ประวัติวอลเลย์บอลไทย กีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทยนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ได้แพร่หลายเข้ามาในสมัยใด แต่พอจะประมาณได้ว่าการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลได้มีขึ้นในประเทศไทยกว่า 60 ปี โดยเล่นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ประวัติวอลเลย์บอลไทย

โลโก้ – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

ประวัติวอลเลย์บอลไทย ความเป็นมาทีมวอลเลย์ไทย

ในปี พ.ศ. 2476 กรมพลศึกษาเห็นว่าวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่นักเรียนทั้งหญิงและชาย สามารถเล่นได้ จึงได้จัดให้สอนวิชานี้ขึ้นในสถาบันพลศึกษา

ในปี พ.ศ. 2477 กรมพลศึกษาได้จัดพิมพ์กติกาวอลเลย์บอลขึ้น โดยอาจารย์ นพคุณ พงษ์สุวรรณ เป็นผู้แปลและท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในกีฬาวอลเลย์บอลจึงได้รับการเชิญให้เป็นผู้บรรยาย เกี่ยวกับเทคนิควิธีเล่น ตลอดจนกติกาการแข่งขันแก่ครูพลศึกษาทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน ในโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดการอบรมขึ้น และในปีนี้เอง กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาประจำปีขึ้น และบรรจุกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไว้ในการแข่งขันเป็นครั้งแรก พร้อมบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนพลศึกษากลางและกำหนดเป็นวิชาบังคับให้นักเรียนหญิงเรียนวิชาวอลเลย์บอลและเนตบอลในสมัยของนาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา อย่างไรก็ตามการแข่งขันวอลเลย์บอลในสมัยนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก นักกีฬาต่างก็เล่นกันไปเพียงไม่ให้ผิดกติกาจึงทำให้การเล่นวอลเลย์บอลเสื่อมความนิยมไป แต่ยังคงมีการแข่งขันอยู่บ้างเป็นครั้งคราว

ความเป็นมาวอลเลย์บอลไทย

นักกีฬาไทย – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย ประวัติสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย

วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย เริ่มต้นอย่างจริงจังจากการที่ประเทศไทยได้ริเริ่มและรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games – SEAP Games หรือเซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ได้เลือกกีฬาวอลเลย์บอล (ประเภททีมชาย) เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แข่งขัน แต่ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลมารับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรระดับชาติที่สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียรับรองและต้องเป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และจะเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับฯ อาจารย์แมน พลพยุหคีรี ซึ่งรู้จักกับบุคลากรในกรมพลศึกษามาก เป็นตัวหลักในการจัดตั้งสมาคม จึงได้ชักชวนคณะบุคคล รวม 7 คน ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้น ประกอบด้วย พลเอก สุรจิต จารุเศรณี นายกอง วิสุทธารมณ์ นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ นายเสรี ไตรรัตน์ นายนิคม พลสุวรรณ นายแมน พลพยุหคีรี และนายเฉลิม บุณยะสุนทร โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดตั้งสมาคมและพิจารณาร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้น นายกอง วิสุทธารมณ์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้เป็นผู้แทนดำเนินการ ได้ติดต่อขออนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับอนุญาตให้เป็น สมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Amateur Volleyball Association of Thailand) ตามคำสั่งของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติที่ ต.11/2502 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยมี นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามในใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ และได้จดทะเบียนสมาคมที่กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงคเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลให้เจริญรุดหน้า และดำเนินการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลในระบบ 6 คน

ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศใช้ข้อบังคับของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นฉบับแรก โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร 7 ตำแหน่ง อยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี คณะกรรมการฯ ชุดนี้ถือเป็นคณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมฯ ประกอบด้วย

  1. พลเอก สุรจิต จารุเศรณี (นายกสมาคมฯ)
  2. นายกอง วิสุทธารมณ์ (อุปนายก)
  3. นายแมน พลพยุหคีรี (เหรัญญิก)
  4. นายเฉลิม บุณยะสุนทร (เลขานุการ)
  5. นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ (กรรมการ)
  6. นายเสรี ไตรรัตน์ (กรรมการ)
  7. นายนิคม พลสุวรรณ (กรรมการ)

วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย ช่วง 25 ปีแรก – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

