กีฬาแบดมินตัน มีความเป็นมาอย่างไร มีต้นกำเนิดอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนถึงต้นตอ แต่จากหลักฐานบางชิ้นในอดีต ได้บ่งชี้ให้ทราบที่มาของกีฬาประเภทนี้ ดังนี้

ประวัติแบดมินตัน ความเป็นมา แบดมินตันไทย History of Badminton

กีฬาแบดมินตัน เริ่มต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในประเทศจีน จากหลักฐานของภาพวาดเก่า ๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการใช้ขนไก่ มาทำเป็นลูกขนไก่ใช้ในการเล่น โดยชาวจีนนำอีแปะที่มีรู แล้วใช้ขนไก่หลายเส้นเสียบผ่านรูอีแปะสองสาม อันให้อีแปะ เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก ใช้ เชือกมัด ตรงปลายเอาไว้ไม่ให้หลุด เวลาเล่นจะตั้งวง เล่นกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือจะเล่นพร้อมกัน 3-4 คน ใช้เท้าเตะกันไปมาทำนองเดียวกันกับที่คนไทยเล่นตะกร้อล้อมวง

ประวัติแบดมินตัน

และใน คริสต์ศตวรรษที่ 13 ปรากฏหลักฐานว่า ชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาใช้ขนไก่หรือ ขนนก เสียบมัดติดกับก้อนกลม ให้ปลายหางของขนไก่ชี้ไปทางเดียวกันเป็นพู่กระจายออกด้านหลัง เวลาเล่นใช้มือจับก้อนกลมแล้วปาไปยังผู้เล่นอื่น ๆ ให้ช่วยกันจับ ตลอดจนช่วงที่กล่าวมานี้ ยังไม่มีการใช้แร็กเกตหรือ อุปกรณ์อื่น ๆ ตีปะทะลูกขนไก่ แต่ใช้มือ หรืออวัยวะอื่น ๆ แทน จนกระทั่งในศตวรรษที่ 14 ชาวญี่ปุ่นได้มีการใช้ขนไก่ อเมริกาตอนใต้ใช้หญ้าฟางพันขมวดเข้าด้วยกันจนเป็นก้อนกลม แล้วใช้ขนไก่หรือขนนกเสียบผูกติดกับหัวไม้ แล้วใช้ไม้แป้นที่ทำจากไม้กระดาน สลักด้วยลวดลายหรือรูปภาพหวดเจ้าลูกขนไก่ไปมา นับว่าเป็นวิวัฒนาการในรูปลักษณ์ของการเล่นแบดมินตันที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยมีการใช้แร็กเกตตีลูกขนไก่แทนการใช้อวัยวะของร่างกาย

คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาวญี่ปุ่นได้มีการใช้ขนไก่ หรือขนนกเสียบผูกติดกับหัวไม้ และใช้ไม้ตีลูกขนไก่นั้น โดยไม้ที่ใช้ตีทำมาจากไม้กระดาน ตีลูกขนไก่ไปมานับว่าเป็นวิวัฒนาการในรูปลักษณ์ของการเล่นแบดมินตันที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยมีการใช้แร็กเกตตีลูกขนไก่แทนการใช้อวัยวะของร่างกาย

การตีแบดของชาวญี่ปุ่น ประวัติแบดมินตัน

คริสต์ศตวรรษที่ 17 ตอนปลาย โดยเฉพาะใน ประเทศอังกฤษ จากภาพน้ำมันหลายภาพได้ยืนยันว่า กีฬาแบดมินตัน เล่นกันอย่างแพร่หลายใน พระราชวงศ์ของราชสำนักต่างๆ ในทวีปยุโรป โดยอาจเรียกชื่อต่าง ๆ กัน อาทิ พระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนทรงจำลองไม้แบดมินตันมาจากแร็กเกตในกีฬาเทนนิส และใช้ขนไก่หรือขนนกเสียบติดกับหัวไม้ก๊อก เจ้าฟ้าชายเฟรดเดอริค มงกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน แต่ในตอนนั้นเรียกแบดมินตันว่า “แบตเทิลดอร์กับลูกขนไก่”

สมัยศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ของปรัสเซีย เฟรดเดอริคมหาราช และพระเจ้าหลานเธอเฟรดเดอริควิลเลียมที่สองได้ทรงแบดมินตันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเกมการเล่นมีลักษณะเดียวกัน

ความเป็นมาแบดมินตัน

ประวัติแบดมินตัน ที่มีหลักฐานอ้างอิง

ประวัติของ กีฬาแบดมินตัน มีบันทึกไว้ที่สามารถอ้างอิงได้ ในปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ที่ประเทศอังกฤษ โดยมีเรื่องเล่าว่า นายทหารคนหนึ่งที่ไปประจำการอยู่ในเมืองปูนา ประเทศอินเดีย (Poona เป็นเมืองเล็กๆ ห่างจากเมืองบอมเปย์ประมาณ 50 ไมล์) ได้เห็นกีฬาที่รวมการเล่นสองอย่างเข้าด้วยกันคือ การเล่นปูนาของประเทศอินเดีย และการเล่นไม้ตีกับลูกขนไก่ (Battledore Shuttle Cock) ของยุโรป ในระยะแรกๆ การเล่นจะเล่นกันเพียงแต่ในหมู่นายทหารของกองทัพ และสมาชิกชนชั้นสูงของอินเดีย จนกระทั่งนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่เมืองปูนา นำกลับไปเล่นในอังกฤษ ณ คฤหาสน์ แบดมินตัน ของดยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่กล๊อสเตอร์เชอร์ ในปี พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) เกมกีฬาตีลูกขนไก่จึงถูกเรียกว่า แบดมินตัน ตามชื่อของสถานที่นับตั้งแต่นั้นมา

Badminton History ประวัติแบดมินตัน

แบดมินตัน กีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

กีฬาแบดมินตันเริ่มแพร่หลายในประเทศแถบภาคพื้น ยุโรป เพราะเป็นเกมที่คล้ายเทนนิส แต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึก โดยไม่ต้องกังวลต่อลมหรือหิมะในฤดูหนาว ชาวยุโรปที่อพยพไปสู่ทวีปอเมริกา ได้นำกีฬาแบดมินตันไปเผยแพร่ รวมทั้งประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนอย่างแพร่หลาย เกมกีฬาแบดมินตันจึงกระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

การเล่นแบดมินตันในระยะแรกๆ มิได้มีกฎเกณฑ์ แต่เป็นเพียงตีโต้ลูกกันไปมาไม่ให้ลูกตกพื้นเท่านั้น เส้นแบ่งแดนก็ใช้ตาข่ายผูกโยงระหว่างต้นไม้สองต้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต่ำ สูง เล่นกันข้างละไม่น้อยกว่า 4 คน ส่วนมาจะเล่นทีมละ 6 ถึง 9 คน ผู้เล่นแต่งตัวตามสบาย สุภาพสตรีสวมกระโปรงยาวทั้งชุด ใส่หมวกติดผ้าลาย ลูกไม้ สุภาพบุรุษแต่งสากลผูกโบว์ไทด์ เพราะกีฬาแบดมินตันได้รับความนิยมแพร่หลายออกไปตามบ้านข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ได้มีการจัดตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษขึ้น ซึ่งนับเป็นสมาคมแบดมินตันแห่งแรกของโลก มีการจัดแข่งขันแบดมินตันชิงชนะเลิศแห่งประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า ออลอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) เป็นต้นมา ได้ตั้งกฎเกณฑ์ของสนามมาตรฐานขึ้นคือ ขนาดกว้าง 22 ฟุต ยาว 45 ฟุต (22 x 45) เป็นสนามขนาดมาตรฐานประเภทคู่ที่ใช้ในปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมาการปรับปรุงดัดแปลงในเรื่องอุปกรณ์การเล่นได้กระทำให้ดีขึ้น เป็นลำดับ ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก

