ประวัติเอเชียนเกมส์ (Asian Games หรือรู้จักกันในชื่อ Asiad) เป็นการจัดการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิด ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีการจัดการแข่งขันขึ้นในทุก ๆ สี่ปี ในช่วงเริ่มแรก (การจัดการแข่งขันครั้งที่ 1 – ครั้งที่ 8) อยู่ภายใต้การบริหารจัดการแข่งขันโดยโดย สหพันธ์เอเชียนเกมส์ (The Asian Games Federation หรือ AGF) ต่อมานับตั้งแต่เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 9 บริหารจัดการแข่งขันโดย สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia หรือ OCA) ภายใต้การรับรองโดย คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) ซึ่งกีฬาเอเชียนเกมส์ ถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิด ที่มีการจัดการแข่งขันขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกีฬาโอลิมปิกด้วย

ประวัติเอเชียนเกมส์

ประวัติเอเชียนเกมส์ – กองเชียร์ทีมชาติไทย

ในประวัติศาสตร์ของเอเชียนเกมส์ มีชาติเจ้าภาพจัดการแข่งขันแล้ว 9 ประเทศ โดยมี 46 ประเทศเข้าร่วม ยกเว้นอิสราเอลซึ่งถูกกีดกันออกจากเอเชียนเกมส์ หลังจากที่เข้าร่วมเป็นคราวสุดท้ายในครั้งที่ 17 ในปี 2517 หรือ ค.ศ. 1974

โดยเอเชียนเกมส์ครั้งหลังสุด จัดขึ้นที่นครอินช็อนของประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19 กันยายน-4 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) และการแข่งขันครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018)

ประวัติเอเชียนเกมส์

ยุคกีฬาตะวันออกไกล

ก่อนที่จะมีการริเริ่มจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ขณะนั้นมีการแข่งกีฬาที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล (the Far Eastern Championship Games) ซึ่งจากหลักฐานคาดว่าริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 โดย จักรวรรดิญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐจีน ซึ่งกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกลครั้งแรก ได้ถูกจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ในปี 2456 โดยมี 6 ชาติเข้าร่วมการแข่งขัน หลังจากการจัดครั้งแรก ก็มีการจัดการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 10 ครั้ง จนกระทั่งปี 2477 (1934) เกิดข้อพิพาททางการเมืองและสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (second Sino-Japanese War) โดยจักรวรรดิญี่ปุ่นยืนกรานให้ราชวงศ์ชิง หรือ ราชวงศ์แมนจู เป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถเข้าร่วมเกมส์การแข่งขันได้ โดยสาธารณรัฐจีนตอบโต้โดยการประกาศยกเลิกส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด ส่งผลให้ กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกลที่กำหนดไว้ในปี 2481 ต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด อีกทั้งหน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันก็มีอันต้องยุติหน้าที่ลงทั้งหมด

ยุคสหพันธ์เอเชียนเกมส์

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีประเทศในทวีปเอเชียประกาศเอกราชขึ้นหลายประเทศ ซึ่งประเทศเกิดใหม่ในทวีปเอเชียส่วนใหญ่ คาดหวังที่จะเห็น การแข่งขันกีฬาภายในทวีป รูปแบบใหม่ ที่ไม่มีการใช้อิทธิพลเข้าครอบงำ หากแต่ร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็ง ภายใต้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) กลุ่มนักกีฬาของสาธารณรัฐประชาชนจีน และฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 14 ที่กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร มีความคิดที่จะฟื้นการแข่งขันกีฬาตะวันออกไกลขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม กูรู ดัตท์ สนธิ (Guru Dutt Sondhi) ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งอินเดีย มีทัศนะว่า ตัวเขาเองไม่เชื่อว่าการนำ การแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล กลับมาอีกครั้ง จะเพียงพอกับการรวมใจเป็นหนึ่งและระดับของความสำเร็จเพื่อความเป็นเลิศทางกีฬาของทวีปเอเชียได้ ซึ่งเขาได้เสนอแนวคิดในการจัดการแข่งขันแบบใหม่ ซึ่งก็คือ เอเชียนเกมส์ โดยเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างให้แก่ทุกประเทศในทวีปเอเชีย สามารถเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเสนอให้ร่างระเบียบขึ้น เพื่อจัดตั้งขึ้นในรูปสหพันธ์กีฬาแห่งเอเชีย (The Asian Athletic Federation) ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ประวัติเอเชียนเกมส์

