พระพิฆเนศ พระพิฆเนศวร

คนไทยคุ้นเคยกับบรรดาเทพทั้งหลายมาช้านาน แต่ในบรรดาเทพทั้งหมด คนไทยรู้จักพระพิฆเนศวรมากที่สุดเพราะท่านเป็นมหาเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยมากที่สุดจนกล่าวได้ว่า คนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นตราประจำกรมกองต่างๆมากมาย
พระพิฆเนศวร์เป็นเทพแห่งปราชญ์ ความรอบรู้ต่าง เป็นเทพแห่งขจัดอุปสรรคความขัดข้อง ดังนั้นหากผู้ใดเป็นผู้รู้และประสบความสำเร็จต่อกิจการทั้งปวงมักจะบูชาพระพิฆเนศวร์ก่อน ในอินเดียเองก็มีแนวความเชื่อในเรื่องพระพิฆเนศวร์ในทุกลัทธิศาสนาไม่ว่าลัทธิที่ถือองค์พระศิวะเป็นใหญ่ นับถือพระพรหมเป็นใหญ่หรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ทุกลัทธิล้วนให้ความสำคัญต่อพระพิฆเนศวร์ทั้งสิ้น
ด้วยทุกตำราได้กล่าวถึงที่มาของพระพิฆเนศวร์ไว้สูง สำคัญและฤทธิ์มาก มีความเฉลียวฉลาด มีคุณธรรม คอยช่วยเหลือปกป้องปราบปรามสิ่งชั่วร้ายและเป็นยอดกตัญญู
แม้พระพิฆเนศวร์จะเป็นเทพที่มีความเก่งกาจสามารถยิ่ง แต่ก็เป็นเทพที่สงบนิ่งไม่เย่อหยิ่งทรนงอันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐอีกประการหนึ่งของผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่า พระพิฆเนศวร์เป็นมหาเทพที่ดีพร้อมครบถ้วนด้วยความดีงามสมควรแก่การยกย่องบูชาเป็นนิจ แม้แต่องค์พระศิวะมหาเทพผู้สร้างและพระบิดาแห่งองค์พระพิฆเนศวร์ยังกล่าวว่า ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใดหรือทำพิธีบูชาใด ให้ทำการบูชาพระพิฆเนศวร์ ก่อนกระทำการทั้งปวง

พระพิฆเนศ
ฐานะและสถานภาพ

เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่มีสถานภาพแห่งความเป็นสากล ศาสนิกชนและผู้คนทั่ว ๆ ไปต่างเคารพนับถือพระองค์ว่าเป็นเทพที่สำคัญ อันจะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่าง ๆ แทบจะทุกด้าน และผู้เลื่อมใสพระองค์ก็มีตั้งแต่ชนชั้นล่างสุดจนถึงชนชั้นปกครอง ทุกสาขาอาชีพ ไม่มีขีดจำกัดหรือกฎเกณฑ์ ห้ามปรามเหมือนอย่างพระมหาเทพและพระมหาเทวีบางพระองค์
พอจะสรุปถึงฐานะของพระคเณศในด้านต่างได้ดังนี้

๑. พระคเณศในฐานะเทพขจัดอุปสรรค ในสมัยก่อน พ่อค้าต่างๆเวลามาเพื่อติดต่อค้าขายในแถบคาบสมุทรอินโดจีน มักจะพกพาพระคเณศติดตัวมาบูชาเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยและช่วยอำนวยความสำเร็จในการเดินทาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการนิยมสร้างรูปเคารพพระคเณศขึ้นมาเพื่อประทานความสำเร็จและขจัดอุปสรรคโดยเฉพาะในด้านการค้าและการประกอบธุรกิจต่างๆ ในบริษัทใหญ่ๆ โรงแรมใหญ่ๆในปัจจุบัน
๒. พระคเณศในฐานะเทพบริวาร ในฐานะที่พระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะมหาเทพและพระอุมามหาเทวี ท่านจึงได้ฐานะเป็นเทพบริวารให้กับมหาเทพทั้งสอง ด้วยฐานะดังกล่าวจึงมีการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่กองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์
๓. พระคเณศในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก พระคเณศในฐานะนี้เราจะพบเห็นได้จากภาพวาดหรือปฏิมากรรมของพระคเณศในวัยที่ยังเป็นเด็ก ขณะเป็นพระโอรสของพระนางอุมามหาเทวี ผู้คนจึงมอบฐานะแห่งเทพผู้คุ้มครองเด็กให้กับพระองค์
๔. พระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการ ทรงเป็นเทพแห่งฉลาดรอบรู้และเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งภาพวาดหรือรูปเคารพของพระองค์จะมี ๒ พระกร ถือ คัมภีร์และงาหัก นตามหลักฐานที่ปรากฏ จะพบว่าคติการเคารพบูชาพระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการของไทยเรานั้นเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน และปรากฏฐานะนี้ที่เด่นชัด ในสมัยรัชการที่ ๖ ที่ทรงกำหนดให้ใช้รูปพระคเณศเป็นตราเครื่องหมายสัญลักษณ์ของวรรณคดีสโมสร ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๘๐ ก็ได้กำหนดให้ใช้รูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากร
๕. พระคเณศในฐานะบรมครูช้าง ในสมัยก่อนนั้นการทำศึกสงคราม ช้างเป็นสัตว์ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำศึก การทำกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับช้างจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “คชศาสตร์” ด้วยรูปแบบดังกล่าวของพระคเณศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคชศาสตร์ ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับคชศาสตร์เกิดขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการบูชาพระคเนศด้วย
๖. พระคเณศในฐานะที่เป็นทวารบาล เป็นคติที่พบได้ทางภาคเหนือของไทยเรา เรามักพบเห็นพระคเณศอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดในพุทธศาสนา ซึ่งคล้ายกับคตินิยมในธิเบตและพม่า
ดังตัวอย่างเช่นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดท่าสต๋อย ที่มีรูปพระคเณศอยู่บริเวณทางเข้าในฐานะพระทวารบาล และคติการสร้างรูปพระคเณศไว้ที่บริเวณทางเข้าวัดทางภาคเหนือนั้น จะเน้นหนักไปในเรื่องที่ยกพระคเณศให้เป็นทวารบาลคอยคุ้มครองสัปตบุรุษผู้ไปทำบุญหรือปฏิบัติศาสนกิจ
๗. พระคเณศในฐานะบรมครูหรือเทพทางศิลปะการแสดง ปัจจุบันนี้ศิลปะการแสดงต่างๆโดยเฉพาะในแวดวงดาราดาราภาพยนตร์และดาราทีวีจะนับถือพระคเณศว่าเป็นบรมครูทางการแสดงของพวกเขา ซึ่งจะไปเหมือนกับคตินิยมในการบูชาพระคเณศในฐานะบรมครูทางนาฏกรรมของบรรดานักนาฏศิลป์ทั้งหลาย
๘. พระคเณศในเครื่องรางของขลัง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ชึ่งเป็นช่วงที่พ่อค้าวานิชและนักบวชในศาสนาฮินดูเดินทางออกจากประเทศอินเดียมาสู่แหลมอินโดจีน และมักจะพกพาเครื่องรางที่เป็นรูปพระคเณศองค์เล็ก ติดตัวมาติดต่อค้าขายและเผยแพร่ศาสนาในแหลมอินโดจีน ดังหลักฐานที่ปรากฏจากการขุดค้นพบเครื่องรางรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จ .สุราษฏร์ธานี
ความหมาย