แบดมินตัน

ประเทศในเอเซียอาคเนย์ที่มีการเล่นกีฬาแบดมินตันและได้รับความนิยมสูงสุดคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย นอกจากประเทศอังกฤษแล้วการเล่นที่น่าดูมีขึ้นที่ประเทศแคนาดาและเดนมาร์ก ด้วยเหตุผลที่ควรสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลกในกีฬาประเภทนี้ การแข่งขันระหว่างประเทศจึงได้จัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) และตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแบดมินตันระหว่างประเทศมีมากว่า 31 ประเทศ

แบดมินตันได้กลายเป็นเกมกีฬาที่เล่นกันระหว่างชาติ โดยมีการยกทีมข้ามประเทศเพื่อแข่งขันระหว่างชาติในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ. 2468 กลุ่มนักกีฬาของประเทศอังกฤษได้แข่งขันกับกลุ่มนักกีฬาประเทศแคนาดา ห้าปีหลังจากนั้นพบว่าประเทศแคนาดามีสโมสรสำหรับฝึกแบดมินตันมาตรฐานแทบทุกเมือง

ในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) สมาคมแบดมินตันของประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในการก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ โดยมีชาติต่างๆ อีก 8 ชาติคือ แคนาดา เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สก๊อตแลนด์ และเวลล์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ปัจจุบันมีประเทศที่อยู่ในเครือสมาชิกกว่า 60 ประเทศที่ขึ้นต่อสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ (I.B.F.) สหพันธ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและควบคุมกติการะเบียบข้อบังคับต่างๆ ของการแข่งขันกีฬาแบดมินตันทั่วโลก

ไม้แบดในอดีต ประวัติแบดมินตัน Racket

ในปี พ.ศ. 2482 Sir George Thomas นักแบดมินตันอาวุโสชาวอังกฤษเป็นผู้มอบถ้วยทองราคา 5,000 ปอนด์ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศประเภทชายในการแข่งขันแบดมินตันระหว่าง ประเทศ ซึ่งสหพันธ์แบดมินตันได้รับไว้และดำเนินการตามประสงค์นี้ แม้ว่าตามทางการจะเรียกว่า การแข่งขันชิงถ้วยชนะเลิศ แบดมินตันระหว่างประเทศ แต่นิยมเรียกกันว่า โธมัสคัพ (Thomas Cup) การแข่งขันจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยสหพันธ์ได้แบ่งเขตการแข่งขันของชาติสมาชิกออกเป็น 4 โซน คือ

  • โซนยุโรป
  • โซนอเมริกา
  • โซนเอเชีย
  • โซนออสเตรเลเซีย (เดิมเรียกว่าโซนออสเตรเลีย)

วิธีการแข่งขันจะแข่งขันชิงชนะเลิศภายในแต่ละโซน ขึ้นก่อน แล้วให้ผู้ชนะเลิศแต่ละโซนไปแข่งขันรอบอินเตอร์โซนเพื่อให้ผู้ชนะเลิศทั้ง 4 โซนไปแข่งขันชิงชนะเลิศกับทีมของชาติที่ครอบครองถ้วยโธมัสคัพอยู่ ซึ่งได้รับเกียรติไม่ต้องแข่งขันในรอบแรกและรอบอินเตอร์โซน ชุดที่เข้าแข่งขันประกอบด้วยผู้เล่นอย่างน้อย 4 คน การที่จะชนะเลิศนั้นจะตัดสินโดยการรวมผลการแข่งขันของประเภทชายเดี่ยว 5 คู่ และประเภทชายคู่ 4 คู่ รวม 9 คู่ และใช้เวลาการแข่งขัน 2 วัน การแข่งขันชิงถ้วยโธมัสคัพครั้งแรก จัดให้มีขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2491-2492

