วันสงกรานต์ หรือ ประเพณีสงกรานต์ เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือนห้าตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯให้ตราขึ้น กล่าวถึงการพระราชพิธีเผด็จศกและพระราชพิธีลดแจตร พระราชพิธีเผด็จศกเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงสันนิษฐานว่าหมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน ๕ แสดงว่าประเพณีสงกรานต์ของหลวงมีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่

เนื้อหาในหน้านี้

[spoiler title=”สารบัญเนื้อหา” style=”fancy” icon=”plus-square-1″]

[/spoiler]

วันสงกรานต์

ที่มาของคำว่า สงกรานต์

เสฐียรโกเศศอธิบายว่า คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียกว่า “สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสุริยคติซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย อินเดียซึ่งนับถือศาสนาฮินดูมีประเพณีฉลองปีใหม่ที่เรียกว่าทิวาลี(Diwali) ในฤดูใบไม้ผลิ๓ เป็นเวลานานมาแล้วในสมัยโบราณไทยนับเดือนตามจันทรคติและฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม ประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย ในการฉลองการขึ้นปีใหม่อินเดียมีงานเรียกว่าโหลี(Holi) และมีตำนานเล่าถึงงานโหลีนี้หลายสำนวนอธิบายความเป็นมาของการเล่นสาดน้ำสี ในงานฉลองโหลีนี้คนอินเดีย มีการเล่นสาดแป้งและน้ำสีใส่กัน คนไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามีประเพณีฉลองสงกรานต์ด้วยการทำบุญ รดน้ำและสาดน้ำเพื่อแสดงความกตัญญ และแสดงความปรารถนาดีต่อกัน นอกจากนี้ยังมีตำนานซึ่งอธิบายความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ ตลอดจนการทำนายเรื่องดินฟ้าอากาศ การผลิตพืชผลและเหตุการณ์บ้านเมืองด้วย

ประเพณีสงกรานต์เป็นการฉลองการขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติแต่เนื่องจากยังนิยมนับวันทางจันทรคติกันอยู่ ช่วงเวลาฉลองสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่นจึงอาจไม่ตรงกันทีเดียว โดยปรกติอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ในล้านนาบางปีสงกรานต์อาจอยู่ในช่วงวันที่ ๑๔-๑๖ เมษายน ในภาคกลางนิยมทำบุญตักบาตรในวันที่ ๑๓ เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์คือเป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา คือวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่

ประเพณีสงกรานต์ นอกจากเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ของไทยแล้วยังพบว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสหภาพพม่า ประเทศกัมพูชา ตลอดจนกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทหลายกลุ่มก็มีประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ด้วย เช่น ไทลื้อในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา และไทเหนือในเขตปกครองตนเองใต้คง มณฑลยูนนานสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทขึนและไทใหญ่ในสหภาพพม่า ไทพ่าเก ไทอ่ายตอนและไทคำตี่หรือไทคำที่ในรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ ประเทศอินเดียน่าสังเกตว่า สังคมที่มีประเพณีสงกรานต์ล้วนเป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน

คำว่า ” สงกรานต์ ” มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการเคลื่อนที่ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า “ มหาสงกรานต์” จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ดังนั้นการกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ซึ่งทั้ง ๓ วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้

  • วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ (วันผู้สูงอายุ)
  • วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา (วันครอบครัว)
  • วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก

วันสงกราน

ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้

  1. สงกรานต์ ที่แปลว่า “ก้าวขึ้น” “ย่างขึ้น” นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
  2. มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว
  3. วันเนา แปลว่า “วันอยู่” คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว
  4. วันเถลิงศก แปลว่า “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า “วันเถลิงศก” จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น

สงกรานต์ 4 ภาค

สงกรานต์ภาคเหนือ

สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ”ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่”วันสังขารล่อง”(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา”หรือ”วันเน่า”(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน”หรือ”วันเถลิงศก” (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย”วันปากปี”(16 เม.ย.)ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ”วันปากเดือน”(17 เม.ย.)เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ภาคอีสาน

สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ”ตรุษสงกรานต์” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

สงกรานต์ภาคใต้

สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์(13 เม.ย.)เป็น”วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน”วันว่าง”(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น”วันรับเจ้าเมืองใหม่”(15 เม.ย.)จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ภาคกลาง

สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน”มหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น”วันกลาง”หรือ”วันเนา” วันที่ 15 เป็นวัน”วันเถลิงศก” ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

ประวัติวันสงกรานต์ ตำนานสงกรานต์

ประวัติวันสงกรานต์ หรือ ตำนานของสงกรานต์ นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ความว่า

ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ

นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร

ประวัติวันสงกรานต์

เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือ “ท้าวกบิลพรหม” ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า

ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด

ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด

ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด

ตำนานวันสงกรานต์

เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ เมื่อนึกขึ้นว่าพรุ่งนี้จะต้องตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม จึงจำใจหลบหนีออกจากปราสาทเข้าไปในป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน” นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีจึงอธิบายให้ฟังว่า

ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า

ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก

ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

ประวัติสงกรานต์

ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้ง 7 ของตนอันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้ธิดาทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์

ตำนานสงกรานต์

จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
  • ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

ประวัตินางสงกรานต์

นางสงกรานต์

วันอาทิตย์ นางสงกรานต์คือ นางทุงษ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์มีครุฑเป็นพาหนะ

วันจันทร์ นางสงกรานต์คือ นางโคราค ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ

วันอังคาร นางสงกรานต์คือ นางรากษหรือรากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนูมีสุกรเป็นพาหนะ

วันพุธ นางสงกรานต์คือ นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเข็ม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีลาเป็นพาหนะ

วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์คือ นางกริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน ช้างเป็นพาหนะ

วันศุกร์ นางสงกรานต์คือ นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนีเครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ กระบือเป็นพาหนะ

วันเสาร์ นางสงกรานต์คือ นางมโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ

นางสงกรานต์

ความหมายจากตำนานสงกรานต์

ตำนานสงกรานต์เป็นตำนานที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความเป็นมาของการรดน้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญในประเพณีสงกรานต์สัญลักษณ์ในตำนานมีดังนี้

ศีรษะท้าวกบิลพรหม เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ความร้อนและความแห้งแล้งเพราะช่วงที่มีประเพณีสงกรานต์เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด

น้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ดังภาษิตไทลื้อว่า “ดินก่อเกิด น้ำก่อเป็น (ดินเป็นแหล่งที่ให้พืชพันธุ์เกิดและน้ำทำให้มีชีวิตอยู่ได้) น้ำยังเป็นสัญลักษณ์ของความเย็น ความสดชื่นและความสะอาด จึงเหมาะที่จะใช้เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน และใช้แสดงถึงความสะอาดผ่องแผ้วของกายและใจที่จะเริ่มชีวิตใหม่ในโอกาสขึ้นปีใหม่

นางสงกรานต์ เป็นผู้ดูแลไม่ให้ศีรษะตกถูกพื้นดิน ทำให้ไม่เกิดภัยพิบัติน่าจะเป็นเพราะสตรีเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นแม่ เลี้ยงดูและคอยปกป้องคุ้มครองลูก จึงเหมาะที่จะช่วยคุ้มครองโลกให้ร่มเย็น และอุดมสมบูรณ์

ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีของสังคมเกษตรกรรม คนไทยในภาคกลางมีประกาศสงกรานต์ซึ่งแสดงให้เห็นคติความเชื่อทางโหราศาสตร์โดยนำเรื่องธิดาท้าวกบิลพรหมซึ่งเรียกกันว่านางสงกรานต์มาทำนายเกี่ยวกับผลผลิตทางเกษตรกรรมและเหตุการณ์บ้านเมือง ในประกาศสงกรานต์แต่ละปีจะบอกชื่อของนางสงกรานต์ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันมาถือพานที่รองรับศีรษะพ่อมีรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งกาย สัตว์พาหนะ ลักษณะการนั่งนอนบนพาหนะซึ่งจะทำนายถึงความอุดมสมบูรณ์หรือความขาดแคลนของพืชพรรณธัญญาหารความสงบเรียบร้อยหรือความยุ่งยากของบ้านเมือง

เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญแก่บรรพบุรุษ และเคยมีการเซ่นไหว้ผีด้ำหรือผีเรือน ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษในหลายโอกาส โดยเฉพาะเมื่อขึ้นปีใหม่ ดังที่ 10 ประเพณี สงกรานต์ยังพบการปฏิบัตินี้ในกลุ่มชนชาติไทที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาและรับประเพณีสงกรานต์เข้ามาเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญต่อการแสดงความกตัญญูและความปรารถนาดีต่อกัน เป็นเวลาที่ลูกหลานรำลึกถึงญาติที่ล่วงลับไป และแสดงคารวะต่อญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีในสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงมีการบำเพ็ญกุศลทางศาสนา เพื่อให้ใจผ่องแผ้วก่อนการขึ้นปีใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นประเพณีที่ผู้คนมีโอกาสสนุกสนาน มีการเล่นสาดน้ำและการละเล่นเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ

 

เกร็ดความรู้ วันสงกรานต์

1. ก่อนที่เราจะถือ วันสงกรานต์ เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายน ครั้นในปีพ.ศ. 2432 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน และต่อมาในปี พ.ศ. 2483 จอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล อย่างไรก็ดี คนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งแต่เดิมแม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่ได้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ดังเช่นปัจจุบัน จนเมื่อ พ.ศ. 2444 เป็นต้นมา จึงได้กำหนดเป็นวันที่ 13 เมษายน ตามปฏิทินเกรกอรี่

2. นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีมอญ พม่า ลาว และชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆอันเป็นชนส่วนน้อยในจีน อินเดีย ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน

3. ภาคกลาง เรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า “วันมหาสงกรานต์ ซึ่งวันนี้ทางการได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ (13 เมษายน) ” วันที่ 14 เมษายน เรียก “วันเนา” และรัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ประกาศให้เป็น “ วันครอบครัว (14 เมษายน) ” ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียก “วันเถลิงศก” คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่

4. ทางล้านนา เรียกวันที่ 13 เมษายนว่า “วันสังขารล่อง” ซึ่งบางท่านให้ความหมายว่า หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี วันที่ 14 เมษายนเรียก “วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ส่วนวันที่ 15 เมษายนเรียก “วันพญาวัน” คือวันเปลี่ยนศกใหม่

5. ภาคใต้ เรียกวันที่ 13 เมษายนว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่นแล้ว

6. ตำนานสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ สงกรานต์ และ นางสงกรานต์ ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา 7 แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือใน วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์

7. นางสงกรานต์ เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด มีด้วยกัน 7 องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็น “เมียน้อย” ของพระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมในตำนาน

8. นางสงกรานต์ มีชื่อตามแต่ละวันในสัปดาห์คือ วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ วันจันทร์ ชื่อ นางโคราคะ วันอังคาร ชื่อ นางรากษส วันพุธ ชื่อ นางมณฑา วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา วันเสาร์ชื่อ นางมโหทร

9. นางสงกรานต์ แต่ละองค์จะมีพาหนะทรงต่างกัน ตามลำดับแต่ละวัน คือ นางทุงษะขี่ครุฑ นางโคราคะขี่เสือ นางรากษสขี่หมู นางมณฑาขี่ลา นางกิริณีขี่ช้าง นางกิมิทาขี่ควาย และนางมโหทรขี่นกยูง ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหนะทรงจะมิใช่ปีนักษัตรของปีนั้นๆ ตามที่หลายคนเข้าใจผิด

10. นางสงกรานต์ ในปี 2548 อันเป็นปีระกานี้ มีชื่อนางมณฑาเทวี นอนหลับตามาบนลาที่เป็นพาหนะทรง กินนมเนยเป็นภักษาหาร ทัดดอกจำปา ประดับไพทูรย์ คือแก้วสีเหลืองแกมเขียว หรือน้ำตาลเทา มีน้ำเป็นสายรุ้งกลอกไปมา อาวุธเป็นไม้เท้าและเหล็กแหลม

11. คำว่า “ดำหัว” ปกติแปลว่า “สระผม” แต่ในประเพณีสงกรานต์ล้านนา จะหมายถึง การไปแสดงความเคารพ ขออโหสิกรรมที่อาจได้ล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการไปขอพรจากผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ในเมืองหรือครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา โดยส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยไปไหว้ท่าน และท่านก็จะจุ่มแล้วเอาน้ำแปะบนศีรษะเป็นเสร็จพิธี

12. ในสมัยก่อนเมื่อใกล้ สงกรานต์ หรือ วันสงกรานต์ จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนแต่ก่อนเรียกว่า “ตัวสงกรานต์” เป็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายไส้เดือน แต่เล็กขนาดเส้นด้าย ยาวประมาณ 2 นิ้ว มีสีเลื่อมพราย เป็นสีเขียว เหลือง แดง ม่วง เปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ จะอยู่กันเป็นฝูงในแม่น้ำลำคลอง เมื่อกระดิกตัวว่ายน้ำจะทำให้เกิดประกายสีต่างๆสวยงามแปลกตา ถ้าจับพ้นน้ำ สีจะจางหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆและเหลวละลาย ปัจจุบันเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

13. มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ 8 หมื่น 4 พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง 8 หมื่น 4 พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

 

กิจกรรมในวันสงกรานต์ ประเพณีปฏิบัติในวันสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณช่วง วันสงกรานต์ จึงเป็นวันแห่งความ เอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และ ศาสนา ดังนี้ คุณค่าต่อต่อครอบครัวทำให้สมาชิกของครอบครัวได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เช่นช่วยกันทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านใหม่ ช่วยกันทำขนมไว้ทำบุญและเลี้ยงลูกหลาน ขนมไทย สงกรานต์ กะละแม ลอดช่องน้ำกะทิ ฯลฯ จัดหาผ้าใหม่มอบให้คนรักนับถือ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รวมทั้งแสดงความกตัญญู กตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้คุณค่าต่อชุมชนทำให้เกิดความ สมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ส่งขนม / ของกินให้แก่กันและกันร่วมกันทำบุญให้ทาน พบปะสังสรรค์สนุก สนานรื่นเริงร่วมกันคุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อบุคคลในสังคมและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ต่าง ๆ คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ การปฏิบัติธรรมฟังเทศน์ การสรงน้ำพระ

กิจกรรมในวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

การก่อเจดีย์ทราย (ขนทรายเข้าวัด) จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด

ประเพณีสงกรานต์

การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ที่นิยมทำในวันสงกรานต์ ซึ่งมีประวัติเล็กน้อย คือ ก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย

ส่วนในปัจจุบัน การปล่อยนกปล่อยปลา ที่นำสัตว์ที่จับมาให้ปล่อยที่วัดต่าง ๆ  น่าจะเป็นการทำร้ายสัตว์และสร้างบาปมากกว่าการทำบุญตามคติทางพระพุทธศาสนา และเป็นการทารุณสัตว์ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม และสมควรจะพิจารณายกเลิกประเพณีนี้

การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน หรือบางท้องถิ่นอาจจัดรวมกันที่วัดก็ได้

วันสงกรานต์สรงน้ำพระ

การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี เหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อ ที่ว่าการสาดน้ำ จะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำการเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค

รดน้ำขอพรผู้ใหญ่

การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เพื่อแสดงความเคารพนับถือ ซึ่งการเตรียมของเพื่อแสดงความเคารพนั้นจะต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น

การเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่หรือที่มือ พร้อมกับคำอวยพรให้มีความสุข

การเล่นสงกรานต์สาดน้ำ

การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย

การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ของแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่ต่างกันออกไป เพื่อเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

แนวทางที่พึงปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์

  1. การบำเพ็ญกุศล ด้วยการตักบาตรหรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด รักษาศีล และสรงน้ำพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการรักษากายใจให้สะอาดผ่องแผ้ว เพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งยังเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
  2. การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว
  3. การรดน้ำ เพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณเช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา ชาวบ้านกับหัวหน้าชุมชน เป็นต้น
  4. การเล่นรดน้ำและสาดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการเล่นอย่างสุภาพพร้อมกับกล่าวคำอวยพรให้มีความสุข คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น ไม่เล่นลาดน้ำรุนแรง หรือเล่นเกินขอบเขต ไม่ดื่มสุรา ตลอดจนแต่งกายให้เหมาะสม
  5. การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานและเพื่อเชื่อมความสามัคคีรวมทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมให้คงอยู่ต่อไป

ข้อควรปฎิบัติในการเล่นสงกรานต์

รณรงค์เล่น สงกรานต์ อย่างถูกกาละเทศะ

  1. สงกรานต์ เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย กิจกรรมของ สงกรานต์ ไม่ได้มีแต่การเล่นน้ำเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมที่น่าจะทำอีกมาก เช่น การทำบุญ การทำความสะอาดบ้านเรือนและบริเวณบ้าน ซึ่งนับเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งด้วย
  2. จุดประสงของการรดน้ำ สาดน้ำในเทศกาล สงกรานต์ นั้นคือ การอวยพรและขอพรกันด้วยน้ำ มิใช่ตั้งใจให้เป็นการเล่นหรือต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตาย
  3. การประแป้งดินสอพอง แต่เดิมเป็นเพียงการแต่งตัวตามสมัยนิยมของแต่ละคน ดังนั้นใครอยากประแป้งก็ประเอง ไม่ต้องไปประให้เขา การถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่ใช่มารยาทที่ดีของสุภาพชน อย่าทำเลย
  4. การรดน้ำ สงกรานต์ ที่ถูกต้องมี 2 ประเภท คือ
    4.1 การรดน้ำผู้ใหญ่ ( ธรรมเนียมดั้งเดิมนิยมว่าควรมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ) เป็นการรดน้ำเพื่อแสดงความเคารพและขอพรจากท่าน เมื่อไปรดน้ำที่มือท่าน ไม่ต้องไปอวยพรท่าน เพราะเราเป็นเด็ก รอรับพรจากท่านก็พอ ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ให้พรเอง
    4.2 การรดน้ำผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรืออ่อนวัยกว่า เป็นการรดน้ำอวยพร ถ้าจะให้สุภาพควรขออนุญาตเสียก่อน แล้วจึงรดน้ำที่หัวไหล่ และสามารถกล่าวอวยพรได้ตามต้องการ ถ้าสนิทสนมกันอยู่แล้วก็สามารถรดน้ำและเล่นสนุกสนานได้ตามประสาเพื่อน แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในขอบเขตของมารยาท ศีลธรรม และความปลอดภัย
  5. น้ำที่นำมา รดและสาดกันถือเป็นสิ่งที่เป็นมงคล ดังนั้นจึงต้องเป็นน้ำสะอาด น้ำอบ น้ำหอมน้ำดอกไม้ ( ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำอบไทยเสมอไป น้ำอบฝรั่งก็ได้ ) แต่ไม่ควรใช้น้ำสกปรกหรือน้ำแข็งเด็ดขาด
  6. ของ รด ที่นำไปมอบให้ผู้ใหญ่ ตามธรรมเนียมมักเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการอาบน้ำและการแต่งตัวเป็นหลัก เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้านุ่ง ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู สบู่ น้ำหอม แป้ง ของเหล่านี้เป็นของหลักซึ่งจำเป็นต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกอย่างที่กล่าวมา เลือกจัดให้ตามความเหมาะสม ส่วนของอื่นๆ เช่น ดอกไม้ ขนม นั้นเป็นของประกอบ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้
  7. การกราบเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง โดยการยอบตัวลง พนมมือ และก้มลงจนมือที่พนมไว้ ท้องแขน และศีรษะจดพื้น ตรงหน้าคนหรือสิ่งที่เราตั้งใจจะกราบ การกราบปกติไม่ต้องแบมือ ไม่ว่าสิ่งของหรือบุคคลนั้นจะเป็นที่เคารพอย่างสูงเพียงใด จะแบมือก็เฉพาะกราบพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์เท่านั้น
  8. การสรงน้ำพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ ไม่ควรรดน้ำลงตรงๆ ที่พระเศียรหรือส่วนศีรษะ ให้รดน้ำลงในส่วนอื่นๆ จะสุภาพเหมาะสมกว่า
  9. การรดน้ำ ดำหัว เป็นประเพณีของไทยภาคเหนือกลุ่มล้านนา ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างเป็นพิเศษจากภาคอื่นๆ คำว่าดำหัว เป็นภาษาถิ่น ไม่ควรนำไปใช้เรียกการรดน้ำสงกรานต์ของภาคอื่นๆ เพราะจะทำให้ผิดความหมาย
  10. สงกรานต์เป็นประเพณีของคนไทยทุกศาสนา ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น การทำบุญก็เลือกถือปฏิบัติตามแนวของศาสนาที่ตนนับถือได้ ส่วนกิจกรรมอื่นๆเป็นของกลางๆใครๆก็ปฏิบัติได้
  11. สงกรานต์ปีหนึ่งมีหนเดียว ขอเชิญชวนให้แต่งกายแบบไทยๆ เป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมอันดีงามของเรา เท่ และ ไม่ร้อนดีด้วย