พระคเณศ ทรงมีรูปร่างเดียว โดยทรงมีพระเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงวงยาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี 4 6 หรือ 8 กรแล้วแต่พระภาคที่จะเสด็จมา รูปร่างของพระองค์แสดงถึงสิ่งเป็นมงคลดีเยี่ยม ซึ่งทรงสั่งสอนถึงความดีและความสำเร็จ
พระคเณศทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้

พระเศียร
ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด
พระกรรณ
ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่น ๆอันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา
งวง
เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย
งา
งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง
หนู
แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์
บ่วงบาศ
ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์
ขวาน
เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์
ขนมโมทกะ
ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์
ท่าประทานพร
หมายถึงความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์
กำเนิด (ประวัติพระพิฆเนศวร์)
เชื่อกันว่า ลัทธิการบูชาพระคเณศนั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งเป็นลัทธิการบูชาสัตว์ หรือลัทธิแห่งชัยชนะเหนือธรรมชาติ ชนพื้นเมืองของอินเดีย เชื่อกันว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงขี่หนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลง
พระคเณศอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพประจำเผ่าของคนป่า ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ของอินเดีย คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัวจึงเกิดการเคารพในรูปของช้างชึ้น เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองและพัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูงของชาวอารยัน
ต่อมาได้พัฒนาเป็นเทพผู้ขจัดซึ่งอุปสรรค มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งมีการรจนาปกรณ์ให้เป็นโอรสของพระศิวะเทพและพระนางปราวตีในเวลาต่อมา
แต่ในแง่ของคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ได้บรรยายจุดกำเนิดของพระคเนศไว้หลากหลายตำนานตามความเชื่อในแต่ละลัทธิ พอจะสรุปเป็นหลักๆได้ดังนี้
ตำนานที่ 1. วิฆเนศวรปราบอสูรและรากษส
อสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้คำพรจากพระศิวะหลายประการ ยังให้เหล่าอสูรกลุ่มนี้ฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนเป็นอันมาก พระอินทร์จึงทรงนำเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าอ้อนวอนต่อพระศิวะ ขอให้พระองค์สร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางความพยายามของอสูรและรากษส พระองค์จึงทรงแบ่งส่วนกายหนึ่งให้เกิดบุรุษร่างงามจากครรภ์ของพระนางปราวตีและตั้งพระนามว่าวิฆเนศวร เพื่อทำหน้าที่ขวางทางอสูร รากษส และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีเพื่อขอพรจากพระศิวะ ทั้งยังเป็นผู้เปิดทางอำนวยความสะดวกต่อเทวดาและคนดีเพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ
ตำนานที่ 2. ปราวตีนำเหงื่อไคลปั้นเป็นลูก
ครั้งหนึ่ง ชยาและวิชยา พระสหายของนางปราวตีได้แนะนำว่าปกติพระนางมักจะต้องใช้บริวารของพระศิวะอยู่เป็นประจำ ถ้าหากพระนางจะมีบริวารเป็นของตนเองก็คงจะดีไม่น้อย พระนางเห็นด้วย จนวันหนึ่งขณะที่ทรงสรงน้ำอยู่ตามลำพังก็ทรงนึกถึงคำพูดของพระสหายจึงได้นำเอาเหงื่อไคลออกมาสร้างบุรุษรูปงาม สั่งให้ไปยืนเฝ้าทวาร มิให้ใครเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอย่างนี้มาหลายเพลา จนวันหนึ่งพระศิวะได้เสด็จมา ฝ่ายลูกก็ป้องกันแข็งขัน โดยไม่รู้ว่านั่นคือพ่อพระศิวะโกรธก็เลยสั่งให้ภูติและคณะของตนเข้าสังหารทวารบาลพระองค์นั้น บ้างก็ว่าพระศิวะพุ่งตรีศูลตัดเศียรลูก บ้างก็ว่าพระวิษณุเทพที่มาช่วยรบนั้นใช้จักรตัดเศียร ความทราบถึงพระนางปราวตีจึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีขึ้นบนสวรรค์
