ปลดล็อก วัยเกษียณ 55-60 ปี เพื่อสังคมไทยมีแรงงานสูงวัยเปี่ยมคุณภาพ

ปลดล็อคเกษียณอายุ

                ความเชื่อที่ว่า “60 ปี ถึงวัยเกษียณ” หรือมโนทัศน์เดิมในสังคมที่มักมองคนชราในแง่ลบ ว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มร้อย จนนำไปสู่การยุติการทำงานหรือเลิกจ้างอาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะจากการสำรวจของหน่วยงานรัฐล่าสุด พบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยกว่าร้อยละ 30 ยังมีศักยภาพในการทำงานและพึ่งพาตนเองได้

ขณะเดียวกันประเทศไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยในปี 2573 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด” โดยสัดส่วนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนขาดแคลนแรงงาน เพราะเมื่อปลดระวางแรงงานสูงอายุออกจากระบบ แต่กลับไม่มีแรงงานวัยหนุ่มสาวเข้ามาเสริมในส่วนที่เสียไป กระทบต่อขีดความสามารถในการผลิต การลงทุน และการพัฒนาประเทศในภาพรวม

ทั้งยังมีแรงงานสูงอายุจำนวนไม่น้อยขาดวินัย ไม่ยอมวางแผนออมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเกษียณอายุแล้วจึงขาดรายได้เลี้ยงดูตนเอง ซึ่งหลายคนมีชีวิตบั้นปลายที่ลำบาก โดยสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยและแจ้งว่ามีสาเหตุมาจากผู้สูงอายุไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้รับการศึกษา ขณะที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3,013 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,751 บาทต่อเดือน ร้อยละ 40 มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 40,179 บาท ทำให้ผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 58 ยังต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ และที่สำคัญผู้สูงวัย 2 ใน 3 ให้ความเห็นว่าคนแก่ยังควรทำงาน และเห็นว่าการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

หลากปัญหาในข้างต้นล้วนเป็นที่มาของการหยิบยกประเด็น “ขยายอายุเกษียณ” หรือการขยายอายุการทำงานของผู้ปฏิบัติงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้ยาวนานขึ้น  ขึ้นถกพูดคุยในหลายเวที

เช่นเดียวกับ เวทีนโยบายสาธารณะ “มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ” ที่ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) พร้อมด้วย นักวิชาการ ตัวแทนผู้สูงอายุ และ แรงงานผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความต้องการและรวบรวมข้องคิดเห็น ก่อนนำไปวิเคราะห์และเสนอปรับใช้เป็นนโยบายระดับชาติ ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขาฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแรงงานผู้สูงอายุในปัจจุบันว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยรวม ถูกกำหนดให้พ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถืออายุ 60 ปี เป็นตัวกำหนดความเป็นผู้สูงอายุมาช้านาน

ส่วนภาคเอกชน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยใช้วิธีกำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาจ้างเอาไว้ล่วงหน้าในข้อบังคับการทำงาน แต่เพราะกฎหมายกำหนดเกณฑ์อายุในการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมกรณีชราภาพไว้ที่อายุ 55 ปี ดังนั้นจุดนี้จึงถูกนำมาใช้อ้างอิงเป็นอายุเกษียณสำหรับแรงงานในภาคเอกชน ซึ่งกลายเป็นข้อกำหนดที่ทำให้แรงงานภาคเอกชนขาดความเท่าเทียมกับภาครัฐที่ยุติการทำงานที่อายุ 60 ปี

“ถึงเวลาต้องเปลี่ยนทัศนคติสังคมไทยที่มองว่าผู้สูงวัยทำงานไม่ได้ เพราะในประเทศญี่ปุ่นอายุเกษียณคือ 67 ปี แต่ของไทยให้ผู้สูงวัยเกษียณตั้งแต่อายุ 55 ปี และค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 74 ปี อีกทั้งผู้สูงวัยส่วนมากเก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณพอเลี้ยงชีพได้แค่ราว 10 ปี เท่ากับว่าอีก 9-10 ปีที่เหลือ คนแก่ในสังคมไทยต้องอยู่อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่ถูกผลักให้เป็นแรงงานนอกระบบ เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ” รักษาการเลขาฯ มส.ผส. ระบุเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม พญ.ลัดดา แนะนำทางออกในเรื่องนี้ไว้ว่า 1.ควรเสนอให้ขยายอายุเกษียณภาครัฐเป็น 65-70 ปี สำหรับประเภทงานที่ใช้วิชาการระดับสูง เช่น อาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนงานที่ใช้กำลังกายหนัก หรืองานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ขับเครื่องบิน ควบคุมจราจร ทหาร ตำรวจ ควรยกเว้นให้เกษียณอายุได้เร็วขึ้นที่ 55 ปี หรือ 2.ให้แรงงานสามารถตัดสินใจเลือกเองว่าจะเกษียณอายุหรือไม่ เมื่อทำงานจนถึงอายุ 55 ปี