หลังจากกีฬาเซียพเกมส์ครั้งที่ 1 สมาคมฯ มีกิจกรรมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยระดับประชาชนเพียงรายการเดียว ปีละครั้งกับกีฬาแห่งชาติ (กีฬาเขตแห่งประเทศไทยเดิม จัดโดยองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย) ที่ทีมชาติลงแข่งขันไม่ได้เท่านั้นก่อนซีเกมส์ครั้งที่ 13 (2528) มีทีมชาติไทยไม่ได้พัฒนาเพราะได้แข่งขันในระดับนานาชาติเฉพาะกีฬาเซียพเกมส์และกีฬาซีเกมส์ (2 ปี ต่อครั้ง) กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนชายชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 1 ที่เกาหลีใต้ และทีมชายได้ไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งที่ 5 ที่โตเกียวเท่านั้น

ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2502 จนถึงครั้งที่ 8 ทีมชายได้เหรียญทองเพียงครั้งเดียวในการแข่งขันครั้งที่ 1 แต่ยังได้เหรียญเงินและทองแดง ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งที่ 5 ที่ไม่ได้ส่งแข่ง และครั้งที่ 7 ที่ไม่ได้เหรียญใดเลย ส่วนทีมหญิงมีโอกาสได้เหรียญทองในการแข่งขันครั้งที่ 4 และ 8 ซึ่งจัดการแข่งขันที่กรุงเทพฯ และในการแข่งขันครั้งอื่นๆ ได้เหรียญเงิน หรือทองแดงทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจาก เซียพเกมส์ เป็น ซีเกมส์ (Southeast Asian Games) ในการแข่งขันครั้งที่ 9 ทีม วอลเลย์บอล ชาย-หญิง ยังคงได้หรียญทองแดงส่วนในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพทั้ง 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 5 ปี 2509 ครั้งที่ 6 ปี 2513 และ ครั้งที่ 8 ปี 2521 ทีมวอลเลย์บอลไม่ประสบผลสำเร็จเพียงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพเท่านั้น

ทีมวอลเลย์บอลไทยประสบภาวะตกต่ำไม่ได้เหรียญใด ๆ เลย ถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 10 – 12 ประกอบกับมีปัญหาด้านการบริหารสมาคม ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารใหม่ โดยได้เรียนเชิญ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ

เมื่อรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ปลัดพิศาลฯ ได้แนะนำให้เชิญผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมบริหารในสมาคมฯ อีกมากมาย แม้ปลัดพิศาลฯ จะมีภารกิจมาก แต่ก็ให้ความสนใจกับงานของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง

การที่สมาคมฯ มีฐานการทำงานที่แข็งแกร่งจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ความร่วมมือสนับสนุนวงการวอลเลย์บอล เป็นการกระจายฐานของกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยออกไปในวงกว้างทั่วประเทศ

ผู้บริหารของสมาคมฯ ในยุคต่อๆ มาได้ดำเนินงานตามนโยบายที่นายกฯ พิศาลฯ ให้ไว้มาโดยตลอด และสร้างโอกาสให้ผู้ฝึกสอนและนักกีฬาได้เรียนรู้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลอย่างต่อเนื่องจนผู้ฝึกสอนไทยมีความสามารถสร้างทีมแข่งขันในระดับทวีปและระดับโลก ประกอบกับสมาคมฯ มีแผนงานการปฏิบัติงานที่ชัดเจนตามปฏิทินที่กำหนดไว้ทุกปี และมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก และร่วมการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลกเป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในยุคต่อๆ มา ภายใต้การนำของนายกสมาคมฯ นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และนายพงศ์โพยม วาศภูติ นายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่ติดต่อกันมาตามลำดับ และในแต่ละยุคก็สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งภายในประเทศ ระดับทวีปและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ประวัติศาสต์ วอลเลย์บอลไทย

ประวัติวอลเลย์บอลไทย ก่อนประสบความสำเร็จ อย่างเช่นปัจจุบัน

การพัฒนาวอลเลย์บอลไทย ด้วยการจัดการแข่งขันหลายระดับ – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