ฝ่ายฤาษีนารอดอดรนทนไม่ได้ จึงได้เป็นทูตสันติภาพขอเจรจากับนางปราวตีเพื่อสงบศึก นางบอกว่าจะสงบศึกก็ต่อเมื่อลูกของนางฟื้นเท่านั้น
พระศิวะจึงสั่งให้เทวดาเดินทางไปทิศเหนือให้เอาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อกับโอรสของนางปราวตี ปรากฏว่าเทวดาได้เศียรของช้างซึ่งมีงาเพียงข้างเดียวมา เมื่อพระคเณศฟื้นขึ้นมา ทราบความจริงว่า พระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขอโทษเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอใจมากประสาทพรให้พระคเณศมีอำนาจเหนือภูติผีทั้งหลายและทรงแต่งตั้งให้เป็นคณปติ
ตำนานที่ 3. ขวางทางคนชั่วไปเทวาลัยโสมนาถและโสมีศวร
พระนางปราวตีทรงเอาน้ำมันที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมกับเหงื่อไคลปั้นเป็นรูปคนแต่มีเศียรเป็นช้างจากนั้นได้เอาน้ำจากพระคงคาปะพรมให้มีชีวิตขึ้น เพื่อทำการขัดขวางแก่คนชั่วที่จะไปบูชาศิวะลึงค์ที่เทวาลัยโสมนาถและเทวาลัยโสมีศวรเพราะคนเหล่านี้หวังจะไปล้างบาปเพื่อมิให้ตกนรกทั้งเจ็ดขุม ด้วยเหตุนี้ การที่วันคเณศจาตุรถี นิยมเอารูปปั้นพระคเณศมาจุ่มน้ำหรือนำเทวรูปปูนชิ้นเล็ก ๆมาทิ้งตามแม่น้ำคงคา ชะรอยจะมาจากความเชื่อที่ว่าน้ำจากแม่พระคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง
ตำนานที่ 4. พระคเณศ กฤษณะอวตาร
พระนางปราวตีมเหสีของพระศิวะไม่มีโอรส พระศิวะจึงทรงแนะนำให้พระนางทำพิธีปันยากพรต (พิธีบูชาพระวิษณุเทพ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนมาฆะ) มีระยะเวลากำหนด 1 ปีเต็มและเมื่อครบกำหนด พระนางจะได้โอรสซึ่งเป็นพระกฤษณะอวตารไปจุติ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำตรัสของพระศิวะ ทวยเทพทั้งหลายมาร่วมอวยพรในกลุ่มเทพเหล่านี้มีพระศนิ (พระเสาร์) รวมอยู่ด้วย เมื่อพระศนิเหลือบมองพระกุมารทันใดนั้นเศียรกุมารก็ขาดจากพระศอกระเด็นไปยังโคโลกซึ่งเป็นวิมานของพระกฤษณะพระวิษณุจึงเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปุภัทรเห็นช้างนอนหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดเศียรช้างกลับมาต่อให้กับเศียรกุมารที่หายไป ตำนานนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สร้างโดยกลุ่มที่นับถือพระกฤษณะเป็นใหญ่
ตำนานที่ 5 ศิวะ-อุมาแปลงกายเป็นช้างเข้าสมสู่
ครั้งหนึ่งพระศิวะและพระนางปราวตีได้เสด็จมายังแถบภูเขาหิมาลัยได้เห็นช้างสมสู่กันก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะจึงได้แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนนางปาราวตีแปลงกายเป็นช้างพังร่วมสโมสรจนมีลูกเป็นพระคเณศ
ฤทธิ์แห่งปัญญา
มีตำนานที่กล่าวถึงความมีสติปัญญาและไหวพริบของพระคเณศไว้หลายตอน อย่างเช่นกรณี ที่ท่านเป็นผู้ลิขิตมหากาพย์ภารตะ
ครั้งหนึ่ง มหาฤาษีวยาสะมีความต้องการที่จะเขียนมหากาพย์ภารตะ แต่เกรงว่าตนจะทำเองไม่สำเร็จ จึงไหว้วานให้ผู้อื่นช่วย แค่ไม่มีใครกล้าอาสาที่จะรับผลงานชิ้นนี้ ฤาษีนารอดเห็นว่าพระคเณศองค์เดียวเท่านั้นที่จะเขียนมหากาพย์ชิ้นนี้ได้ ในที่สุดฤาษีวยาสะจึงต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระคเณศ
พระคเณศบอกว่า จะเขียนตามที่ฤาษีบอก แต่ทันทีที่ฤาษีหยุดบอกจะหยุดเขียนทันที ฝ่ายฤาษีบอกว่า สิ่งที่พูดออกไปจากปากของเราต้องตีความให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือเขียน ฉะนั้นเมื่อฤาษีต้องใช้การคิดสำหรับโศลกต่อไปก็จะบอกศัพท์ยาก ๆเพื่อให้พระคเณศตีความเสียก่อนเพื่อเป็นการประวิงเวลา
พระคเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดอัจฉริยะในฐานะที่เป็นผู้ลิขิต มหาภารตะ ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์มหากาพย์สุดยอดของฮินดู
อย่างไรก็ตาม เรื่องมหากาพย์ภารตยุทธ์นี้ แน่นอน คงไม่มีใครเชื่อว่ามาจากฝีมือพระคเณศแน่ แต่นั่นเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณที่ต้องการจะบอกกับคนในยุคสมัยต่อไปว่า การบูชาครูเพื่อขอดวงปัญญาในการทำงานให้ลุล่วงนั้น เป็นสิ่งสำคัญในลำดับแรก โดยเฉพาะการรจนางานในเชิงพระคัมภีร์ เหมือนเช่นพระมหาธีรราชเจ้า มักจะประพันธ์อักขระเพื่อถวายบูชาต่อพระคเณศก่อนที่จะเริ่มงานประพันธ์ทุกครั้ง
มีอยู่หลายกรณี หลายเหตุการณ์ที่ท่านทรงแสดงความเป็นเทพแห่งปัญญาที่แท้จริง แต่กรณีที่เด่นๆก็อย่างเช่น กรณีเดินทางรอบโลกเพื่อผลมะม่วง
ในคราวหนึ่ง พระนางอุมาได้นำเอาผลมะม่วงมาถวายกับพระศิวะผลหนึ่ง ปรากฏว่าลูกทั้งสองคนคือ พิฆเนศวรและขันธกุมาร ต่างก็อยากจะเสวยมะม่วงผลนี้ด้วยกันทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงอยากรู้ว่า ลูกทั้งสองคนนี้ใครจะเก่งกว่ากัน โดยตั้งโจทย์ว่า ใครก็ตามหากเดินทางรอบโลกถึงเจ็ดรอบและกลับสู่วิมานปาวตา(วิมานของพระศิวะและพระนางอุมา) ก่อนผู้นั้นจะได้ผลมะม่วงลูกนี้ ว่าแล้วฝ่ายขันธกุมารก็ไม่รอช้า รีบขี่นกยูงตระเวนท่องโลกทันที ฝ่ายพิฆเนศแทนที่จะเอาอย่าง กลับเดินประทักษิณรอบบิดาเจ็ดรอบ และกล่าวว่า“ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์ผู้สร้างโลก และทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทำประทักษิณพระบิดาเจ็ดรอบ ถือว่าได้กุศลเท่ากับเดินทางรอบโลกเจ็ดรอบ”
มหาเทวะศิวะเทพยินดีในคำตอบและชื่นชมในสติปัญญาจึงมอบผลมะม่วงให้กับพระพิฆเนศวรทันที
วิธีการพิชิตศัตร
พระพิฆเนศนั้นเป็นเทพที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าเทพพระองค์อื่น นอกเหนือจากเรื่องมีพระเศียรเป็นช้างแล้ว นั่นคือ การนิยมการนำศัตรูเอามาเป็นพวก พระคเณศนั้นไม่นิยมที่จะล้างผลาญศัตรูให้ตายไปเหมือนเทพพระองค์อื่น แต่มักจะใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในการดำเนินกุศลโลบาย เพื่อให้ศัตรูมีโอกาสกลับใจมาเป็นคนดี หรือเรียกง่าย ๆก็คือ เมื่อยอมสวามิภักดิ์แล้วก็จะให้เป็นเทพบริวารไล่เรียงกันไป
บรรดาเหล่ารายชื่ออสูรที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระคเณศประกอบด้วย
มัตสระ
(ที่มาของคเณศปางวักระตุณฑะ)
มะทะ
เกิดจากฤาษีโจวะนะสร้างขึ้น (ที่มาของปางเอกทันตะ)
ยานาริลูกของอสูรทุระพุทธ
(ที่มาของปาง ปุระณานันมโหกระซึ่งอวตารมาเป็นลูกพระลักษมี)
โลภาสูร
กำเนิดจากความโลภของท้าวกุเบธ(ที่มาของปางคชนันท์)
โกรธาสูรู
เกิดจากความลุ่มหลงของพระศิวะที่เห็นพระวิษณุแปลงรูปเป็นสาววัย 16 (ที่มาของปางลัมโพทระ)
กามาสูร
เกิดจากความลุ่มหลงของวิษณุเทพต่อชายาอีกพระองค์หนึ่ง ชื่อ พระแม่วฤนทา (ที่มาของปางวิกฎะ)
มมตาสูร
เกิดจากเสียงหัวเราะของพระนางอุมา (ที่มาของวิฆนราช)
อหัมอสูร
เกิดจากเสียงจามของสุริยเทพ (ที่มาของปางธูมรวรรณ)
การอภิเษกสมรส
อันที่จริงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เสริมแต่งให้ความเป็นพระพิฆเณศวรมีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้นเอง เพราะพระชายาทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นธิดาของประชาบดีอิศวรรูปนั้นแทบจะไม่บทบาทอะไรเลยนอกจากคอยอยู่ปรนนิบัติพัดวี นวดแขน เกาขาไปตามเรื่อง พระชายาทั้งสองมีโอรสกับพระคเณศด้วย นางพุทธิให้กำเนิดลาภะ ส่วนนางสิทธิให้กำเนิด เกษม ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพุทธิ สิทธิ ลาภะ เกษม แต่ตำนานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ พระคเณศเป็นเทพที่ถือพรหมจรรย์
เรื่องการอภิเษกนั้น เรื่องราวดำเนินละม้ายคล้ายกับการชิงผลมะม่วง เพราะเมื่อถึงวัยที่โอรสทั้งสองพระองค์ของศิวะเทพและนางปราวตีเจริญเติบโตพอที่จะมีเหย้ามีเรือน แต่มีเงื่อนว่า พระศิวะจะจัดพิธีวาหะให้ต่อเมื่อลูกคนใดคนหนึ่งสามารถผ่านการเดินรอบโลกได้เจ็ดรอบด้วยเวลาอันรวดเร็ว
พระคเณศก็ทรงใช้การประทักษิณรอบพระศิวะเจ็ดรอบ แล้วให้คำอธิบายเหมือนกับเหตุการณ์ในตอนที่แย่งชิงผลมะม่วงกับพระขันธกุมาร
พระศิวะพอใจในคำอธิบายของพระคเณศมาก และตรัสสรรเสริญในภูมิปัญญาของโอรสในพระองค์ว่า“โอ…ลูกรักเจ้าเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมยอดและมีปัญญาเป็นที่สุดสิ่งที่เจ้าได้กล่าวมาเป็นจริงทั้งสิ้น ถ้าบุคคลหนึ่งได้มีปัญญาเป็นคุณสมบัติติดตัว แม้เมื่อโชคร้ายมาถึงเขา ความอับโชคนั้นย่อยถูกกำจัดด้วยปัญญา”ว่าแล้วในคราวนั้น พระคเณศจึงได้พระชายาคราวเดียวกันถึง 2 คนคือนางพุทธิและสิทธิอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น
เหตุแห่งการเสียงา