3.ในอีกกรณีที่นายจ้างสามารถช่วยให้การขยายอายุเกษียณในสังคมไทยเกิดขึ้นได้จริง คือการจัดหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมกับคนวัยเกษียณ เช่น ปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานให้เบาลง เพื่อให้แรงงานยังสามารถทำงานอยู่ในองค์กรเดิมได้ เท่ากับว่านายจ้างไม่ขาดคน ลูกจ้างสูงวัยก็มีค่าครองชีพไว้ใช้จ่าย 4.ให้สถาบันกลางหรือสถาบันอิสระจัดทำระบบประเมินสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานอายุ 55 ปี ขึ้นไป เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนเสื่อมวัยไม่เหมือนกัน หากไม่ผ่านประเมินก็ให้เกษียณอายุก่อนกำหนดได้

“ในทางกลับกันผู้สูงอายุต้องปรับตัวเองด้วยการศึกษาเทคโนโลยีให้มากขึ้น และดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำเพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง พักผ่อนให้เพียงพอด้วยการเข้านอนแต่หัวค่ำ และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง”

ด้าน ตาจันทร์ น้อยบุตร วัย 75 พร้อมภรรยา ยายทองล้วน น้อยบุตร วัย 65 สองผู้สูงวัยจากเขตวังทองหลาง กทม. สะท้อนความคิดเห็นต่อเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อผู้สูงอายุในครั้งนี้ว่า อยากให้รัฐเข้ามาช่วยอุดหนุนทุนเพื่อประกอบอาชีพให้ผู้สูงวัย นอกเหนือไปจากเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600 บาท ซึ่งเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาพื้นที่บ้านที่มีอยู่ในตัว ให้กลายเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย

“ทุกวันนี้ตาพิสูจน์ให้คนที่เคยพูดสบประมาทว่าแก่ขนาดนี้จะทำอะไรกินได้ ไปตรงไหนก็ไม่มีใครจ้าง ให้เขาได้รู้ว่าหากคนแก่มีความพยายามและลงมือทำจริงจัง ก็สามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวได้ ซึ่งของตาเองได้รื้อฟื้นการทำพิณอีสานที่เคยทำเล่นเองเมื่อตอนเด็กๆ ขึ้นมา แม้เสียงจะเพี้ยนในช่วงแรกแต่ก็พอขายได้จนมีทุนทำต่อเนื่อง จากนั้นลูกศิษย์ที่เข้ามาเรียนเล่นและทำพิณได้ช่วยปรับประยุกต์ตัวโน้ตให้ได้มาตรฐานมากขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นสินค้าชิ้นเอกในพื้นที่ สนนราคาตัวละ 3,000-5,000 บาท โดยช่วง 3 ปี ตั้งแต่เริ่มทำมาขายได้ 100 กว่าตัวแล้ว ก็ปลดหนี้ปลดสินและเลี้ยงครอบครัวมาจนทุกวันนี้” ตาจันทร์ กล่าว

ขณะที่ ยายทองล้วน บอกว่า ปกติแล้วผู้สูงวัยในสังคมไทยต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างมาก หลายคนยังสนุกและมีความสุขกับการทำงานหรือมีงานให้ทำ บ้างก็เกาะเป็นกลุ่มก้อนเพื่อช่วยเหลือกันเอง ซึ่งขอยืนยันว่าพวกเราต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ให้ลูกหลานเห็นว่าเราไม่ได้เป็นภาระ และสามารถเป็นที่พึ่งในการให้คำปรึกษาแก่พวกเขาได้

คราวนี้ก็รอลุ้นกันว่า รัฐบาลและภาคเอกชนจะหยิบนำข้อเสนอและผลการวิจัยที่ตกผลึกเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ไปใช้ทิศทางไหน และจะลงมือเริ่มจริงจังเมื่อใด เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติให้ “ผู้สูงวัย” ที่มากด้วยความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเกือบทั้งชีวิต

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก