บทกรวดน้ำ เริ่มต้นด้วยความหมายของการกรวดน้ำ การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศบุญกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับพร้อมกับรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตใจอุทิศนั้นแน่วแน่

วิธีปฏิบัติ
เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑี ขวดเล็ก แก้วน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอพระสงฆ์เริ่ม อนุโมทนาด้วยบท ยถา… ก็เริ่มกรวดน้ำ โดยตั้งใจ นึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะน้ำริน ใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ พอพระรูปที่ ๒ รับว่า “สัพพีติโย” ก็หยุดหลั่งน้ำกรวด แล้วเทน้ำ กรวดที่ยังเหลืออยู่นั้นลงในภาชนะที่รองรับน้ำให้หมด แล้วประณมมือรับพร การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดินควรหลั่งลง ในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ ที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น ถาดหรือขัน เป็นต้น รองน้ำกรวดไว้เสร็จแล้วจึงนำไป เทลงดินตรงที่สะอาด อย่าใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็น สักขีพยานในการทำบุญของตนว่าทำด้วยใจสะอาดจริง ๆ

บทกรวดน้ำ

บทกรวดน้ำ

บทกรวดน้ำแบบยาว พร้อมคำแปลแต่ละบรรทัด

อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
ด้วยบุญนี้ อุททิศให้ อุปัชฌาย์ ผู้เลิศคุณ
อาจะริยูปะการาจะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา ( ปิยา มะมัง )
และอาจารย์ ผู้เกื้อหนุน ทั้งพ่อแม่ และปวงญาติ
สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
สูรย์จันทร์ และราชา ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ
พรัหมะมารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา
พรหม มาร และอินทราช ทั้งทวยเทพ และโลกบาล
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
ยมราช มนุษย์มิตร ผุ้เป็นกลาง ผู้จองผลาญ
สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
ขอให้สุขศานติ์ทุกทั่วหน้า อย่าทุกข์ทน บุญผองที่ข้าทำจงอำนวยศุภผล
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง
ให้สุขสามอย่างล้น ให้ลุถึงนิพพานพลัน
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ด้วยบุญนี้ที่เราทำ และอุทิศให้ปวงสัตว์
ขิปปังหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง
เราพลันได้ ซึ่งการตัด ตัวตัณหา อุปาทาน
เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
สิ่งชั่วในดวงใจ กว่าเราจะถึงนิพพาน
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
มลายสิ้นจากสันดาน ทุกๆ ภพ ที่เราเกิด
อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
มีจิตตรง และสติปัญญาอันประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย
มารา ละภันตะ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
โอกาสอย่าพึงมีแก่หมูมารทั้งสิ้นทั้งหลาย เป็นช่อง ประทุษร้ายทำลายล้างความเพียรจม
พุทธาทิปะวะโร นาโถธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
พระพุทธผู้วรนาถ พระธรรมที่พึ่งอุดม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
พระปัจเจกะพุทะสมทบ พระสงฆ์ ที่ผึ่งพยอง
เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา
ด้วยอานุภาพนั้น อย่าเปิดโอกาสให้แก่มาร ( เทอญ)

กรวดน้ำแบบย่อ

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโยฯ
ขอผลบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของ ข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข สุขใจเถิดฯ

วิธีกรวดน้ำ

วิธีกรวดน้ำ

เพิ่มเติม วิธีการกรวดน้ำ

1. การกรวดน้ำมี 2 วิธี คือ
กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้

2. การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คือ
อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้
อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น
ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ที่เหลือก็อุทิศรวมๆ

3. น้ำกรวด ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดและไปเทในที่สะอาด
อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก

4. น้ำเป็นสื่อ–ดินเป็นพยาน การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน
ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ

5. ควรกรวดน้ำตอนไหนดี 
ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนาหรือหลังทำบุญเสร็จ
แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล 2ประการ คือ
– ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที
– การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย

6. ควรรินน้ำตอนไหน
ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศ ในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหาปูรา…”และรินให้หมดเมือ่พระว่ามาถึง “…มะณิโชติระโส ยะถา…” พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า
“สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” เราก็พนมมือรับพรท่านไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง

7. ถ้ายังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ จะทำอย่างไร
ก็ควรใช้บทกรวดน้ำที่สั้นๆหรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น
“อิทัง โน ญาตีนังไหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขออุทิศส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่…(ออกชื่อผู้ล่วงลับ)
และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด”
หรือจะใช้แต่ภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ว่า
“ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงสำเร็จแก่ พ่อ แม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ
เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ”
ส่วนบทยาวๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตรสวดมนต์รวมกันก็ได้

ข้อสำคัญ ถ้าเป็นภาษาพระ ควรจะรู้คำแปลหรือความหมายด้วย ถ้าไม่รู้ความหมาย
ก็ควรใช้คำไทยอย่างเดียวดีกว่า เพราะป้องกันความโง่งมงายได้

8. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้ ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี
เกาะตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง ถ้าเป็นในงานพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน
รินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้

9. การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อ
และความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก
ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย

10. บุญเป็นของกายสิทธิ์ ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลยเราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : kaentong.com
คำค้น: บทกรวดน้ำ บทกรวดน้ำแบบย่อ วิธีกรวดน้ำ

กลับขึ้นไปด้านบน | กลับสู่หน้าหลัก  บทสวดมนต์