มีหลายตำนานมาก พอจะแบ่งได้ดังนี้

ตำนานแรก ปรศุรามใช้ขวานจาม
ปรศุรามนั้นเป็นอวตารของวิษณุเทพ กล่าวว่า ปรศุรามได้ยืมขวานจากพระศิวะไปทำลายเหล่ากษัตริย์ เมื่อเสร็จภารกิจจะเข้าเฝ้าที่เขาไกรลาส ระหว่างนั้นบริเวณพระที่นั่งชั้นใน พระศิวะมหาเทพกำลังสนทนาอยู่กับนางปราวตี พระคเณศไม่ยอมให้ปรศุรามเข้าพบ ปรศุรามโมโหเลยใช้ขวานของพระศิวะขว้างไปยังพระคเณศ พระองค์จำใจต้องใช้ใช้งาข้างซ้ายรับขวานนั้น ด้วยเหตุที่ท่านทรงมีความกตัญญูเป็นอย่างยิ่งในบิดา ครั้นจะต่อสู้กันไปก็อาจทำได้ แต่จะมีประโยชน์อะไรกับการทำลายฤทธิ์เดชของอาวุธซึ่งเป็นของบิดาตนเอง

ตำนานสอง ได้เศียรช้างงาเดียว
เมื่อคราวที่พระศิวะได้ทำพิธีโสกัต์และพระวิษณุเทพพลั้งเผลอเปล่งวาจา ยังผลให้เศียรของกุมารหายไปนั้น ได้มีเทวโองการให้หาเศียรของมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าในวันอังคารนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดถึงฆาต มีเพียงช้างงาเดียวที่นอนตายอยู่ทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรมาต่อให้

ตำนานสามโดนพระศิวะใช้ขวานจาม
เมื่อคราวที่กุมารน้อยถือกำเนิดใหม่ ๆและเฝ้าปากทวารห้องสรงน้ำของพระแม่ปราวตีนั้นพระศิวะไม่ทราบว่าเป็นลูก เลยเกิดการต่อสู้กันพระศิวะโมโหจึงใช้ขวานขว้างไปโดนงาของพระคเณศหัก

ตำนานสี่ งาถอดได้เองตามธรรมชาติ
เมื่อคราวที่พระคเณศต่อสู้กับอสูรอสุรภัค พระคเณศแสดงเดชโดยการถอดงาของตัวเองขว้างไปที่อสูร

กษัตริย์ไทยกับพระพิฆเณศ

ภารตวิทยามาแพร่หลายอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงสนใจภารตวิทยาอยู่มาก ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีความเข้าใจถ่องแท้ในพิธีกรรมต่าง ๆของฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดูเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้นำรูปเคารพของพิฆเณศวรมาใช้ในรัชสมัยของพระองค์ ตามอย่างที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ
พระองค์ท่านได้กำหนดให้พระคเณศเป็นดวงตราเครื่องหมายวรรณคดีสโมสร โดยดวงพระราชลัญจกรรูปกลมองค์นี้ตามตำแหน่งคือ ดวงพระราชลัญจกรรูปกลม ศูนย์กลางกว้าง 3 นิ้ว 3 อนุกระเบียด (7 เซนติเมตร) ลายเป็นรูปพระคเณศนั่งแท่น แวดล้อมด้วยลายกนกสวมสังวาลย์นาคหัตถ์ขวาเบื้องบนถือวัชระเบื้องล่างถืองาหัตถ์ซ้ายเบื้องบนถือบ่วงบาศ เบื้องล่างถือครอบน้ำ (ขันน้ำมนต์หรือ หม้อน้ำ)
เมื่อปี 2480 พระพิฆเณศได้กลายเป็นดวงตราประจำกรมศิลปากรโดยลายกลางเป็นพระคเณศรอบวงกลมมีลวดลายเป็นดวงแก้ว 7 ดวง อันมีความหมายถึง ศิลป์วิทยาทั้ง 7 แขนงคือ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ดุริยางค์ศิลป์, นาฏศิลป์, วาทศิลป์, สถาปัตยกรรม, อักษรศาสตร์ ฉะนั้นชนทั้งหลายจึงนับถือพระคเณศเป็นบรมครูทางศิลปะ
ในสมัยอยุธยานั้น ลัทธิพราหมณ์ ฮินดูยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อราชธานี (อยุธยา) หรือพระนามของกษัตริย์ที่ขึ้นต้นด้วย สมเด็จพระรามาธิบดี ก็คืออิทธิพลที่ได้มาจากมหากาพย์รามเกียรติ์นั่นเอง

สมัยพระเจ้าปราสาททอง
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา มีเรื่องเกี่ยวกับการรื้อย้ายเทวสถานพระอิศวรและพิธีลบศักราช ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มีการจัดพิธีตรียัมปวายและมีบันทึกว่า เคยจัดข้าวของจากอยุธยาไปทำพิธีที่เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช และทรงโปรดให้มีการหล่อรูปพระพิฆเณศวร และทรงนับถือเป็นบรมครูช้าง นอกจากนี้ยังได้เกิดวิทยาการแขนงต่าง ๆอันมีพื้นฐานจากแขนงวิชาอุปเวทและอาถรรพเวท

