ตะคริว สาเหตุของตะคริว วิธีแก้ตะคริว

ตะคริว คือ การที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน ซึ่งมักเป็นที่กล้ามเนื้อแขนและขา โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาที หรือนานกว่านั้น ในบางรายอาจเกิดบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดกับนักกีฬาที่เล่นกีฬาหนัก ผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องไตเทียม และเกิดในตอนกลางคืน แต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อยและเกิดได้ทุกเวลา อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ตะคริว

สาเหตุของการเกิด ตะคริว

สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด มีหลายทฤษฎี อาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ ทำให้มีการหดรั้ง เกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหด และคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้ายอาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอ ซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งอาจแจกแจงสาเหตุเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายที่ขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง ผู้ที่ทานยาขับปัสสาวะ ผู้ที่เสียเหงื่อมาก
  • การออกกำลังกายมากเกินไปโดยไม่ได้อบอุ่นร่างกายก่อน (warm-up)
  • การอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เช่น นักเขียนเป็นตะคริวที่มือจากการจับปากกาเป็นเวลานาน
  • กล้ามเนื้อมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ เพราะกล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนจากเลือดมากขึ้น ในขณะที่มีการออกกำลังกายหนัก
  • ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย

สาเหตุตะคริว

วิธีแก้ตะคริว การดูแลตนเองเมื่อเป็น ตะคริว การรักษาอาการ ตะคริว

วิธีบรรเทาอาการทั่ว ๆ ไป

  • ยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว เช่น ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อน่อง ให้เหยียดเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้น หรือยืนกดปลายเท้ากับพื้น งดเขาและโน้มตัวไปข้างหน้า
  • ทาและคลึงเบา ๆ ด้วยยาทาแก้ปวดหลังการยืดกล้ามเนื้อแล้ว
  • ประคบด้วยน้ำอุ่น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท้อง
  • ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
  • ถ้าเป็นบ่อยมากควรหาสาเหตุ ตรวจเช็คว่ายาที่รับประทานอยู่เป็นสาเหตุของตะคริวได้หรือไม่ อาจต้องตรวจหาโรคทางกายดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบสาเหตุ

ตะคริวจากการออกกำลังกาย

การรักษาที่ดีดังที่กล่าวไปแล้วคือ การยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว นั้นให้คลายออกอย่างช้า ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวที่น่องจะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ก็ให้ทำการดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้า ๆ แต่ห้ามทำการกระตุก กระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ในรายที่เป็นบ่อย ๆ มีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ควินีนและยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ซึ่งอาจใช้ในระยะสั้น ๆ เช่น 4-6 สัปดาห์และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนักและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ เสียงดังในหู เวียนศีรษะได้ เป็นต้น ดังนั้น โดยทั่วไปมักไม่ค่อยได้ใช้กันทั่วไป ถ้ามีอาการเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ควรปรึกษาแพทย์

วิธีแก้อาการตะคริว

การป้องกัน ตะคริว

  • มีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลัง
  • ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำ และเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ
  • การฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ อาจลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เช่น ที่น่องอาจทำได้โดยการกระดกเท้าขึ้นลง หรือเอามือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่า ปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือยืนบนส้นเท้าห่างผนัง 1 ฟุตแล้วเอามือทาบผนังและค่อย ๆ เหยียดแขนออกเพื่อยืดกล้ามเนื้อประมาณ 30 วินาทีแล้วทำใหม่ เป็นต้น
  • ระวังไม่ให้ร่างกายขาดเกลือแร่ โดยรับประทานผลไม้ที่มีเกลือแร่สูง เช่น กล้วย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ
  • งดสูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • สวมรองเท้าที่พอเหมาะ และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
  • ผู้สูงอายุควรค่อย ๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นมาก ๆ
  • ในรายที่เป็นบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข

ป้องกัน ตะคริว

ข้อมูลจาก : นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
Credits : mahidol.ac.th / th.wikipedia.org

บทความ เป็นตะคริวทำอย่างไรดี จาก นิตยสารหมอชาวบ้าน

เมื่อเอ่ยถึงตะคริว คงจะรู้จักดี เพราะคงเคยเป็นกันมาบ้าง บางท่านก็ถึงกับเข็ดขยาด เพราะตะคริวทำให้เกิดความเจ็บปวดเหมือนกับกล้ามเนื้อถูกตึงเกร็งอย่างรุนแรง

ตะคริว คืออะไร?