ภายหลังการเข้ามาบริหารของนายกสมาคมฯ คนใหม่ คือ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ในปี 2528 นอกจากจัดการแข่งขันระดับประชาชนเป็นปฏิทินประจำปีแล้ว สมาคมฯ พยายามขยายพื้นที่โดยได้เริ่มจัดการแข่งขันให้มากขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นการพัฒนาระดับรากหญ้าทั่วประเทศ ถ้วยแรกที่ประสบความสำเร็จ คือ พาวเวอร์ทัวร์นาเมนท์ เป็นทัวร์นาเมนท์แรกที่จัดกันทั่วประเทศ โดยคุณจรูญ วานิชชา หรือ จุ่น บางระจัน ร่วมกับ คุณสมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในขณะนั้น ได้แนะนำบริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีคุณเฉลิม จันทร์อุไร เป็นผู้จัดการ และคุณระวีวรรณ แจ้งเจนกิจ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ให้เข้ามาช่วยเป็นผู้สนับสนุนสมาคมฯ จัดการแข่งขันในระดับอายุไม่เกิน 18 ปี คัดเลือกผู้ชนะในแต่ละภาคมาแข่งขันในรอบสุดท้ายระดับประเทศ และสมาคมฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจในภายหลัง จึงได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนมาเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 27 แล้ว

การแข่งขันระดับอายุ 14 ปี เป็นรายการที่ 2 เริ่มจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาให้การสนับสนุนจัดการแข่งขันยุวชนเครือซิเมนต์ไทย ในปัจจุบันได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ บริษัทสุพรีม ดิสตริบิวชั่น จำกัด จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 23

จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมฯ ดำเนินการ ทำให้มีผู้สนับสนุนในประเทศให้ความสนใจในการพัฒนาระดับรากหญ้ามากขึ้น การแข่งขันระดับอายุ 16 ปี เป็นรายการที่ 3 ที่สมาคมฯ จัดขึ้นทั่วประเทศ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันยุวชนเป๊ปซี่ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 19 สมาคมฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูล เริ่มเข้ามาช่วยการแข่งขันในระดับอายุ 12 ปี ไลอ้อนคัพ ซึ่งเป็นการจัดที่ไม่ค่อยมีใครอยากจัด แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนจากการประชาสัมพันธ์เลย เพราะไม่ค่อยมีผู้สนใจกับการแข่งขันของเด็กๆอายุ 12 ปี สักเท่าไร ช่วงหลังเมื่อเครือสหพัฒน์หยุดสนับสนุน บริษัทสยามกว้างไพศาล เข้ามาช่วยจัดการแข่งขันปลายิ้ม มินิวอลเลย์บอล ได้นำทีมที่ชนะเลิศไปแข่งขันและทัศนศึกษาที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกงบ้าง แม้ระยะหลังบริษัทสยามกว้างไพศาลจะถอนตัวจากการเป็นผู้สนับสนุนไป สมาคมฯ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันได้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นการกลับมาจัดได้ใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 หลังจากเว้นไป 3 ปี การแข่งขันระดับอายุ 12 ปีนี้ สมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน

สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขัน 4 ระดับอายุ คือ 12, 14, 16 และ 18 ปี ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน อายุของการแข่งขันที่น้อยที่สุดในขณะนี้คือ 10 ปี บางถ้วยก็เป็นปีที่ 27 แล้ว โครงการเหล่านี้ทำให้สร้างนักกีฬาขึ้นมาเสริมได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการแข่งขันระดับประชาชน เยาวชน ทั้งแบบในร่มและชายหาดในประเทศ บริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด โดยคุณไกรสร จันสิริ เป็นผู้ให้การสนับสนุนติดต่อกันมา 25 ปี

จากการจัดการแข่งขันตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับโลกเป็นประจำทุกปี ทำให้เด็กๆ ในสถาบันการศึกษาหันมาสนับสนุนและเล่นวอลเลย์บอลกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศและทุกระดับอายุเช่นในปัจจุบัน

วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย

วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย – ประวัติวอลเลย์ไทย

ประวัติวอลเลย์บอลไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนาสู่ระดับโลกของทีมวอลเลย์บอลไทย

จากการเริ่มเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ สมาคมฯ ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเริ่มเข้าร่วมแข่งนานาชาติใหม่ ๆ ทีมไทยอยู่อันดับ 10 กว่า เกือบท้ายๆ ของเอเซีย ในกีฬาซีเกมส์สู้อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ไม่ได้ ต้องใช้เวลาไล่ตามถึง 7 ปี จนกระทั่งชนะได้อย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน

สมาคมฯ ใช้เวลา 14 ปี ไล่ตามไต้หวัน ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นเสือตัวที่ 4 ของเอเซีย ขณะนี้ทีมไทยมีโอกาสชนะมากกว่าแพ้ และในปัจจุบันทีมไทยกำลังไล่ทันเกาหลี ซึ่งถึงแม้ว่าจะแพ้มากกว่าชนะ แต่ถึงปัจจุบันเกือบจะไม่ได้ต่างกันแล้ว ขึ้นอยู่กับจังหวะในการเล่นเท่านั้นเอง ทีมต่อไปที่อยากชนะให้มากขึ้นก็คือญี่ปุ่น ในขณะนี้เริ่มโอกาสที่จะชนะทีมญี่ปุ่นได้บ้างแล้ว แต่ว่ายังไม่มากครั้งนัก ซึ่งคงต้องการพัฒนาต่อไปอีกถึงแม้ว่าการได้แชมป์เอเชียหญิงในปี 2552 จะดูเหมือนกับไทยเดินทางมาสู่จุดสูงสุดแล้วก็ตาม

ในการพัฒนาทีมต้องยอมรับว่า การพัฒนาทีมชายค่อนข้างยาก อาจจะอยู่ในอันดับ 4 – 8 ของเอเซีย ถ้าจะก้าวมากไปกว่านั้น จำเป็นที่จะต้องหาผู้เล่นใหม่ที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 1.85 เมตร แต่ว่าส่วนใหญ่ของทีมต้อง 1.90 เมตรขึ้นไป เพื่อสู้กับคน 2 เมตรได้ จึงจะอยู่ระดับต้นๆ ของเอเชียอย่างถาวร ซึ่งคงต้องสร้างนักกีฬาประเภทนี้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

ด้านทีมวอลเลย์บอลชายหาด ทีมหญิงจัดอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชียแล้ว ถ้าจะก้าวสู่ระดับโลก ก็ต้องหาผู้เล่นที่สูงไม่น้อยกว่า 1.75 เมตร มาสร้างให้แข็งแรง จึงจะมีโอกาสก้าวหน้าไปได้ ส่วนทีมชายก็พัฒนาได้ลำบากเหมือนกับทีมหญิง

ปัจจุบันในเอเซีย นอกจาก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แล้ว ประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศเช่นเดียวกัน

เรียบเรียงโดย นายกฤษฎา ปาณะเสรี volleyball.or.th

ประวัติวอลเลย์บอลไทย Logo

ประวัติวอลเลย์บอลไทย เรียบเรียงโดย educatepark.com

ดาวน์โหลด เอกสาร

แนะนำการชมกีฬาวอลเลย์บอล และภาพรวมวอลเลย์บอล

เพื่อที่จะสามารถเชียร์และรับชมนักกีฬา วอลเลย์บอลไทย ทีมชาติ ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น มาเสริมความรู้ด้วยกฎกติกา สนามแข่งขัน ของกีฬาชนิดนี้เพิ่มเติม เพื่อจะได้ดูได้อรรถรสเพิ่มขึ้น