ต่อมาในการแข่งขันแบดมินตันโธมัสคัพ ครั้งที่ 8 ปีพ.ศ. 2512-2513 สหพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขันเล็กน้อย โดยให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นเข้าร่วมแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนด้วย โดยวิธีการจับสลากแล้วแบ่งออกเป็น 2 สาย ผู้ชนะเลิศแต่ละสายจะได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศโธมัสคัพรอบสุดท้ายต่อไป สาเหตุที่สหพันธ์เปลี่ยนแปลงการแข่งขันใหม่นี้ เนื่องจากมีบางประเทศที่ชนะเลิศได้ครอบครองถ้วยโธมัสคัพไม่รักษาเกียรติที่ ได้รับจากสหพันธ์ไว้ โดยพยายามใช้ชั้นเชิงที่ไม่ขาวสะอาดรักษาถ้วยโธมัสคัพไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์จึงต้องเปลี่ยนข้อบังคับให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นลงแข่งขันใน รอบอินเตอร์โซนดังกล่าวด้วย

กีฬาแบดมินตัน ได้แพร่หลายขึ้น แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศสังคมนิยมก็ได้มีการเล่นเบดมินตันอย่างกว้างขวางและ มีการบรรจุแบดมินตันเข้าไว้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เซียพเกมส์ (ซีเกมส์ในปัจจุบัน) การแข่งขันกีฬาของประเทศในเครือจักภพสหราชอาณาจักร รวมทั้งการพิจารณาแบดมินตันเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า แบดมินตันได้กลายเป็นกีฬาสากลแล้วอย่างแท้จริง

เรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ

ประวัติแบดมินตัน ผู้ริเริ่ม กีฬาแบดมินตัน

จอห์น ลอเรน บอลด์วิน ผู้ริเริ่มกีฬาแบดมินตันขึ้นเป็นครั้งแรกโดยจัดการเล่นที่ คฤหาสน์แบดมินตัน (Badminton House) ในปราสาทของท่านดยุค แห่งบิวฟอร์ด ในกลอสเตอร์ชาร์ ประเทศอังกฤษ บอลด์วินมีความคิดริเริ่มเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ว่ากันประมาณ 60 ปีกว่าของคริสต์ศตวรรษที่แล้ว

บอลด์วิน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2352 ได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เขาสนใจกีฬาคริกเกต และละครมาก เขามีความชำนาญในกีฬาหลายชนิด และได้ก่อตั้งสโมสรในกรุงลอนดอน (London) หลายแห่งจนได้ชื่อว่า “ราชาสโมสร” ได้มีนิตยสารฉบับหนึ่งชื่อ “แวนิตี้แฟร์” ได้กล่าวว่า “เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษทีเดียวที่ชื่อเสียงของเขายิ่งใหญ่ในวงการสังคม สโมสร ซึ่งทุกคนเชื่อฟังโดยความเคารพ และเขาเก่งไม่มีใครเท่าเทียมได้ ในการสร้างข้อบังคับ และเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาทั่วไป และกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลต่างๆจากลักษณะดังกล่าวนี้ เราจะคิดไม่ได้หรือว่า เขาเป็นผู้วางกฎข้อบังคับ กีฬาแบดมินตัน ขึ้นเป็นครั้งแรกสุดถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม” แวนิตี้แฟร์ บอกให้ทราบว่า “เขาเป็นสหายคนสำคัญของ ท่านดยุคแห่งบิวฟอร์ด” ชีวิตในระยะหลังบอลด์วินได้ไปอาศัยอยู่ใกล้ๆกับวิหาร Tintern Abbey ห่างจากคฤหาสน์แบดมินตันไปทางตะวันตกประมาณ 32 กิโลเมตร เมื่ออยู่ที่นั่นเขาได้รับขนานนามว่า ท่านบิดาแห่งทินเทิน ขณะนั้นเขาแก่ลงมาก ความชราก็ไม่ได้ทำให้เขาลดหย่อนงานอันเป็นที่รักเลยแม้แต่น้อย

