กลยุทธ์ใช้บัตรเครดิต ยุคเงินฝืด แบบชาญฉลาด

เศรษฐกิจทรุด เงินในกระเป๋าเหลือน้อย หากรายได้ไม่เพิ่ม แนะเคล็ดลับในการใช้บัตรเครดิตให้คุ้มค่า ผู้บริหารบัตร KTC ย้ำไม่สนับสนุนให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย สำคัญที่สุดคือวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายผ่านบัตรได้ส่วนลดค่าสินค้าและบริการ ได้แต้มสะสม นำแต้มมาแลกของที่หมายตา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ต้องเลือกบัตรให้เหมาะกับความต้องการเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์คุ้มที่สุด ไม่แนะนำให้พกบัตรเกิน 2-3 ใบ รับยังมีปัญหาที่บางสถานที่บวกเพิ่มถ้าจ่ายผ่านบัตรหรือให้ส่วนลดถ้าจ่ายเงินสดที่ต้องเร่งแก้

กลยุทธ์ใช้บัตรเครดิต

ท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่หยุดชะงักทั้งจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ รวมถึงผลพวงจากโครงการประชานิยมจากรัฐบาลชุดก่อน ทำเอากำลังซื้อของคนในประเทศหดหายไปไม่น้อย รวมถึงค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แถมด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในต่างประเทศ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำทั่วโลก กำลังซื้อจากต่างประเทศลดต่ำลง

ล้วนกระทบมาถึงเงินในกระเป๋าของคนไทยแทบทุกคน เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แม้กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2558 ลดลงมาอยู่ 2.8% จากที่เคยประเมินกันไว้ที่ 3-3.5%

อีกหนึ่งสัญญาณของเศรษฐกิจที่ไม่ดีในปี 2558 นั่นคือยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนของบัตรเครดิตที่เดือนกันยายนอยู่ที่ 10,147 ล้านบาท ขณะที่สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 8,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,832 ล้านบาท สะท้อนถึงสถานะทางการเงินภาคบุคคลได้ว่าความสามารถในการชำระหนี้เริ่มลดน้อยลง

ที่ผ่านมาบัตรเครดิตถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย จนกลายเป็นหนี้มากขึ้น ดังนั้นท่ามกลางที่เศรษฐกิจของไทยซบเซาลงในเวลานี้ จะมีวิธีการใช้บัตรเครดิตให้คุ้มค่าและช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างไร

ใช้ให้เป็น-ลดค่าใช้จ่ายได้

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ได้ให้คำแนะนำในการใช้บัตรเครดิตในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการชำระเงิน การมีบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องเลวร้ายถ้าคุณมีวินัยทางการเงิน ทุกวันนี้การใช้บัตรเครดิตให้สิทธิประโยชน์มากกว่าการใช้เงินสด มีความปลอดภัยกว่าการถือเงินสด เพราะสมัยนี้อันตราย ถ้าเงินหายแล้วก็หายเลย บัตรเครดิตอย่างน้อยยังมีในเรื่องของความคุ้มครอง

ประการต่อมาการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หากใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะให้ความคุ้มค่ามากกว่าการใช้เงินสด สินค้าที่ซื้อด้วยบัตรเครดิตจะมีคะแนนสะสมให้ ผู้ใช้บัตรสามารถนำเอาคะแนนไปแลกเป็นอย่างอื่นได้ เป็นส่วนลดต่างๆ หรือทานอาหารแล้วได้ส่วนลด

อย่างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ การใช้บัตรเครดิตก็ช่วยให้ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้ เช่น ซื้ิอสินค้าตามห้างต่างๆ บางบัตรที่ให้ส่วนลดเช่นจันทร์ถึงศุกร์ลด 12% เสาร์อาทิตย์ลด 15% เป็นต้น ท่านก็จะได้คะแนนสะสมมาแล้วนำคะแนนที่ได้ไปแลกสินค้าที่ท่านต้องการเท่ากับท่านได้ของนั้นมาฟรี

การมีบัตรเครดิตติดกระเป๋าไว้ เราอาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่บัตรเครดิตสามารถใช้ในยามฉุกเฉินได้ เช่น ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือจำเป็นต้องใช้เงินก้อนซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งบัตรเครดิตถือเป็นเครดิตของตัวเราเองไม่ต้องเอ่ยปากขอใคร

