วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

วันครู

ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

การจัดงาน วันครู

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้

กิจกรรมทางศาสนา วันครู

พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ

ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์

คำปฏิญาณตนของครู มีดังนี้

ข้อ 1. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

ข้อ 2. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

ข้อ 3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น ประโยชน์ต่อสังคม

จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

เลื่อมใสการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วย ความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือ ทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้าม ประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียง ของครู

ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถาน ศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้า ที่การงาน โดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของ สถานศึกษา

ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำ หรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริต หรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบ อ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงาน ของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตน ด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือ ผู้อื่นโดยมิชอบ

สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่ การงาน

การไหว้ครู | วันครู

การไหว้ เป็นการแสดงถึงความ สำนึกที่ดีงาม โดยเฉพาะเรามักจะกระทำแก่สิ่งของ หรือบุคคลที่มีความสำคัญแทบทั้งสิ้น เช่นนักเรียนประกอบพิธีไหว้ครู ก็เพราะนักเรียนเห็นว่า ครูเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของเขา คือเป็นผู้ ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้และเป็นปูชนียบุคคล ครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การได้รับการไหว้เป็นอย่างยิ่ง และคนไทยเราปกติเคารพนับถือครูมาก ถือว่าครูเป็นคู่ใจจะไปทางไหนหรือทำอะไรก็ตาม ถ้ามีครูเป็นคู่คิดแล้วเป็นสบายใจและอุ่นใจได้ มีประโยคภาษาไทยแสดงคุณค่า ของครู อยู่ประโยคหนึ่ง นั่นคือคำว่า “ศิษย์มีครู” ซึ่งเป็นคำพูดที่ส่อถึงความมั่นใจของผู้พูดมาก ทีเดียว นอกจากนี้ ครูอาจารย์ ยังเป็นผู้ร่วมผจญกรรมเผชิญเหตุการณ์กับศิษย์เสมอ แต่ในยามปกติแล้วมักจะมองเห็นครูอาจารย์ไม่สำคัญเท่าใดนัก จะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อยามเข้าสู่ภาวะคับขันเช่น ศรีปราชญ์เมื่อจะถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิต ทั้งๆที่รู้ตัวว่าจะตายก้ตายอย่างไม่พรั่นพรึง ด้วยเหตุสำนึกถึงครูอาจารย์ ถึงกับเขียนจารึกฝากแผ่นดินไว้ว่า
“ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง …”
ด้วยความที่คนไทยมีความสำนึกดีต่อครูอาจารย์มั่นคง การไหว้ จึงเป็นการแสดงออกที่มี ความหมาย นอกจากจะเกิดสิริมงคลแก่ตัวผู้ไหว้เองแล้ว ยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเอาไว้ด้วย

ดอกไม้ไหว้ครู

teacher_flower

สำหรับดอกไม้ประจำวันครู คือ “ดอกกล้วยไม้” โดยพิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
ดังคำกลอนของ หม่อนหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า

“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”

เมื่อสมัยก่อน การสอนของคนโบราณมีการใช้คุณลักษณะพิเศษของใบไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ผลไม้ ก้อนหิน อาหาร ขนม โดยดูจากลักษณะ คุณสมบัติ ชื่อ มาเป็นเครื่องประกอบการเรียนการสอนหรือเรียกว่า อุปกรณ์การสอนคงไม่ผิด

อุปกรณ์การสอนที่ว่ามีมากมาย เช่น เวลาจะให้เจ้าบ่าวขึ้นเรือนหอ ให้เจ้าบ่าวยืนบนก้อนหินลับมีด ( เป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนฟ้า ยาว 12 นิ้ว ด้านกว้างราย 4-5 นิ้ว เป็นหินทรายเนื้อละเอียด ) บนก้อนหินมีหญ้าแพรกปูทับอยู่ แล้วญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าสาวก็จะราดน้ำล้างเท้าให้ ก็เป็นการสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอนให้เจ้าบ่าวตระหนักว่า มาเป็นบ่าวจะต้องใจคอหนักแน่นเหมือนหิน และขยันทำมาหากินให้เจริญรุ่งเรืองดุจหญ้าแพรก ( เป็นหญ้าที่ทนน้ำทนฝนทนแดดทนไฟ )

ปลูกต้นไม้ไว้หน้าบ้านต้องเป็นต้นมะยม หลังบ้านต้องเป็นต้นขนุน ก็เป็นการสอนให้รู้จักทำตัวให้เป็นที่รักใคร่นิยมชมชอบของเพื่อนบ้าน ( มะยม ) และรู้จักอุดหนุนจุนเจอเครือญาติพี่น้องตลอดจนคนบ้านใกล้เรือนเคียง ( ขนุน ) ใช้เป็นการสอนและใช้ต้นไม้เป็นอุปกรณ์การสอน

อาหารหรือขนมในสำรับกับข้าวก็จะใช้เป็นอุปกรณ์การสอนได้หมด เช่น ขนมจีน จะต้องจับให้ยาว ๆ ( เส้นยาว ) เพื่อให้รักกันยืดยาว ใช้ขนมจีนสอนขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองก็สอนให้รู้จักทำมาหากินให้มั่งมีเงินทอง ใช้ชื่อขนมสอน ใช้ขนมเป็นอุปกรณ์การสอน ฯลฯ

ดอกไม้ก็ต้องเป็นดอกรักดอกบานไม่รู้โรย ดอกบานชื่นดอกทานตะวัน ใช้ชื่อดอกไม้เป็นมงคลและใช้ดอกไม้เป็นอุปกรณ์การสอน

” ดอกมะเขือ ” เป็นอุปกรณ์การสอนที่แยบคาย ใช้สอนให้คนรู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น ในการไหว้ครู จะเป็นครูดนตรี ปีพาทย์ ครูมวย ครูสอนหนังสือครูอะไรก็แล้วแต่คนโบราณจะใช้ดอกมะเขือ เป็นอุปกรณ์การสอนโดยถือว่าดอกมะเขือ เป็นดอกไม้แทนความอ่อนน้อมถ่อมตน การจะฝากตัวเป็นศิษย์ต้องรู้จักกราบไหว้บูชาครู มีกิริยามารยาทที่ดีสุภาพอ่อนโยน เมื่อมาสมัครเป็นศิษย์ คุณสมบัติที่กล่าวข้างต้นใช้ดอกมะเขือสอน เพราะดอกมะเขือทุกดอกจะโน้มดอก ค้อมกลีบลงต่ำเสมอ เป็นการสอนให้ศิษย์รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เป็นครู

นอกจากการใช้ดอกมะเขือแล้ว ยังมีหญ้าแพรก ดอกเข้มมัดรวมกันไว้อีกด้วย นอกเหนือจากธูปเทียนและข้าวตอก ก็เป็นอุปกรณ์การสอนผู้เป็นศิษย์อีกเช่น กัน หญ้าแพรกหมายถึง ความเจริญงอกงามทนต่อลมฟ้าอากาศแพร่กระจายรวดเร็ว

ดอกเข็มก็ให้มีปัญญาเฉียบแหลมราวเข็ม คือฉลาดนั่นเองส่วนข้าวตอกก็ให้ปัญญาเฉลียวฉลาดคิดได้แตกฉานราวข้าวตอกที่แตกเมื่อคั่วในกระทะใบบัว

บทไหว้ครู กลอนไหว้ครู สักวาไหว้ครู

(ภาษาอ่าน) ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตรานุสาสกา
ข้าขอประณตน้อมสักการ..
บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ
ปัญญาวุฒิ กเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง

สักวาไหว้ครู บางส่วนจากการรวบรวมของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

สักวาไหว้ครู 1 วันครู

สักวาไหว้ครู 2 วันครู

สักวาไหว้ครู 3 วันครู

 

ปี คำขวัญ โดย
ปี พ.ศ. 2522 การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลายๆด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้

ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและในราชการขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกันและขอได้โปรดตระหนักถึงหน้าที่ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป

นายแพทย์บุญสม มาร์ติน
ปี พ.ศ. 2523 เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
ปี พ.ศ. 2524 ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผนอันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์ มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต
ปี พ.ศ. 2525 ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละ ยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จีงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
ปี พ.ศ. 2526 อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
ปี พ.ศ. 2527 ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด นายชวน หลีกภัย
ปี พ.ศ. 2528 การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดี มีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจเมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครูทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิดผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป นายชวน หลีกภัย
ปี พ.ศ. 2529 ครูคือผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้า และอยู่รอดปลอดภัย นายชวน หลีกภัย
ปี พ.ศ. 2530 ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี นายมารุต บุญนาค
ปี พ.ศ. 2531 ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี นายมารุต บุญนาค
ปี พ.ศ. 2532 ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
ปี พ.ศ. 2533 ครูคือผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
ปี พ.ศ. 2534 ครูคือผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี พลเอกมานะ รัตนโกเศศ
ปี พ.ศ. 2535 ครูคือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
ปี พ.ศ. 2536 ครูคือนักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
ปี พ.ศ. 2537 ครูคือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
ปี พ.ศ. 2538 อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
ปี พ.ศ. 2539 ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน นายสุขวิช รังสิตพล
ปี พ.ศ. 2540 ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและน้ำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา นายสุขวิช รังสิตพล
ปี พ.ศ. 2541 ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี นายชุมพล ศิลปอาชา
ปี พ.ศ. 2542 ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา

ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู

นายปัญจะ เกสรทอง

นางเซียมเกียว แซ่เล้า

ปี พ.ศ. 2543 ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

นายประจักษ์ เสตเตมิ

ปี พ.ศ. 2544 พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์
ปี พ.ศ. 2545 สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี
ปี พ.ศ. 2546 ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู นางสมปอง สายจันทร์
ปี พ.ศ. 2547 ครูคือพลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู นางสาวพรทิพย์ ศุภกา
ปี พ.ศ. 2548 ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นดินศรัทธาบุชาครู นายประจักษ์ หัวใจเพชร
ปี พ.ศ. 2549 ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู นางพรรณา คงสง
ปี พ.ศ. 2550 สิบหกมกรา เทิดทูน”พ่อแผ่นดิน”ภูมินทร์บรมครู นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์
 

รวบรวมจาก : ที่ระลึกวันครู 2549 ครั้งที่ 50 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

Credits : http://www.culture.go.th

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้