เล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีกาละเทศะ

 

คำทำนายวันสงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์

คำทำนายวันสงกรานต์ เป็นคำทำนายตามความเชื่อของผู้คนสมัยก่อน เพื่อจะได้ตระเตรียมการป้องกันหรือหาวิธีรับมือและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีคำทำนายในแต่ละศาสตร์ด้วยเช่นกัน

คำทำนายวันสงกรานต์

คำทำนายสมัยก่อน จะมีคำพยากรณ์ตามวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในสัปดาห์ ในแต่ละปี โดยมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้

วันมหาสงกรานต์

  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันจันทร์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอังคาร โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันพุธ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันพฤหัสบดี ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันศุกร์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก
  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันเสาร์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง

วันเนา

  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันอาทิตย์ ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันจันทร์ มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันอังคาร ผลหมากรากไม้จะแพง
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันพุธ ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันพฤหัสบดี ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันศุกร์ พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ
  • ถ้าปีใดวันเนาเป็นวันเสาร์ ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ

วันเถลิงศก

  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันอาทิตย์ พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันจันทร์ พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันอังคาร ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันพุธ บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันพฤหัสบดี สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันศุกร์ พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
  • ถ้าปีใดวันเถลิงศกเป็นวันเสาร์ บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

 

คำทำนายนางสงกรานต์

  • วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี คำทำนาย ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารในเลือกสวนไร่นาไม่สู้งอกงามนัก
  • วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี คำทำนาย ปีนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และราชบริพารจะเรืองอำนาจ
  • วันอังคาร นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี คำทำนาย ปีนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย
  • วันพุธ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี คำทำนาย ปีนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้ยศถาบรรดาศักดิ์จากต่างประเทศ
  • วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี คำทำนาย ปีนั้นจะแพ้ผู้เป็นใหญ่และเจ้าไททั้งมวล
  • วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี คำทำนาย ปีนั้นพืชพรรณธัญญาหารอุดม ฝนหนัก พายุร้าย จะเจ็บตากันมาก
  • วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี คำทำนาย ปีนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยกันมาก

คำทำนายนางสงกรานต์

คำทำนายวันสงกรานต์ 2

คำพยากรณ์อันเป็น ความเชื่อทางล้านนา

วันมหาสงกรานต์ หากตรงกับวัน…

  • วันอาทิตย์ ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ(เป็นโรค) ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง หนอนแมลงจักลงกินพืชไร่ข้าวนา ฝนตกบ่ทั่วเมือง คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย ไม้ยางเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่
  • วันจันทร์ ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง
  • วันอังคาร ปีนั้นฝนหัวปีดี กลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย(ได้ผลน้อย) บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อยช้าง
  • วันพุธ ปีนั้นฝนตกบ่ทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อย ข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ ไม้สะเดา เป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้คราม
  • วันพฤหัสบดี ปีนั้นฝนตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ ไม้สักเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว
  • วันศุกร์ ปีนั้น ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ไม้สะเดาเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทธา
  • วันเสาร์ ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพง

คำทำนายสงกรานต์

 

สงกรานต์ 2563

เนื่องจาก สถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ประกอบกับข้อมูล จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19ได้ง่ายและเริ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อของบุคคลในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์

ดังนั้น วธ. จึงปรับปรุงแก้ไขแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ โดยให้ใช้แนวทางปฏิบัติที่มีการปรับปรุงฉบับใหม่ ดังนี้

1. งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ
2. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา
3. งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี
4. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด
5. เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้ปฏิบัติ ดังนี้

5.1 สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน
5.2 คนที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ให้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ด้วยการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยไม่แสดงความรักต่อกันด้วยการกอดหรือหอม และสมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
5.3 คนที่อยู่ห่างไกลบ้านให้แสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ โดยผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์

สงกรานต์ 2563 กับสถาการณ์ โควิด 19

ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia.org และ กระทรวงวัฒนธรรม

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้