ตะคริว หมายถึง การหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจทำอาจเป็นกล้ามเนื้อกลุ่มเดียวหรือหลาย ๆ กลุ่มก็ได้

สาเหตุของตะคริว อาการตะคริว อาจเกิดได้จากสาเหตุ ดังนี้

  1. ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือ
  2. กล้ามเนื้ออ่อนแอและเกร็งตัวจากการทำงานหรือออกแรงอย่างมากและเร็วเกินไป  (ขาดการอบอุ่นร่างกายหรือกล้ามเนื้อ) เช่น ออกวิ่งอย่างรวดเร็ว หรือแข่งขันกีฬาโดยไม่มีการซ้อมเบา ๆ ก่อน
  3. ระบบไหลเวียนของเลือด ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เช่น อากาศหนาวมาก หรือ ใส่ถุงเท้ารัดแน่นมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายเท้าไม่พอ เกิดเป็นตะคริวที่น่อง หรือที่ฝ่าเท้าได้
  4. ภาวะเครียดทางจิตใจมีผลทำให้กล้ามเนื้อเครียดหรือตึงตัวมากเกินไปก็ทำให้เกิดเป็นตะคริวได้ง่าย
  5. ผู้ป่วยโรคบางชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต เป็นต้น

อาการของตะคริว

มีการเกร็งของกล้ามเนื้อบางมัดหรือหลาย ๆ มัดอย่างแรงโดยบังคับไม่ได้ ถ้าคลำดูจะพบว่ากล้ามเนื้อแข็ง เป็นลำ ปวดกล้ามเนื้อที่เกร็งนั้นอย่างรุนแรง เคลื่อนไหวอวัยวะใกล้กับกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวได้ลำบาก

การป้องกันตะคริว

  • ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาหนัก ๆ ควรมีการวอล์มอัพ หรือ อบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ
  • ดื่มน้ำสะอาด หรือผสมเกลือเล็กน้อย ก่อนการออกำลังกาย หรือก่อนการแข่งขันกีฬา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่หักโหม เพื่อสุขภาพแข็งแรง ซึ่งอาจช่วยลดอาการตะคริวที่เกิดบ่อยครั้งได้
  • นวดกล้ามเนื้อเบา ๆ ก่อนและหลังการออกกำลัง หรือเล่นกีฬา
  • พยายามอย่าให้เกิดความเครียด หรือความกังวลใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการเล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา

หากเกิดตะคริวกระทันหัน ควรทำอย่างไร

เนื่องจากการเป็นตะคริวทำให้กล้ามเนื้อนั้นหดเกร็ง เจ็บปวด และเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานกล้ามเนื้อนั้นอาจขาดคุณสมบัติในการยืดหดได้ และส่งผลให้เป็นตะคริวได้บ่อย ๆ อีก ดังนั้น จึงต้องรีบแก้ไขทันทีที่เป็นตะคริว ดังนี้

  • จัดท่าทาง (Positioning) เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว อาจยืดเองหรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ ตัวอย่างการยืดกล้ามเนื้อ เช่น ยืดกล้ามเนื้อต้องทำอย่างนิ่มนวลก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มแรงยืดทีละน้อยจนสุดการเคลื่อนไหวของข้อและยืดค้างไว้สักครู่ เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวแล้วจึงค่อยๆ คลายแรงยืดนั้นลง ไม่ควรยืดกล้ามเนื้อแรง ๆ และเร็วแบบกระตุกเพราะจะทำให้เกร็งมากขึ้นกว่าเดิม
  • การนวดที่กล้ามเนื้อ ในระยะที่เริ่มเป็นตะคริวนี้ ควรจะนวดเบาสลับกับการยืดกล้ามเนื้อก็ได้ เช่น การคลึงเบา ๆ ที่กล้ามเนื้อนั้นประมาณ 1-2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ 1-2 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวเร็วขึ้น ไม่ควรบีบนวดแรง ๆ เพราะจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกร็งมากยิ่งขึ้น
  • การให้ความอบอุ่น หรือ ความร้อนแก่กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว มีความสำคัญมากในการลดอาการเกร็งเนื่องจากตะคริว และช่วยป้องกันการเป็นซ้ำ ๆ อีกได้เป็นอย่างดี ในระยะกระทันหันการช่วยเหลือ 2 อย่างแรกน่าจะเพียงพอ นอกจากจะเป็นซ้ำ ๆ กันบ่อยครั้ง จึงควรใช้ความร้อนช่วย อาจให้ในรูปของผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น แล้วบิดให้พอหมาด ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นตะคริวหรือจะใช้กระเป๋าน้ำร้อนห่อด้วยผ้าขนหนู 2 ชั้น มาประคบก็ได้ จะทำให้เลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้นและลดอาการเกร็ง การประคบใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ถ้าเป็นผ้าชุบน้ำอุ่นก็ควรนำมาชุบน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อรักษาความร้อนได้นาน

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.doctor.or.th

ข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ :
เหตุใดถึงง่วงนอน หลังทานอาหาร แก้ง่วงหลังกินข้าว
สะอึก สาเหตุและวิธีแก้อาการสะอึก

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้