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ธรรมนูญองค์กรก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น สหพันธ์กีฬาเอเชีย (The Asian Games Federation) ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย ซึ่งเมืองหลวงแห่งนี้เอง ที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งที่ 1 ของเอเชียนเกมส์ ในอีกสองปีถัดมา (พ.ศ. 2493; ค.ศ. 1950)

โลโก้เอเชียนเกมส์

โลโก้เอเชียนเกมส์ – ประวัติเอเชี่ยนเกมส์

วิกฤตการณ์ การปรับองค์กร และการขยายองค์กร

ในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เอเชียนเกมส์เริ่มประสบปัญหาหลายอย่าง อาทิเช่น ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันปฏิเสธที่จะอนุญาตให้นักกีฬาจากประเทศอิสราเอล และไต้หวันเข้าร่วมการแข่งขัน ด้วยเหตุผลทางการเมืองและศาสนา ผลที่ตามมาคือ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ถอนการสนับสนุนในการจัดการแข่งขัน รวมทั้งได้ยกเลิกสถานะสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลของอินโดนีเซีย รวมถึงองค์กรกีฬาชั้นนำ เช่น The Asian Football Confederation (AFC), International Amateur Athletics Federation (IAAF) และ International Weightlifting Federation (IWF) ต่างก็ถอนตัวไปเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพ ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่แท้จริงคือ การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งก่อน ต้องรับจัดการแข่งขันอีกครั้งโดยใช้เงินทุนที่โอนมาจากประเทศเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ถูกร้องขอให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันแทน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากชนกับการจัดงาน Expo ’70 ที่โอซาก้า อย่างไรก็ตามการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการออกอากาศทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก

ในปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ที่เมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ อย่างเป็นทางการ มีประเทศจีน เกาหลีเหนือ และมองโกเลีย เข้าร่วมเกมส์การแข่งขัน อีกทั้งประเทศอิสราเอลก็ได้รับอนุญาตให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้ (ซึ่งโดยทางการเมืองแล้วถือเป็นประเทศคู่ขัดแย้งในกลุ่มประเทศอาหรับ) ในขณะที่ ไต้หวันก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ในนามของประเทศ จีนไทเป (Chinese Taipei) แม้ว่าสถานะการเข้าร่วมแข่งขันของประเทศไต้หวัน เคยถูกยกเลิกไป ในการประชุมทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2516 แล้วก็ตาม

ก่อนที่จะถึง เอเชียนเกมส์ในปี พ.ศ. 2521 (1978) ประเทศปากีสถานได้ขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2518 (1975) จากการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจละปัญหาการเมืองภายใน ประเทศไทยเสนอตัวช่วยเป็นเจ้าภาพแทนและการแข่งขันก็ถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สหพันธ์เอเชียนเกมส์ ออกมติไม่ยินยอมให้ จีนไทเปและอิสราเอล เข้าร่วมแข่งขัน อันมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในของทั้งสองชาติ ทำให้เกิดความกังวลต่อการรักษาความปลอดภัย เป็นเหตุให้องค์กรกีฬาระดับนานาชาติหลายแห่ง ออกมาทักท้วงต่อต้าน โดยเฉพาะสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations หรือ IAAF) ถึงกับประกาศขู่ว่า หากนักกรีฑาของชาติใด เข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์คราวนี้ สหพันธ์ฯจะกีดกันไม่ให้เข้าแข่งขัน ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ซึ่งส่งผลกระทบให้นักกีฬาหลายชาติ ขอถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติในทวีปเอเชีย ตัดสินใจเปิดการประชุมร่วมกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) โดยไม่มีการแจ้งให้ทางอิสราเอลเข้าร่วมด้วย เพื่อยกร่างแก้ไขธรรมนูญสหพันธ์เอเชียนเกมส์ มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งสมาคมบริหารจัดการเอเชียนเกมส์ขึ้นใหม่ เรียกว่า สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย และก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ระหว่างการประชุมครั้งแรกของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ที่กรุงนิวเดลี ก่อนการแข่งขันครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหลวงของอินเดียตามกำหนดเดิม โดยไม่มีการยกเลิกกำหนดการต่าง ๆ ซึ่งสหพันธ์กีฬาเอเชียจัดทำไว้แล้ว และมีสมาชิกชุดก่อตั้ง เป็นคณะกรรมการโอลิมปิกของ 34 ชาติ จากนั้นสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย จึงเริ่มรับหน้าที่กำกับดูแลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ซึ่งโซลของเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) เป็นครั้งแรก มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจีนไทเปกลับเข้าร่วมในครั้งที่ 11 ที่กรุงปักกิ่งของจีน แต่ถูกบังคับให้ใช้ชื่อว่า จีนไทเป (Chinese Taipei) เมื่อปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990)