ลักษณะทางประติมากรรม
พระคเณศนั้นมีหลายปาง และมีให้เลือกสรรการบูชาตามความเหมาะสม แต่ภาพโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศียรก็ดี สัตว์พาหนะ ตลอดจนถึงเครื่องประดับและอิริยบทต่างก็ดี พอจะแยกได้ดังนี้
เศียร
พระคเณศมีตั้งแต่ 1 เศียรหรือพระพักตร์เดียว ไปจนถึง 2-5 เศียร ซึ่งปาง 5 เศียรนี้นิยมใช้ในปางเหรัมภะซึ่งแพร่หลายในอินเดียและเนปาล ส่วนพระคเณศในแบบของคนไทยนั้นจะมีเพียงเศียรเดียวเท่านั้นส่วนใหญ่แล้วพระคเณศจะมีเพียงสองตาเท่านั้น ส่วนตาที่ 3 บริเวณหน้าผาก (บ้างใช้เปลวไฟเป็นสัญลักษณ์แทน ) นิยมใช้ในลัทธิตันตระที่ชัดเจนมากเห็นจะเป็นพระพิฆเณศในศิลปะแบบธิเบต
นอกจากนี้บริเวณหน้าผากทั่วไป อาจจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว หรือเส้น 3 เส้นตามลักษณะของไศวะนิกาย หรือพระเศียรอาจจะสวมมงกุฎชนิดแบบราบ(กรัณฑมุกุฎ) หรือสวมชฎาทรงสูงก็ได้ ส่วนงานั้น จะมีเพียงงาเดียวข้างขวาเท่านั้นส่วนงาข้างซ้ายนิยมทำหักไว้งวง
มีลักษณะที่ห้อยตรงแต่ส่ายปลายไปทางซ้ายหรือขวาแต่ที่นิยมคือหันงวงไปทางซ้าย และหยิบขนม บตะสะ(โมทกะ)จากถ้วยขนมที่ถืออยู่ในซ้ายมือหรือบางทีก็เป็นพวกผลไม้ป่ากร
มีจำนวนกรตั้งแต่ 2-4 เรื่อยขึ้นไปถึง 10 กว่ากรหรือมากกว่านั้น สัญลักษณ์ที่ถือตามพระกรต่าง ๆเช่น งาหัก,ผลมะนาว, ผลไม้ป่า,มะขวิด,ลูกหว้า,หัวผักกาด,ขนมโมทกะ,ผลทับทิม,ส่วนอาวุธนั้นมีมากมายอาทิ ขวาน,บ่วงบาศ,ดาบ,ตรีศูล ฯลฯ สิ่งอันเป็นมงคล เช่น สังข์,แก้วจินดามณี,ครอบน้ำ ฯลฯท่าทาง
พระคเณศในยุคแรกนั้นจะเป็นพระคเณศในรูปแบบของการยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นการนั่ง ซึ่งมีการนั่งถึง 4 ลักษณะด้วยกันคือ

  1. ท่ามหาราชลีลา หรือเข่าข้างหนึ่งยกขึ้น อีกข้างหนึ่งงอพับบนอาสนะ (ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12)
  2. นั่งขาไขว้กัน
  3. นั่งห้อยพระบาทข้างใดข้างหนึ่งส่วนอีกข้างวางพับอยู่บนอาสนะ
  4. นั่งโดยขาทั้งสองพับอยู่ทางด้านหน้า ฝ่าเท้าทั้งสองอยู่ชิดกัน (ศิลปชวา,บาหลี)

เครื่องประดับ
ในยุคแรกไม่นิยมการทรงเครื่องประดับต่อมาจึงเริ่มมีเครื่องทรงมากขึ้น เริ่มจากสาย
ยัชโญปวีต (สายศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ บางทีก็เป็นงูธรรมดา ส่วนผ้าที่นุ่งนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นที่สร้างรูปเคารพส่วนเครื่องทรงนั้นมีการเพิ่มเติมมากขึ้นเช่นมงกุฏ ,สร้อยคอ,สร้อยข้อมือ,สร้อยข้อเท้า,สร้อยกระดิ่ง