สนามวอลเลย์บอล

  • ขนาดสนาม ยาว 18 เมตร กว้าง 9 เมตร ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งแดนด้วยตาข่าย ทำให้เกิดพื้นที่แดนละ 9×9 เมตร
  • พื้นที่โล่ง พื้นที่โล่งเหนือสนามควรสูงอย่างน้อย 7 เมตร แต่แนะนำที่สูง 8 เมตร ส่วนพื้นที่โล่งรอบสนามควรกว้างอย่างน้อย 3 เมตรขึ้นไป ในการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดพื้นที่โล่งเหนือสนามที่ 12.5 เมตร ด้านข้าง 5 เมตร ด้านหลัง 6.5 เมตร
  • สีพื้นสนาม สีพื้นสนามต้องเป็นสีอ่อนและสีแตกต่างกับพื้นที่โล่งรอบสนาม
  • ตาข่าย กว้าง 1 เมตร ขึงเหนือเส้นกลางสนาม แถบบนของตาข่ายกว้าง 7 ซม.
    – ประเภทชาย ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.43 เมตร (8 ฟุต)
    – ประเภทหญิง ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.24 เมตร (7 ฟุต 4 นิ้ว)
  • เส้นขอบสนาม เป็นเส้นสีขาวรอบพื้นที่สนาม กว้าง 2 นิ้ว (5 ซม.) ประกอบด้วยเส้นข้างและเส้นหลัง ถือเป็นเส้นแสดงขอบเขตและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สนาม
  • เส้น 3 เมตร เป็นเส้นที่ขนานกับตาข่าย โดยห่างจากตาข่าย 3 เมตรทั้งสองแดน เส้นนี้จะแบ่งแดนแต่ละฝั่งออกเป็นแดนหน้ากับแดนหลัง เป็นเส้นกำหนดขอบเขตการโจมตีของผู้เล่นแดนหลัง
  • เส้นจำกัดขอบเขตผู้ฝึกสอน เป็นเส้นประที่วาดต่อจากเส้นรุกออกไปด้านข้างยาว 1.75 เมตร แล้วจึงลากตั้งฉากโดยขนานไปกับเส้นข้างจนสุดเส้นหลังของสนาม
  • เสาอากาศ เป็นเสาที่ติดอยู่ข้างตาข่ายทั้ง 2 ด้านและอยู่เหนือเส้นข้างของสนาม เสาสูง 1.8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 มม. เสาอากาศมักมีแถบสีแดงสลับขาว เสาอากาศจะยื่นขึ้นไปด้านบนนับจากด้านบนตาข่าย 80 ซม. เพื่อแสดงสมมติฐานแนวเพดานของเส้นข้าง บอลจะข้ามตาข่ายอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อบอลผ่านระหว่างเสาอากาศทั้ง 2 ด้านและไม่สัมผัสโดนเสาอากาศ
  • อุณหภูมิ อุณหภูมิภายในสนามไม่ควรต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่วนการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดอุณหภูมิอยู่ในช่วง 16–25 องศาเซลเซียส
  • แสง การแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดที่ 1,000–1,500 ลักซ์โดยวัดที่ระดับจากพื้นสนามขึ้นมา 1 เมตร
สนามวอลเลย์บอล

สนามวอลเลย์บอล กดเพื่อขยายภาพ – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

ลูกวอลเลย์บอล

  • สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ กำหนดว่าบอลต้องมีลักษณะทรงกลม ทำจากหนังหรือหนังสังเคราะห์ มีเส้นรอบวง 65–67 ซม. หนัก 260–280 กรัม และแรงดันภายใน 0.30–0.325 กก./ตร.ซม. โดยอาจเป็นสีเดียวหรือหลากสีประกอบกัน

ผู้เล่น

  • ผู้เล่นในสนามมี 2 ทีม ทีมละ 6 คน แดนหลังประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 5, 6 และ 1 ส่วนแดนหน้าประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 4, 3 และ 2 โดยนับจากซ้าย(ดังรูป) ตำแหน่งที่ 1 คือ ตำแหน่งผู้เล่นเสิร์ฟ
  • ตัวตั้ง หรือ ตัวเซ็ต (Setter) มักต่อบอลในบอลที่สองโดยการตั้งบอลไปยังตัวรุกเพื่อทำคะแนน ตัวเซ็ตต้องมีลักษณะที่ปราดเปรียวว่องไว ไหวพริบดี มียุทธวิธีในการเลือกตัวรุกเพื่อทำคะแนน
  • ตัวบล็อกกลาง หรือ ตัวตีกลาง (Middle blocker / Middle hitter) คือผู้เล่นที่สามารถรุกได้อย่างรวดเร็วโดยมักอยู่ใกล้ตัวเซ็ต รวมทั้งมีการบล็อกที่ดี นอกจากนี้ยังต้องสามารถขึ้นบล็อกคู่ด้านข้างของสนามได้เป็นอย่างดี แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
  • ตัวตีด้านนอก หรือ ตัวตีด้านซ้าย (Outside hitter / Left side hitter) บางครั้งเรียกว่า ตัวตีหัวเสา ทำหน้าที่บุกจากเสาอากาศด้านซ้าย มักจะเป็นตัวตบที่คงเส้นคงวาที่สุดของทีมและมักจะได้บอลจากตัวเซ็ตมากที่สุด กรณีรับบอลแรกไม่เข้าจุด ตัวเซ็ตจำเป็นต้องเซ็ตลูกโด่ง ท้ายที่สุดมักจะเซ็ตบอลมาให้ตำแหน่งนี้ แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
  • ตัวตีตรงข้าม หรือ ตัวตีด้านขวา (Opposite hitter / Right side hitter) รับหน้าที่เป็นแนวหน้าปกป้องเกมรุกของคู่แข่งเป็นหลัก อยู่บริเวณเสาอากาศด้านขวา โดยคอยบล็อกตัวตีด้านซ้ายของคู่แข่ง และยังเป็นดั่งตัวเซ็ตสำรองด้วย
  • ตัวรับอิสระ หรือ ลิเบโร (Libero) คือผู้เล่นที่ชำนาญเกมรับเป็นพิเศษและไม่จำเป็นต้องตัวสูง ถือเป็นตัวที่ต่อบอลได้ดีที่สุดของทีม และจะต้องสวมชุดที่ต่างจากผู้เล่นคนอื่นในทีม ลิเบโรไม่มีสิทธิ์บล็อกหรือตีบอลขณะบอลอยู่เหนือตาข่ายได้ เมื่อเกมหยุด ลิเบโรสามารถเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นแดนหลังได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้ตัดสินและจะไม่นับรวมว่าเป็นการเปลี่ยนตัวของทีม ลิเบโรสามารถเซ็ตบอลเหนือศีรษะคล้ายตัวเซ็ตได้ก็ต่อเมื่อยืนอยู่หลังเส้นรุกเท่านั้น นอกจากนี้ลิเบโรไม่มีสิทธิ์เสิร์ฟบอล (ยกเว้นในบางองค์กร เช่น NCAA อนุญาตให้เสิร์ฟได้)
นักกีฬาวอลเลย์บอล ประวัติวอลเลย์บอลไทย