มาสคอตกีฬาเอเชียนเกมส์

มาสคอตกีฬาเอเชียนเกมส์ – กดเพื่อขยายภาพ

ประวัติเอเชียนเกมส์ รวบรวมข้อมูลโดย Educatepark.com

ยุคสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย

ในการแข่งขันครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นที่นครฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) เป็นครั้งแรกที่มิได้จัดแข่งขันในเมืองหลวงของประเทศ โดยกลุ่มประเทศที่แยกตัวเป็นเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งประกอบด้วยคาซักสถาน, คีร์กีซสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน เข้าร่วมเป็นครั้งแรก ส่วนอิรักไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าร่วม เนื่องจากเป็นชาติที่ก่อสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) เมื่อปี พ.ศ. 2533 และเกาหลีเหนือคว่ำบาตรการแข่งขัน เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นปัญหา นอกจากนี้ยังเกิดการสูญเสียผู้แทนจากประเทศเนปาล ณเรศกุมาร์ อธิการี (Nareshkumar Adhikari) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างพิธีเปิดการแข่งขัน จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) เป็นประวัติศาสตร์ของเอเชียนเกมส์ เมื่อกรุงเทพฯของไทย เป็นเจ้าภาพครั้งที่ 4 โดยพิธีเปิดในสามครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม ส่วนครั้งนี้เปิดในวันที่ 6 ธันวาคม แต่ทั้งหมดสิ้นสุดในวันเดียวกันคือ 20 ธันวาคม และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดทั้งสี่ครั้ง

การเปลี่ยนแปลงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในอนาคต

จำนวนกีฬาที่แข่งขันจะกำหนดให้ลดน้อยลง เหลือเพียง 35 ชนิดในการแข่งขันครั้งที่ 17 ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครอินช็อนของเกาหลีใต้ และคราวนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่การแข่งขันจะจัดขึ้นตามระยะเวลาเดิม เมื่อโอซีเอผลักดันให้การแข่งขันครั้งถัดไป เกิดขึ้นก่อนกีฬาโอลิมปิกเพียงหนึ่งปี จึงหมายความว่าเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ซึ่งตามปกติจะมีกำหนดจัดในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) จะผลักดันไปเป็น พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019)

ในปัจุบันได้มีการยุติการเปลี่ยนระยะเวลาจัดการแข่งขันออกไป จากที่จะจัดการแข่งขันก่อนโอลิมปิกเกมส์เพียงหนึ่งปีเป็นจัดการแข่งขันตามระยะเวลาเดิม เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ไม่สามารถที่จะจัดภายในปีค.ศ. 2019 ได้ ซึ่งในปีค.ศ. 2019 นั้นได้มีการจัดการเลือกตั้งประธานธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย จึงจัดภายในปีค.ศ. 2018 ตามระยะเวลาเดิมแทน

ประวัติกีฬาเอเชียนเกมส์

กองเชียร์ของไทย | ประวัติเอเชียนเกมส์

ประเทศที่เข้าร่วม

สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย มอบสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันแก่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของ 45 ประเทศในเอเชีย ก่อนหน้านี้ในยุคสหพันธ์เอเชียนเกมส์ ยังมีอิสราเอลเข้าร่วมด้วย แต่ถูกระงับไปตั้งแต่ พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2525 อิสราเอลร้องขอเข้าร่วมเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 9 แต่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียปฏิเสธคำขอ เนื่องจากเหตุการณ์สังหารหมู่ ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 20 ที่นครมิวนิกของเยอรมนีตะวันตก ปัจจุบันอิสราเอลเป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งยุโรป ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994)

สำหรับไต้หวันมีโอกาสร่วมการแข่งขันในครั้งที่ 11 ภายใต้ชื่อและธงโอลิมปิกของจีนไทเป หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งจีนไทเปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ส่วนมาเก๊าได้รับอนุญาตจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ให้เข้าเป็นสมาชิกและร่วมแข่งขันตั้งแต่ พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) แม้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะไม่ยอมรับให้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกก็ตาม