ลูกขนไก่ ลูกแบดมินตัน

ประวัติแบดมินตัน ในประเทศไทย

การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามขึ้นที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านาย และในราชสำนัก การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คนกันมาก ประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้เป็นผู้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภทได้แก่ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท นอกจากนี้ มีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีเดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ

ต่อมาปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมชื่อว่า “สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย” เมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร สโมสรบางกอก สโมสรนิวบอย สโมสรยูนิตี้ สโมสร ส.ธรรมภักดี สโมสรสิงห์อุดม และ สโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือสโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น และในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตัน นานาชาติด้วย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการที่ได้เข้าแข่งขันในรายการต่างๆของโลกได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศของโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้ง ประเภทชายเดี่ยว และชายคู่มาแล้ว วงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย

ปัจจุบัน กีฬาแบดมินตัน ในประเทศไทยเป็นที่นิยมกันมาก เล่นกันทั่วประเทศทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย มีการเรียนการสอนในโรงเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มีสนามแบดมินตันอยู่ทั่วประเทศ มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลิตได้เอง มีการอบรมฝึกสอนกีฬาแบดมินตันโดยองค์กรที่มีมาตรฐาน มีผู้ฝึกสอนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ทำงานเต็มเวลา มีกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นมาตรฐาน มีรายการแข่งขันภายในประเทศที่จัดขึ้นใน แต่ละปีไม่น้อยกว่า 20 รายการ มีนักกีฬาที่มีความสามารถติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งชายและหญิง ภายใต้การทำงานของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่จริงจัง และเข้มแข็ง เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยคงจะก้าวหน้าไปเป็นผู้นำในกีฬาแบดมินตันของโลกใน โอกาสข้างหน้าอย่างแน่นอน

สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชนูปถัมภ์ ประวัติสมาคมแบดมินตัน

สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493โดยมีผู้มีใจรักกีฬาแบดมินตันกลุ่มหนึ่ง อาทิหลวงธรรมนูญวุฒิกร (นายประวัติ ปัตตพงศ์) นายยง อุทิศกุล นายณัติ นิยมวานิช ได้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ ขึ้น พร้อมกับเรียนเชิญพระยาจินดารักษ์ (นายจำลอง สวัสดิชูโต) มาเป็นนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยคนแรก จดทะเบียนเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตัน นานาชาติ ไอบีเอฟ. ในปี พ.ศ. 2494 เป็นสมาชิกอันดับที่ 19 ของโลก และสมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี พ.ศ. 2498 นายกสมาคมฯ ที่ผ่านมาต่อจากพระยาจินดารักษ์ คือ นายเลื่อน บัวสุวรรณ, นายจุรินทร์ ล่ำซำ, พลตำรวจโทต่อศักดิ์ ยมนาค, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิวงศ์ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชย์ (อยู่ในตำแหน่งไม่ครบวาระ), นายชำนาญ ยุวบูรณ์, พลตำรวจพิชัย กุลละวณิชย์, พลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ, พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์, นายเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล, ฯพณฯ กร ทัพพะรังสี, และ ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน สมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมอบถ้วยพระราชทานที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยช่างฝีมือเยี่ยมของประเทศแห่งยุคสมัย ให้แก่สมาคมฯ สำหรับผู้ครองตำแหน่งชนะเลิศแบดมินตันชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497 และถ้วยพระราชทานของทั้งสองพระองค์ ยังเป็นถ้วยรางวัลกีฬาที่สวยงามแม้เวลาจะผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษ สมาคมฯ ในฐานะองค์กรแบดมินตันแห่งชาติ ได้มีการพัฒนาวงการแบดมินตันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกลายเป็นองค์กรแห่งชาติที่สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ไอบีเอฟ.ถือว่าเป็น สมาคมฯ ระดับแนวหน้าที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกสำคัญ ๆ ต่างๆ อาทิ การแข่งขันโธมัส-อูเบอร์คัพ รอบชิงชนะเลิศกรังด์ปรีซ์เซอร์โลก และการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นประจำปี ชิงเงินรางวัลหลายล้านบาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2502 สมาคมฯ เป็นสมาชิกก่อตั้งของ สมาพันธ์แบดมินตันแห่งเอเชีย(Asian Badminton Confederation) และมีบทบาทสำคัญในองกรแห่งนี้มาแต่ต้น ต่อมา ศาสตราจารย์ เจริญวรรธนะสิน ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกในชาติเอเชียให้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของสมาพันธ์ฯ ระหว่างปี ค.ศ. 1987-1990 และรองประธานสมาพันธ์ในปี ค.ศ. 1990-1992 ซึ่งช่วงนี้ได้มีการใช้การตลาดเข้ามาสู่กีฬาแบดมินตันแห่งเอเชีย จนสามารถมีความเป็นปึกแผ่นด้านการเงิน และต่อมา ฯพณฯกร ทัพพะรังสี ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997-2000 และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแชมป์เปี้ยนแบดมินตันแห่งเอเชียหลายครั้ง มาตรฐานการเล่นแบดมินตันของประเทศไทย สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติจัดให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก (จาก Statute Bookของสหพันธ์ฯ) เคยเข้ารอบชิงชนะเลิศประเภททีมชายของโลก 2 ครั้ง ในประเภทรายบุคคล นักแบดมินตันไทยหลายรุ่นยังครองตำแหน่งแชม เปี้ยน ประเภทบุคคลในประเทศต่าง ๆ นับตั้งแต่การแข่งขันแบดมินตันออล-อิงแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันชิงแชมเปี้ยนโลกอย่างไม่เป็นทางการ นักแบดมินตันไทยก็เคยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศทั้งประเภทชายเดี่ยวและประเภทชายคู่ และเคยครองแชมเปี้ยนทั้งชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว และชายคู่ในการแข่งขันแบดมินตันระหว่างชาติ และแชมป์เปี้ยนของชาติต่าง ๆ ทั่วโลกในหลายประเทศรวมทั้งมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักแลดมินตันไทยได้ครองเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงแต่ล่ะยุคสมัย ในปี ค.ศ. 2000 ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน ได้รับการยกย่องเข้าสู่ทำเนียบเกียรติคุณ Hall of Fame ของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ไอบีเอฟ และในปี ค.ศ. 2001 ฯพณฯ กรทัพพะรังสี ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสหพันธ์ 141 ชาติให้เป็นประธานสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ไอบีเอฟ นับเป็นเกียรติสูงสุดของวงการแบดมินตันไทยที่ได้รับจากนานาประเทศทั่วโลก

ในปี พ.ศ.2546-2547 ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน นายกสมาคมฯ ได้ริเริ่มนำเอา Software การจับฉลากแบ่งสายด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากยุโรปมาใช้เป็นแห่งแรก ในประเทศไทย โดยมีนายสุรศักดิ์ ส่งวรกุลพันธ์ กรรมการอำนวยการสมาคมฯ ผู้ชำนาญการคอมพิวเตอร์ ได้ประสานงานพัฒนาจนทำให้ซอฟท์แวร์ใช้เป็นภาษาไทยได้ ทำการจับฉลากแบ่งสายนอกจากจะเที่ยงตรง ยุติธรรม และโปร่งใสแล้ว การจับฉลากแบ่งสายการแข่งขันที่มีนักกีฬามากกว่าหนึ่งพันแมทช์ สามารถกระทำได้ภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