นักกีฬาวอลเลย์บอล ประวัติวอลเลย์บอลไทย

การเล่น และการชมวอลเลย์บอล

  • กรรมการผู้ตัดสินจะเสี่ยงเหรียญเพื่อหาทีมที่จะได้เลือกระหว่าง เสิร์ฟ/รับเสิร์ฟ หรือเลือกแดน โดยจะทำการเสี่ยงเหรียญในเซ็ตแรกและเซ็ตตัดสิน
  • ผู้เสิร์ฟ จะต้องเสิร์ฟจากด้านหลังของสนามโดยยืนไม่เลยแนวเส้นข้างและห้ามเหยียบเส้นหลัง โยนบอลและตีกลางอากาศให้บอลข้ามตาข่ายไปยังแดนของคู่แข่งภายใน 8 วินาทีหลังกรรมการให้สัญญาณ
  • ขณะที่มีการเสิร์ฟโดยถูกกติกา แต่มีผู้เล่นยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้น ทีมที่ยืนผิดตำแหน่งจะเสียคะแนน แต่หากคนเสิร์ฟทำผิดกติกาแม้จะมีการยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้นก็จะถือว่าทีมที่เสิร์ฟเป็นฝ่ายเสียคะแนน
  • ห้ามผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟทำการบล็อกหรือตบบอลที่ถูกเสิร์ฟมา
  • บอลสามารถสัมผัสตาข่ายได้ทั้งในการเสิร์ฟและระหว่างเล่น แต่ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์สัมผัสตาข่ายในขณะที่บอลยังถูกเล่นอยู่ตามกติกา
  • เมื่อเสิร์ฟบอลข้ามตาข่าย แล้วบอลลงในแดนคู่แข่งทันที หรือคู่แข่งพยายามรับบอลจนบอลออกนอกสนามไป เรียกว่า เอซ (Ace) ทีมที่เสิร์ฟจะได้คะแนนนั้น
  • ผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟ จะต้องพยายามรับบอลแรกโดยไม่ปล่อยให้บอลตกลงพื้นในแดนของตน และต่อบอลไปยังผู้เล่นที่เรียกว่าตัวเซ็ต เพื่อตั้งบอลให้กับผู้เล่นที่จะตีบอลรุกไปยังแดนตรงข้ามเพื่อทำคะแนน เมื่อบอลตกลงพื้นหรือเกิดความผิดพลาดต่างๆ จะถือว่าการเล่นคะแนนนั้นได้สิ้นสุดลง
  • ผู้เล่นแต่ละทีม มีสิทธิ์ต่อบอลได้ไม่เกิน 3 ครั้งก่อนตีไปยังแดนคู่แข่ง (ไม่นับรวมการบล็อก) โดยผู้เล่นแต่ละคนไม่มีสิทธิ์ต่อบอลติดต่อกัน 2 ครั้ง ยกเว้นมีผู้เล่นคนอื่นมาต่อบอลคั่นก่อน 1 ครั้งจึงจะต่อบอลได้อีก
  • ผู้เล่นตำแหน่งแดนหลังและลิเบโร ไม่มีสิทธิ์กระโดดตีบอลหรือบล็อกบอลได้ ยกเว้นผู้เล่นแดนหลังกระโดดมาจากหลังเส้น 3 เมตรเพื่อตีบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ใช้ผู้เล่นคนอื่นในการส่งตัวเองเพื่อให้เข้าถึงบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์เล่นบอลหากบอลยังอยู่ในแดนของคู่แข่ง
  • เมื่อบอลสัมผัสพื้นสนามหรือมีความผิดพลาดในการเล่น ฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดพลาดจะได้คะแนนนั้นไป และทีมที่ได้คะแนนจะต้องเป็นฝ่ายเสิร์ฟในคะแนนต่อไป
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟสามารถทำคะแนนได้ ผู้ที่เสิร์ฟในคะแนนถัดไปต้องเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเดิม แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นมาเสิร์ฟได้
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟเสียคะแนนนั้น ผู้เล่นอีกฝ่ายจะได้สิทธิ์เสิร์ฟคะแนนถัดไปแทน แต่ต้องหมุนตำแหน่งไปตามเข็มนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนคนไปเสิร์ฟ กล่าวคือ ผู้เล่นตำแหน่งที่ 2 ต้องหมุนลงมาตำแหน่งที่ 1 เพื่อเสิร์ฟ และตำแหน่งอื่นๆต้องหมุนตามมาเช่นกัน คือ 2>1>6>5>4>3>2 (ดังรูป)
  • เปลี่ยนแดนเมื่อจบแต่ละเซ็ต ส่วนเซ็ตที่ 5 หรือเซ็ตตัดสินจะเปลี่ยนแดนเมื่อทีมใดทีมหนึ่งถึงคะแนนที่ 8 ก่อน
ตำแหน่งนักกีฬาวอลเลย์บอล