เชค อะห์หมัด อัล-ฟาฮัด อัล-อะห์เหม็ด อัล-ซาบะห์ (Sheikh Ahmad Al-Fahad Al-Ahmed Al-Sabah) ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ปฏิเสธข้อเสนอเมื่อปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ที่จะให้ออสเตรเลียเข้าร่วมแข่งขันด้วย โดยเขามีความเห็นว่า แม้ออสเตรเลียจะมีส่วนช่วยผลักดัน ให้มาตรฐานการกีฬาของเอเชียนเกมส์ดีขึ้น แต่ก็จะไม่เป็นธรรมต่อประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเชียเนียเช่นกัน

ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาในเอเชียนเกมส์ครบทุกประเภท มีทั้งหมด 7 ชาติได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สิงคโปร์ และไทย

ประเทศเจ้าภาพ | ประวัติเอเชียนเกมส์

ครั้งที่ ปี พ.ศ. เมือง-ประเทศเจ้าภาพ ช่วงที่จัด เจ้าเหรียญทอง
1 2494 นิวเดลี – อินเดีย 4 – 11 มี.ค. ญี่ปุ่น (JPN)
2 2497 มะนิลา – ฟิลิปปินส์ 1 – 9 พ.ค. ญี่ปุ่น (JPN)
3 2501 โตเกียว – ญี่ปุ่น 24 พ.ค. – 1 มิ.ย. ญี่ปุ่น (JPN)
4 2505 จาการ์ตา – อินโดนีเซีย 24 ส.ค. – 4 ก.ย. ญี่ปุ่น (JPN)
5 2509 กรุงเทพฯ – ไทย 9 – 20 ธ.ค. ญี่ปุ่น (JPN)
6 2513 กรุงเทพฯ – ไทย 9 – 20 ธ.ค. ญี่ปุ่น (JPN)
7 2517 เตหะราน – อิหร่าน 1 – 16 ก.ย. ญี่ปุ่น (JPN)
8 2521 กรุงเทพฯ – ไทย 9 – 20 ธ.ค. ญี่ปุ่น (JPN)
9 2525 นิวเดลี – อินเดีย 19 พ.ย. – 4 ธ.ค. จีน (CHN)
10 2529 โซล – เกาหลีใต้ 20 ก.ย. – 5 ต.ค. จีน (CHN)
11 2533 ปักกิ่ง – จีน 22 ก.ย. – 7 ต.ค. จีน (CHN)
12 2537 ฮิโรชิมะ – ญี่ปุ่น 2 – 16 ต.ค. จีน (CHN)
13 2541 กรุงเทพฯ – ไทย 6 – 20 ธ.ค. จีน (CHN)
14 2545 ปูซาน – เกาหลีใต้ 29 ก.ย. – 14 ต.ค. จีน (CHN)
15 2549 โดฮา – กาตาร์ 1 – 15 ธ.ค. จีน (CHN)
16 2553 กว่างโจว – จีน 12 – 27 พ.ย. จีน (CHN)
17 2557 อินช็อน – เกาหลีใต้ 19 ก.ย. – 4 ต.ค. จีน (CHN)
18 2561 จาการ์ตา-ปาเลมบัง – อินโดนีเซีย 18 ส.ค. – 2 ก.ย. จีน (CHN)
19 2565 หางโจว – จีน 10 – 25 ก.ย. ยังไม่แข่งขัน
20 2569 นาโงยะ – ญี่ปุ่น 19 ก.ย. – 4 ต.ค. ยังไม่แข่งขัน

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์มาทั้งหมด 4 ครั้ง คือ ปี พ.ศ. 2509, 2513, 2521 และปี 2541

มาสคอตเอเชียนเกมส์ของไทย เจ้าภาพ ปี 1998

มาสคอตเอเชียนเกมส์ของไทย เจ้าภาพ ปี 1998

กีฬาที่จัดแข่งขัน | ประวัติเอเชียนเกมส์

ตลอดระยะเวลาที่มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปรากฏว่ามีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 44 ชนิด ดังตารางต่อไปนี้