พาหนะ
เท่าที่พบในปัจจุบันมีเพียง หนู นกยูงและสิงโตเท่านั้น

พระพิฆเนศแต่ล่ะปาง
ปางพระคเนศ
แม้ว่าพระคเณศจะมีพระนามมากมายถึง 108 พระนามไปจนถึง 1008 พระนาม แต่ในแง่เทวประติมานั้นมีอยู่เพียง 8 ถึง 9 ปางเท่านั้นที่คนนิยมบูชา โดยการบูชาในแต่ละปางก็ให้คุณที่แตกต่างกันออกไป เชิญเลือกบูชาได้ตามอัธยาศัยเลยครับปางพาลคเณศ
เป็นพระคเณศในวัยเด็กรูปลักษณ์ที่เห็น มักจะเป็นพระคเณศยังคลานอยู่กับพื้น หรือยังอยู่ในอิริยบถไร้เดียงสาอย่างเด็ก ๆ ถ้าโตขึ้นมาหน่อย จะนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวมี 4 กร ถือขนมโมทกะ กล้วย รวงข้าว ซึ่งหมายถึงความเป็นสุขภาพดีของเด็ก ๆในครอบครัวรวมความหมายถึงให้เด็ก ๆ ได้ระลึกถึงการเคารพรักในบิดา มารดา ปางนี้นิยมบูชากันในบ้านที่มีเด็กเล็กและเด็กในวัยเรียนปางนารทคเณศ
ปางนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพระคเณศมักจะอยู่ในอิริยาบถยืน มี 4 กร ในคัมภีร์และหม้อน้ำกมัลฑลุ ไม้เท้า และร่ม ซึ่งถ้าเป็นศาสนาพุทธแล้ว คงเปรียบได้กับพระสีวลี ซึ่งเป็นพระธุดงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ผู้มีลาภมาก แต่สัญลักษณ์ของพระคเณศนั้น หมายถึงการเดินทางไกล แต่มักจะเป็นการเดินทางไปเพื่อการศึกษาต่อ หรือเป็นปางที่เหมาะสมกับวิชาชีพของคนที่เป็นครูบาจารย์เท่านั้นปางลักษมีคเณศ
ปางนี้พระคเณศจะประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมี 6 กร และพระหัตถ์หนึ่งโอบพระลักษมีเทวีไว้ การบูชาปางนี้เสมือนหนึ่งได้บูชาเทพทีเดียวกันถึง 2 พระองค์ในลักษณะของทวิภาคี (คเณศ -ลักษมี) กล่าวคือ ลักษมีคเณศ ย่อมมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ พูนสุข ความมั่งคั่ง มั่งมีอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ปางวัลลยภาคเณศ
ปางนี้พระคเณศจะอุ้มพระชายาทั้ง2 ไว้บนตักทั้งซ้ายและขวา ซึ่งชายาทั้งคู่คือคือนางพุทธิและสิทะ ดังที่ตำนานได้กล่าวไว้ ปางนี้ให้ความหมายในลักษณะของความสมบูรณ์ของการเป็นครอบครัวมีทรัพย์สินและบริวารมากมายปางมหาวีระคเณศ
เป็นพระคเณศที่มีจำนวนของพระกรมากเป็นพิเศษ อาจจะ 12,14,16, กรแต่ละพระหัตถ์นั้นถือศาสตราวุธหลากหลายชนิดแตกต่างกันไปอาทิลูกศร คันธนู ดาบยาว ตะบอง ขวาน จักร บ่วงบาศ งูใหญ่ หอก ตรีศูล ปางนี้ถือกันว่าเป็นปางออกศึกเพื่อปราบศัตรูหมู่อมิตรทั้งหลาย ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมพิเศษกับบรรดานักรบ แม่ทัพนายกอง ทหาร ตำรวจและข้าราชการ
ปางเหรัมภะคเณศ
เป็นปางพระคเณศที่ห้อยพระบาทอยู่บนพญาราชสีห์ พระคเณศปางนี้จะมีอยู่ห้าเศียร หรืออาจจะเป็นเศียรตามปกติก็ได้ เพราะสัญลักษณ์ที่แท้จริงของปรางค์นี้ก็คือ สิงโตเท่านั้น เพราะสิงโตเป็นเจ้าป่า ดังนั้นจึงเหมาะสมที่ผู้ใหญ่ที่ต้องมีบริวารในการปกครองมาก นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่บรรดดากษัตริย์ทั้งหลายแต่โบราณนิยมบูชากัน เรียกว่าเป็นสุดยอดปางของพระคเณศก็ว่าได้ปางสัมปทายะคเณศ
เป็นพระคเณศที่เราพบเห็นกันบ่อยคือ มีอาวุธอยู่ในสองพระหัตถ์บน ส่วนพระหัตถ์ล่างด้านซ้ายนั้นถือขนม และด้านขวาอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งความหมายของปางนี้คือ การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จนั่นเองปางตรีมุขคเณศ
เป็นพระคเณศที่มี 3 พระพักตร์ 4 กร บ้างก็ว่ามีความหมายถึง 3 โลก บ้างก็ว่าหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญาปางปัญจคฌณศ
บางคนเรียกปางนี้ว่า พระคเณศเปิดโลก

ปางวิชัยคเณศ
เป็นปางที่พระคเณศทางขี่หนูเป็นพาหนะมี 4 กร พระหัตถ์ขวาด้านล่างอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งมีความหมายถึงการอยู่เหนือบริวารนั่นเอง

การอธิษฐาน
มนต์แห่งพระคเณศเป็นมนต์ที่ให้พลังอำนาจยิ่งใหญ่ มนต์แต่ละบทประกอบไปด้วยอำนาจพิเศษของพระคเณศวร เมื่อใดก็ตามที่ได้ท่องสวดพร้อมกับการปรันยัน (อาบน้ำชำระร่างกาย) แล้วประกอบพิธีบูชาจะนำมาซึ่งผลบุญที่ดี
สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ผู้ที่จะสวดมนต์แห่พระคเณศควรจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายหรือล้างมือล้างเท้าก่อนที่จะนั่งและสวดมนต์ทั้งหลายนี้ เช่นเดียวกัน เขาจะต้องทำปรันยันสามหนหรือมากกว่าก่อนที่จะสวด ต้องสวดมนต์อย่างน้อยให้ได้หนึ่งรอบของลูกประคำ(108ครั้ง) และจะต้องกำหนดชั่วโมงและสถานที่เพื่อการท่องสวดมนตร์จะต้องทำติดต่อกันเป็นประจำ 48 วัน
นั่นหมายความว่าตั้งจิตประกอบสมาธิจำมาซึ่งสิทธิ์และอำนาจอันเร้นลับ ข้อเตือนก็คือ ผู้บูชาจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บไข้ในเวลาท่องสวดมนตร์และจะไม่กระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองอำนาจทั้งหลายนี้จะไม่บังเกิดผลหรือใช้ในทางที่ผิดจะเป็นผลตรงกันข้ามและเป็นที่สาปแช่งของเทวะ