อีกประการหนึ่งบัตรเครดิตเป็นตัวพิสูจน์เครดิตของตัวท่านเอง ในเมืองไทยคนยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเครดิตส่วนตัวว่าสำคัญแค่ไหน ถ้ามีบัตรเครดิตไว้หากท่านรักษาเครดิตให้ดี จะเป็นตัวที่ทำให้คุณสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคตได้ดีขึ้น เนื่องจากบางท่านไม่มีหลักฐานทางการเงินอย่างอื่นเลย วันหนึ่งหากท่านต้องกู้ซื้อบ้านซื้อรถการมีบัตรเครดิตแล้วประวัติทางการเงินของท่านสะอาด จะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เนื่องจากประวัติการชำระเงินของบัตรเครดิตจะเข้าไปรวมอยู่ในเครดิตบูโร ทำให้ฝ่ายสินเชื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ใช้บัตรเครดิตแบบฉลาดใช้

ต้องเลือกบัตรให้คุ้มค่า

สำหรับการใช้บัตรเครดิตอย่างคุ้มค่านั้น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต KTC แนะนำว่า อันดับแรกต้องเลือกก่อนว่าบัตรเครดิตไหนเหมาะกับคุณ เนื่องจากทุกวันนี้บัตรเครดิตมีหลากหลาย ต้องสำรวจตัวเองว่าความต้องการของตัวเองเหมาะกับบัตรใบไหน ซึ่งวันนี้เป็นตลาดของผู้บริโภคจริงๆ เช่น ถ้าเป็นคนที่ต้องเติมน้ำมันเยอะมากต้องเลือกว่าบัตรใบไหนให้ cash back ที่ให้ความคุ้มค่าและสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า ถ้าคุณชอบทานอาหารต้องดูว่าร้านอาหารร้านไหนให้สิทธิประโยชน์อย่างไร

เราต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละบัตรให้ดี ศึกษาเงื่อนไข ค่าธรรมเนียมต่างๆ บัตรเครดิตมีทั้งเก็บค่าธรรมเนียม ไม่เก็บค่าธรรมเนียม บางบัตรเครดิตบอกไม่เก็บค่าธรรมเนียมแต่ต้องใช้ตามเงื่อนไขที่ผู้ออกบัตรกำหนดจึงจะได้รับการยกเว้น ดังนั้นต้องพิจารณาว่าเราใช้จ่ายได้ตามยอดที่บัตรนั้นกำหนดมาหรือไม่

ต่อมาให้พิจารณาในเรื่องบริการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่อยากให้คิดถึงความคุ้มค่าเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคำนึงถึงบริการหลังการขายของบัตรเครดิตนั้นๆ ด้วย ความสะดวกเวลาใช้บัตรแล้วเราชำระเงินได้ที่ไหน หรือถ้าเรามีเรื่องเดือดร้อนแล้วเราโทร.เข้าไปแล้วมีคนช่วยเราตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ ต้องมองเรื่องบริการเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจด้วย

สิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตบางประเภทจะรวมไปถึงการให้บริการฉุกเฉินต่างๆ เช่น ยางรถยนต์แตก หรือแบตเตอรี่หมด อย่างบัตร Infinite ของ KTC หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น สามารถโทร.ไปที่ Call Center ของบัตรได้ ซึ่งจะมีทีมฉุกเฉินมาชาร์จแบตเตอรี่ให้ หรือถ้ารถยนต์สตาร์ทไม่ติดก็จะมีบริการรถลากให้ฟรี หรือถ้าน้ำมันหมดก็จะมีบริการเติมน้ำมันตามที่กำหนดไว้ในบัตรฟรี ถือว่าเป็นประโยชน์มากกับการเดินทางในปัจจุบันและสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ถือบัตรโดยเฉพาะสุภาพสตรีที่เกิดปัญหานี้ขึ้นระหว่างเดินทาง