ตำแหน่งยืนในกีฬาวอลเลย์บอล – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

การนับคะแนนในเกมวอลเลย์บอล

กำหนดจำนวนเซ็ต (Set) เพื่อตัดสินทีมที่ชนะการแข่งขัน โดยมักกำหนดไว้ที่ชนะ 3 ใน 5 เซ็ต ยกเว้นในบางการแข่งขันที่กำหนดเองเฉพาะกิจ

  • เซ็ตที่ 1 ถึงเซ็ตที่ 4 ทีมใดทำได้ 25 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 24-24 จะต้องเล่นต่อไป เรียกว่า ดิวซ์ (Deuce) จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบเซ็ต
  • เซ็ตที่ 5 ซึ่งเป็นเซ็ตตัดสินผู้ชนะการแข่งขัน ทีมที่ทำได้ 15 คะแนนก่อน จะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 14-14 จะต้องเล่นดิวซ์ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบการแข่งขัน

การให้คะแนนจากนัดที่แข่งขันวอลเลย์บอล

ในรายการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับลีก (League) หรือทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เช่นการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม จะมีการคิดคะแนนจากผลการแข่งขันในแต่ละนัดที่แข่งขัน (Match) เพื่อตัดสินทีมที่อันดับดีที่สุด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการคิดคะแนนที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนี้

  • ได้คะแนน 3 คะแนน ต่อ 1 การแข่งขัน เมื่อ ชนะ 3–0 เซ็ต หรือ 3–1 เซ็ต
  • ได้แต้ม 2 คะแนน เมื่อ ชนะ 3–2 เซ็ต
  • ได้ 1 คะแนน เมื่อ แพ้ 2–3 เซ็ต
  • ไม่ได้คะแนน เมื่อ แพ้ 0–3 เซ็ต หรือ 1–3 เซ็ต
    อนึ่ง ในบางรายการจะตัดสินทีมที่อันดับดีกว่าโดยดูจากจำนวนนัดที่ชนะก่อนจะดูจากคะแนนที่ได้ และหากหลายทีมมีคะแนนเท่ากัน ก็จะใช้ค่าเพิ่มเติมมาตัดสินอันดับ คือ
  • อัตราส่วนเซ็ตที่ได้ต่อเซ็ตที่เสียจากทุกนัด
  • อัตราส่วนคะแนนที่ได้ในเกมต่อคะแนนที่เสียในเกมจากทุกนัด
ประวัติวอลเลย์บอลไทย นักกีฬาทีมชาติ

นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย – ประวัติวอลเลย์บอลไทย

 

ประวัติวอลเลย์บอลไทย วิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย วอลเลย์บอลไทย

ข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ และ

กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้