กีฬา พ.ศ.ที่แข่งขัน กีฬา พ.ศ.ที่แข่งขัน
กีฬาทางน้ำ ตั้งแต่ 2493 ยิมนาสติก ตั้งแต่ 2517
ยิงธนู ตั้งแต่ 2521 ยูโด ตั้งแต่ 2529
กรีฑา ตั้งแต่ 2493 กาบัดดี ตั้งแต่ 2533
แบดมินตัน ตั้งแต่ 2505 คาราเต้ ตั้งแต่ 2537
เบสบอล ตั้งแต่ 2537 ปัญจกรีฑาสมัยใหม่ 2537, 2545, 2553
บาสเกตบอล ตั้งแต่ 2493 กีฬาล้อเลื่อน 2553
เกมกระดาน ตั้งแต่ 2549 เรือพาย ตั้งแต่ 2525
เพาะกาย 2545-2549 รักบีฟุตบอล ตั้งแต่ 2541
โบว์ลิง 2521, 2529, ตั้งแต่ 2537 เรือใบ 2513, ตั้งแต่ 2521
มวยสากล ตั้งแต่ 2497 เซปักตะกร้อ ตั้งแต่ 2533
เรือแคนู ตั้งแต่ 2529 ยิงปืน ตั้งแต่ 2497
คริกเก็ต 2553 ซอฟต์บอล ตั้งแต่ 2533
บิลเลียด ตั้งแต่ 2541 ซอฟต์เทนนิส ตั้งแต่ 2533
จักรยาน 2493, ตั้งแต่ 2501 สควอช ตั้งแต่ 2541
ลีลาศ 2553 เทเบิลเทนนิส 2501-2509, ตั้งแต่ 2517
เรือมังกร 2553 เทควันโด 2529, ตั้งแต่ 2537
ขี่ม้า 2525-2529, ตั้งแต่ 2537 เทนนิส 2501-2509, ตั้งแต่ 2517
ฟันดาบ 2517-2521, ตั้งแต่ 2529 ไตรกีฬา ตั้งแต่ 2549
ฟุตบอล ตั้งแต่ 2493 วอลเลย์บอล ตั้งแต่ 2501
กอล์ฟ ตั้งแต่ 2525 ยกน้ำหนัก 2493-2501, ตั้งแต่ 2509
แฮนด์บอล ตั้งแต่ 2525 มวยปล้ำ ตั้งแต่ 2497
ฮอกกี ตั้งแต่ 2501 วูซู ตั้งแต่ 2533

เหรียญรางวัลรวม

ตลอดระยะเวลาของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปรากฏว่าญี่ปุ่นและจีน เป็นเพียงสองชาติในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับเหรียญรางวัลมากที่สุด ส่วนชาติที่มี 1 เหรียญทองเป็นอย่างน้อย มีจำนวน 37 ประเทศ ขณะที่มี 43 ประเทศ ได้รับ 1 เหรียญรางวัลเป็นอย่างน้อย ต่อการแข่งขันหนึ่งครั้ง โดยภูฏาน มัลดีฟส์ และติมอร์ตะวันออก เป็นเพียงสามชาติ ที่ไม่เคยได้รับแม้แต่เหรียญรางวัลเดียว ตั้งแต่เข้าแข่งขันเป็นต้นมา ซึ่งในตารางต่อไปนี้เป็น 15 อันดับของประเทศที่ได้รับเหรียญรางวัลรวม

อันดับ ประเทศ ทอง เงิน ทองแดง รวม
1 จีน 1355 928 693 2976
2 ญี่ปุ่น 957 990 911 2858
3 เกาหลีใต้ 697 598 753 2048
4 อิหร่าน 159 161 175 495
5 อินเดีย 139 177 298 614
6 คาซัคสถาน 138 142 201 481
7 ไทย 121 159 232 512
8 อินโดนีเซีย 91 121 199 411
9 เกาหลีเหนือ 85 120 156 361
10 จีนไทเป 68 100 197 365
11 ฟิลิปปินส์ 63 110 206 379
12 อุซเบกิสถาน 63 96 113 272
13 มาเลเซีย 56 87 129 272
14 ปากีสถาน 38 49 78 165
15 กาตาร์ 37 27 53 117
รวม 4313 4295 5136 13744

เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 - ประวัติเอเชียนเกมส์

ประวัติเอเชียนเกมส์ ประวัติกีฬาเอเชียนเกมส์ ความเป็นมาเอเชียนเกมส์

https://th.wikipedia.org/wiki/

ocaasia

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้