  1. โอมฺ คัม คณะปัตเย นะมะหะ
    มนตร์นี้ได้มาจากพระคัมภีร์ คเณศ อุปนิษัท ทุกๆครั้งจะต้องเริ่มต้นการสวดมนตร์นี้ก่อนออกเดินทางหรือในการเริ่มต้นบทเรียนใหม่ หรือก่อนเริ่มต้นการทำสัญญาธุรกิจใหม่ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ต่อไปจะนำมาซึ่งความสำเร็จสมประสงค์
  2. โอมฺ นโม ภัควเต คชานนายะ นะมะหะ
    มนตร์นี้เป็นมนตร์แห่งการกราบไหว้บูชาที่พระคเณศวรทรงโปรดมาก
  3. โอมฺ ศรี คเณศายะ นะมะหะ
    มนตร์นี้ส่วนมากจะต้องสั่งสอนให้เด็กๆท่องสวดเพื่อความรู้ความฉลาดที่จะได้รับ เพิ่มพลังการจดจำและให้ผลสำเร็จในการสอบ การเล่าเรียน เช่นเดียวกันคนทั่ว ๆไปอาจใช้มนต์นี้ได้ เพื่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจ
  4. โอมฺ วักรตุนทายะ ฮัม
    มนตร์นี้เป็นมนตร์ที่มีอำนาจมากตามที่พรรณนาไว้ใน พระคเณศ ปุราณะ เมื่อใดเกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้แล้วหรือเกิดเหตุร้ายขึ้น ควรทำสมาธิรำลึกถึงพระคเณศด้วยการสวดมนตร์นี้ตลอดเวลา
  5. โอมฺ กษิปหะ ปรัสทายะ นะมะหะ
    คำว่ากษิประ หมายความถึงความรวดเร็ว ถ้าหากว่าเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดบางสิ่งบางอย่างกับตัวท่านหรือบางอย่างเกี่ยวกับธุรกิจการงานที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรแล้วควรจะตั้งจิตมั่นบูชาพระคเณศด้วยการสวดมนตร์นี้โดยเร็ว เพื่อที่จะได้รับพรให้หลุดพ้นจากเรื่องร้ายหรือภัยที่ร้ายแรงได้
  6. โฮมฺ ศรีม ฮรีม กลีม คลัม คัม คณะปัตเย วร วรัท สรวะ ชันมัย วศัมนายะ สวาหา
    ในมนตร์บทนี้มีพืชมนตร์อยู่มากมาย (พืช-เมล็ด) อันความหมายอย่างอื่นคือ “แสดงถึงการให้พรแห่งความสุขสำหรับตัวท่าน ข้าพเจ้าขอทูลถวายตัวเองเป็นทาสรับใช้พระคเณศวร”
  7. โอมฺ สุมุขายะ นะมะหะ
    มนตร์นี้มีความหมายอยู่มากมายแต่ทุกความหมายนั้นง่ายต่อความเข้าใจ มนตร์นี้หมายความว่า ท่านจะต้องมีจิตใจที่งาม มีวิญญาณอันบริสุทธิ์ในความเป็นจริงในทุก ๆสิ่ง ด้วยการประกอบสมาะบูชาด้วยมนตร์นี้ขอให้บังเกิดสิ่งที่ดีงามและของสวยงามมาสู่ยังตัวท่าน พร้อมด้วยความสุขสันติซึ่งมั่นคงติดแน่ดวงตาของท่านไปนานแสนนานและคำพูดทุกถ้อยคำซึ่งท่านได้พูดออกมาขอให้เต็มไปด้วยพลังแห่งความรัก
  8. โอมฺ เอกทันตายะ นะมะหะ
    เอกทันตะ หมายถึงพระผู้ทรงมีงาเพียงข้างเดียวแห่งเศียรเป็นช้าง ซึ่งหมายความว่า พระองค์ทรงแบ่งแยกความดีและความชั่วออกเป็นสองฝ่ายและนำท่านไปสู่ความดีและเป็นที่โปรดของพระองค์ตลอดกาล ใครก็ตามที่มีจิตใจเป็นหนึ่งแน่วแน่ต่อการกราบไหว้บูชาแล้วจะได้ผลบุญตามที่ตนเองที่ปรารถนาอยากได้
  9. โอมฺ กปิลายะ นะมะหะ
    กปิล หมายถึงว่าท่านสามารถที่จะแต่งเติมแต้มแห่งอายุรเวท ท่านสามารถสร้างสีสันรอบๆตัวท่านเองและรอบผู้อื่นได้ด้วยมนตร์นี้ จงอาบน้ำชำระสิ่งทั้งหลายและตบแต่งมันให้สวยงามและเยียวยาให้ดีขึ้นได้ ตามมนตร์ที่ท่านได้สวดขึ้นมาจะทำให้ท่านสามารถสร้างสีสันสวยงามได้ตามที่ต้องการและจะเป็นจริงเสมอ เพราะว่ามีอำนาจในมนตร์เมื่อใดที่ท่านต้องการโดยเฉพาะอย่างในการรักษาผู้อื่นจะเป็นผลได้ในทันที
  10. โอมฺ คชากรันกายะ นะมะหะ
    พระกรรณแห่งพระคเณศวร ช้าง ทรงกว้างใหญ่ ซึ่งหมายความว่าผู้บูชาไม่จำเป็นต้องกล่าวความยาว แต่ทว่าเขาจะไม่ได้รับในสิ่งที่ไร้ค่า นอกจากสิ่งที่สำคัญที่สุด มันหมายความว่าเขาจะไปอยู่ ณ ที่แห่งหนใดก็ตาม พระองค์จะทรงเสด็จไปได้
  11. โอมฺ สัมโพธรายะ นะมะหะ
    หมายความว่าโลกทั้งหมดอยู่ในพระองค์ด้วยคำว่า “โอม”
  12. โอมฺ วิกตายะ นะมะหะ
    หมายความว่าในความเป็นจริงของโลกใบนี้เหมือนความฝันหรือเป็นการเล่นละครเท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจดีทุกอย่างว่าโลกทั้งหมดนี้ดูเหมือนความฝันโดยมีพวกเราทั้งหมดเป็นตัวแสดงโดยที่เราแสดงบทเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ ในความฝันนี้เราอาจถูกงูเห่ากัดตาย แต่เมื่อตื่นขึ้นมาไม่เป็นอะไรเลย ชีวิตคือการแสดง ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเราพิจารณาเหมือนหนึ่งการเล่นละคร มนตร์นี้จะทำให้ผู้สวดเข้าใจดีถึงเรื่องราวทั้งหมด
  13. โอมฺ วิฆณะ นัษนายะ นะมะหะ
    ในความเป็นจริงของทั้งหมด พระเจ้าทรงขจัดสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากชีวิตเรา ด้วยความรู้แห่งมนตร์นี้อุปสรรคทั้งหมดและพลังอำนาจแห่งเครื่องกีดขวางทางทั้งหลายก็จะถูกทำลายลงไปได้

ข้อมูลเพิ่มเติม