไน (พ.ศ. 2542), กรุงพนมเปญของกัมพูชา (พ.ศ. 2566) และนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว (พ.ศ. 2552) เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วเมืองละหนึ่งครั้ง สำหรับกรณีประเทศไทย การแข่งขันในปี พ.ศ. 2538 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นซีเกมส์ครั้งแรก ที่จัดแข่งขันนอก นครหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2550 จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นซีเกมส์ครั้งที่สอง

ตารางประเทศเจ้าภาพซีเกมส์ ประวัติซีเกมส์

ครั้งที่ การแข่งขัน เมือง – ประเทศเจ้าภาพ เจ้าเหรียญทอง(1) เจ้าเหรียญทอง(2) เจ้าเหรียญทอง(3)
9 ซีเกมส์ 1977 (พ.ศ.2520) กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย อินโดนีเซีย (62) ไทย (37) ฟิลิปปินส์ (31)
10 ซีเกมส์ 1979 (พ.ศ.2522) จาการ์ตา – อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย (92) ไทย (50) พม่า (26)
11 ซีเกมส์ 1981 (พ.ศ.2524) มะนิลา – ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (85) ไทย (62) ฟิลิปปินส์ (55)
12 ซีเกมส์ 1983 (พ.ศ.2526) สิงคโปร์ – สิงคโปร์ อินโดนีเซีย (64) ฟิลิปปินส์ (49) ไทย (49)
13 ซีเกมส์ 1985 (พ.ศ.2528) กรุงเทพมหานคร – ไทย ไทย (92) อินโดนีเซีย (62) ฟิลิปปินส์ (43)
14 ซีเกมส์ 1987 (พ.ศ.2530) จาการ์ตา – อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย (183) ไทย (63) ฟิลิปปินส์ (59)
15 ซีเกมส์ 1989 (พ.ศ.2532) กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย อินโดนีเซีย (102) มาเลเซีย (67) ไทย (62)
16 ซีเกมส์ 1991 (พ.ศ.2534) มะนิลา – ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (92) ฟิลิปปินส์ (90) ไทย (72)
17 ซีเกมส์ 1993 (พ.ศ.2536) สิงคโปร์ – สิงคโปร์ อินโดนีเซีย (88) ไทย (63) ฟิลิปปินส์ (57)
18 ซีเกมส์ 1995 (พ.ศ.2538) เชียงใหม่ – ไทย ไทย (157) อินโดนีเซีย (77) ฟิลิปปินส์ (33)
19 ซีเกมส์ 1997 (พ.ศ.2540) จาการ์ตา – อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย (194) ไทย (83) มาเลเซีย (55)
20 ซีเกมส์ 1999 (พ.ศ.2542) บันดาร์เซอรีเบอกาวัน – บรูไน ไทย (65) มาเลเซีย (57) อินโดนีเซีย (44)
21 ซีเกมส์ 2001 (พ.ศ.2544) กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย มาเลเซีย (111) ไทย (103) อินโดนีเซีย (72)
22 ซีเกมส์ 2003 (พ.ศ.2546) ฮานอยและนครโฮจิมินห์ – เวียดนาม เวียดนาม (158) ไทย (90) อินโดนีเซีย (55)
23 ซีเกมส์ 2005 (พ.ศ.2548) มะนิลา – ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ (113) ไทย (87) เวียดนาม (71)
24 ซีเกมส์ 2007 (พ.ศ.2550) นครราชสีมา – ไทย ไทย (183) มาเลเซีย (68) เวียดนาม (64)
25 ซีเกมส์ 2009 (พ.ศ.2552) เวียงจันทน์ – ลาว ไทย (86) เวียดนาม (83) อินโดนีเซีย (43)
26 ซีเกมส์ 2011 (พ.ศ.2554) ปาเล็มบังและจาการ์ตา – อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย (182) ไทย (109) เวียดนาม (96)
27 ซีเกมส์ 2013 (พ.ศ.2556) เนปยีดอ – พม่าเนปยีดอ – พม่า ไทย (107) พม่า (86)) เวียดนาม (73)
28 ซีเกมส์ 2015 (พ.ศ.2558)ซ สิงคโปร์ – สิงคโปร์ ไทย (95)) สิงคโปร์ (84) เวียดนาม (73)
29 ซีเกมส์ 2017 (พ.ศ.2560) กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย มาเลเซีย (145) ไทย (72) เวียดนาม (58)
30 ซีเกมส์ 2019 (พ.ศ.2562) หลายเมือง – ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ (149) เวียดนาม (96) ไทย (92)
31 ซีเกมส์ 2021 (พ.ศ.2564) ฮานอย – เวียดนาม ยังไม่แข่งขัน
32 ซีเกมส์ 2023 (พ.ศ.2566) พนมเปญ – กัมพูชา ยังไม่แข่งขัน
33 ซีเกมส์ 2025 (พ.ศ.2568) รอการยืนยัน – ไทย ยังไม่แข่งขัน