ถ้าท่านผู้ที่ต้องเดินทางบ่อยก็ควรเลือกบัตรที่ให้สิทธิประโยชน์ในด้านซื้อตั๋วเครื่องบินและเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บัตรของเราใช้ในต่างประเทศแล้วเสีย Exchange rate น้อยกว่าที่อื่น มีประกันอุบัติเหตุหรือประกันความไม่สะดวกในการเดินทาง อย่างการซื้อตั๋วเครื่องบิน จะมี one stop service ตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่าที่อื่น ใช้บัตรได้ไม่โดน service charge อีก 3%

กระตุ้นเศรษฐกิจได้

เมื่อบัตรเครดิตมีหลากหลายอย่างนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าต้องมีบัตรหลายๆ ใบ เพียงแค่เลือกให้ตรงกับความต้องการเพราะในการใช้จ่ายตามปกตินั้นไม่ควรมีบัตรเครดิตเกิน 2-3 ใบ เพราะหากเกิดการลืมจ่ายเงินจะต้องมีค่าปรับเพิ่ม อย่างมากผู้ออกบัตรก็อาจจะยกเว้นให้เพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ต้องศึกษาอีกว่าเวลาที่ต้องไปชำระเงินนั้นจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มอีก 15-20 บาทหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ท่านไม่ควรต้องเสีย

ดังนั้นควรเลือกบัตรเครดิตให้เหมาะกับความต้องการของท่านให้มากที่สุด พิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดรวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ดี

บัตรเครดิตช่วยให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่กำลังซื้อปลอม คนที่ทำการตลาดบัตรเครดิตไม่อยากให้ใครใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย คือคนใช้ต้องมีวินัย เช่นคนที่ทำงานประจำ ทราบแล้วว่าในปลายปีจะได้โบนัส แต่ในช่วงนี้อยากท่องเที่ยว ก็เลือกแบบผ่อนชำระก่อนก็เป็นไปได้ ก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้ คือถ้าคนกลัวไม่กล้าใช้เศรษฐกิจจะไม่หมุน

อีกอย่างหนึ่งบัตรเครดิตทำให้ทุกอย่างเข้าระบบ รัฐบาลสามารถตรวจสอบเรื่องภาษีของรัฐบาลจากร้านค้าต่างๆ ได้ ทำให้การจัดเก็บรายได้ภาครัฐทำได้อย่างเป็นระบบ

บวกเพิ่ม ปัญหาที่แก้ไม่จบ

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วปัญหาที่ผู้ใช้บัตรเครดิตพบเป็นประจำนั่นคือ บางร้านค้ามักเรียกเก็บค่าสินค้าเพิ่ม 3% หากต้องการชำระด้วยบัตรเครดิต หรือในบางสถานที่ระบุไว้ว่า ชำระเป็นเงินสดลด 3%

ตรงนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน เราพยายามแก้ปัญหาอยู่และทำความเข้าใจกับร้านค้า จริงๆ แล้วมีข้อตกลงของบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ดและเจซีบีว่าเมื่อยินดีที่จะรับชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเหล่านี้แล้ว ต้องไม่มีการบวกเพิ่ม ซึ่งเราห้ามเขาในเรื่องนี้ไม่ได้ ต้นทุนที่ร้านค้าแบกรับอยู่เฉลี่ยเพียง 2% น่าจะเป็นสิ่งที่ร้านค้ารับได้ เทียบกับการทำตลาดของผู้ออกบัตรเครดิตที่สนับสนุนร้านค้าผ่านกิจกรรมทางการตลาด

เมื่อเป็นอย่างนี้ลูกค้าก็ต้องพิจารณาว่าจะเลือกชำระเงินแบบใด หากมีเงินสดอยู่แล้ว หากคำนวณแล้วคุ้มค่ากว่าก็เลือกชำระเป็นเงินสดไป

หลักสำคัญที่สุดของการใช้เงิน ไม่ว่าจะใช้เงินสดหรือบัตรเครดิต คือ คุณต้องมีวินัยทางการเงิน รักษาเครดิตของตัวเองให้ดี การมีบัตรไว้ไม่เสียหาย หากไม่ใช้ก็เก็บไว้ในกระเป๋า แต่จะมีประโยชน์ในยามฉุกเฉิน

ดังนั้นการใช้บัตรเครดิตในชีวิตประจำวัน หากเราใช้ให้เป็น มีวินัยทางการเงิน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ และเลือกใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตให้คุ้มค่า

ที่มา Manager.co.th