ประวัติแบดมินตัน นักกีฬาแบดทีมชาติไทย

ลักษณะของการเล่น กีฬาแบดมินตัน

แบดมินตันมีการเล่นกันอยู่ 5 ประเภท คือ

  • ประเภทชายเดี่ยว กำหนดการเล่นไว้เกมละ 21 คะแนน
  • ประเภทหญิงเดี่ยว กำหนดการเล่นไว้เกมละ 21 คะแนน
  • ประเภทชายคู่ กำหนดการเล่นไว้เกมละ 21 คะแนน
  • ประเภทหญิงคู่ กำหนดการเล่นไว้เกมละ 21 คะแนน
  • ประเภทคู่ผสม (ชาย – หญิง) กำหนดการเล่นไว้เกมละ 21 คะแนน

ประเภทเดี่ยวจะมีผู้เล่นข้างละ 1 คน และประเภทคู่จะมีผู้เล่นข้าง 2 คน

รู้หรือไม่ สำหรับกีฬาแบดมินตันประเภท 3 คน มีเพียงประเทศไทยแห่งเดียวในโลกที่เคยมีเกมการแข่งขัน และนิยมเล่นในประเภทนี้

ประโยชน์ของ กีฬาแบดมินตัน

แบดมินตันก็เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่นๆที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้เล่น ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ทำให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
  2. ทำให้มีสายตาและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วว่องไว
  3. ทำให้เป็นผู้ที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าได้
  4. ทำให้เป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
  5. ทำให้รู้จักแบ่งหน้าที่และรักษาหน้าที่ มีการร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
  6. สามารถเข้ากับคนอื่นได้ และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
  7. ทำให้เป็นผู้ที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้แพ้รู้ชนะและรู้จักให้อภัย
  8. ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ประวัติแบดมินตัน นักกีฬาแบดหญิงทีมชาติไทย

มารยาทในการเล่นและการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน

แบดมินตัน เป็นกีฬาที่มีผู้นิยมเล่นกันมากชนิดหนึ่ง เมื่อมีการแข่งขันจะมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นผู้เล่นควรจะแสดงกิริยาท่าทางที่สุภาพ ไม่แสดงออกในท่าที่ไม่ดี ควรมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย รวมทั้งผู้ชมกีฬาแบดมินตันก็ต้องมีมารยาทเช่นกันไม่ควรทำอะไรที่เป็นการรบกวนสมาธิของนักกีฬาขณะทำการแข่งขัน สำหรับการเล่นและการแข่งขันกีฬาแบดมินตันมีมารยาทและสิ่งที่จะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่หลายประการ

ผู้ชม

  • แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เป็นการให้เกียรติแก่การแข่งขันนั้นๆ
  • ให้เกียรติแก่นักกีฬาทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการปรบมือเมื่อมีการแนะนำคู่แข่งขัน
  • ไม่กล่าววาจาที่ไม่สุภาพ และไม่เชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนไม่น่าดู
  • ขณะการแข่งขันยังดำเนินอยู่ไม่ควรรบกวนสมาธิของผู้แข่งขันหรือ ผู้ชมด้วยกัน เช่น การลุกเดินไปมาหรือตะโกนบอกลูกดีหรือลูกออก รวมทั้งการสอนผู้เล่นด้วย
  • การนิ่งเงียบ ในขณะที่นักกีฬากำลังเล่นถือเป็นมารยาทที่ดีของผู้ชม
  • ควรปรบมือเมื่อผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเล่นได้ดี สวยงาม และกระทำเมื่อลูกไม่ได้อยู่ในการเล่น
  • ไม่แสดงออกด้วยกิริยาหรือวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของกรรมการขณะทำการแข่งขัน แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดอย่างไร ก็ควรให้อภัยและยอมรับ
  • เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ควรปรบมือเป็นเกียรติแก่คู่แข่งขันทั้ง 2 ฝ่าย

เรียบเรียงข้อมูล ประวัติแบดมินตัน จาก แบบเรียนแบดมินตัน การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาแบดมินตัน

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้