ชนิดกีฬา

  • กีฬาทางน้ำ
    ว่ายน้ำ
    ว่ายน้ำมาราธอน
    กระโดดน้ำ
    ระบำใต้น้ำ
    โปโลน้ำ
  • จักรยาน
    บีเอ็มเอ็กซ์
    เสือภูเขา
    ถนน
    ลู่
  • ฟุตบอล
  • ฟุตซอล
  • ยิมนาสติก
    สากล
    ลีลา
    แอโรบิก
  • วอลเลย์บอล
    ชายหาด
    ในร่ม
  • ขี่ม้า
    ศิลปะบังคับม้า
    อีเวนติง
    กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง
  • มวยปล้ำ
    ฟรีสไตล์
    เกรกโก-โรมัน
  • กอล์ฟ
  • ยิงธนู
  • กรีฑา
  • แบดมินตัน
  • บาสเกตบอล
  • มวยสากลสมัครเล่น
  • เทเบิลเทนนิส
  • เทนนิส
  • เทควันโด
  • ยกน้ำหนัก
  • ยิงปืน
  • ยูโด
  • ฟันดาบ
  • รักบี้ยูเนียน
  • เรือพาย
  • เรือใบ
  • เรือแคนู / เรือคายัค
  • ไตรกีฬา
  • ฮอกกี้
  • แฮนด์บอล
  • ปัญจกีฬาสมัยใหม่
  • บิลเลียดและสนุกเกอร์
  • เบสบอล
  • คาราเต้
  • เซปักตะกร้อ
  • วูซู
  • เพาะกาย
  • โบว์ลิ่ง
  • หมากรุก
  • ซอฟท์เทนนิส
  • ซอฟท์บอล
  • สควอช
  • เรือประเพณี
  • ชีนโลน
  • ฟลอร์บอล
  • อาร์นิส
  • มวย
  • ร่มร่อน
  • ปันจักสีลัต
  • เปตอง
  • ลีลาศ
  • ว่ายน้ำตีนกบ
  • เค็มโป
  • ลอนโบวล์ส
  • เนตบอล
  • สเกต
  • โปโล
  • เตะลูกขนไก่
  • สกีน้ำ
  • ปีนผา
  • โววีนัม

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกีฬาสาธิตต่าง ๆ ตามแต่ประเทศเจ้าภาพจะเสนอ

สรุปเหรียญรางวัลจากการแข่งขันซีเกมส์ทั้งหมด

อันดับ ประเทศ ทอง เงิน ทองแดง รวม
1 ไทย 2,162 1,827 1,821 5,810
2 อินโดนีเซีย 1,752 1,620 1,669 5,041
3 มาเลเซีย 1,248 1,215 1,614 4,077
4 ฟิลิปปินส์ 918 1,076 1,357 3,351
5 สิงคโปร์ 894 956 1,294 3,144
6 เวียดนาม 830 782 886 2,498
7 พม่า 560 723 941 2,224
8 ลาว 68 88 291 447
9 กัมพูชา 65 109 222 396
10 บรูไน 12 50 157 219
11 ติมอร์-เลสเต 3 5 21 29

ประวัติซีเกมส์ ความเป็นมาซีเกมส์ ประวัติกีฬาแหลมทอง ประวัติเซียปเกมส์ โดย Educatepark.com

Reference: wikipedia.org

baanjomyut.com

(พงษ์ศักดิ์ พละพงศ์ (ประวัติ ปรัชญาและหลักการพลศึกษา) พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2527)

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้