เก็บเงินวัยเกษียณ อลิอันซ์แนะ เก็บเงินเพิ่มเพื่อใช้ในวัยเกษียณ (1)

ปัจจุบันโครงสร้างบำนาญของไทยไม่สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียนที่สะดวกสบาย คนทำงานควรพิจารณายืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้น หรือเก็บเงินผ่านทางเลือกต่างๆ เพื่อให้อัตราทดแทนรายได้หลังเกษียนอยู่ที่ 47%

ซึ่งรายได้หลังเกษียณจากระบบบำนาญของไทย ถูกจัดให้อยู่ในลำดับท้ายๆ จากผลการวิจัย Allianz’ Retirement Income Adequacy (RIA) indicator ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มอลิอันซ์ เพื่อวัดความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณของประชากรในประเทศกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 49 ประเทศ

โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุการเกษียนในระดับต่ำที่สุด (อยู่ที่ 55 ปี) มีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง รวมทั้งอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ต่ำ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมหลังเกษียนให้เพียงพอและเหมาะสมจึงถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว

เก็บเงินวัยเกษียณ

นางสาวบริกิท มิกซา หัวหน้าฝ่ายบำนาญ กลุ่มอลิอันซ์ กล่าวว่า ประเทศไทย ถูกจัดอันดับในดัชนีชี้วัดความเพียงพอของรายได้หลังเกษียน (RIA) ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ทั้งนี้ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย แต่ต่ำกว่าประเทศตุรกี และสิงคโปร

สำหรับการเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายระบบบำนาญให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึงกว่า 25 ล้านคนในประเทศไทย ด้วยการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ จะทำให้ประเทศไทยมีระบบที่ครอบคลุมแบบหลายเสาหลัก ตามรูปแบบของธนาคารโลกและจะช่วยลดภาวะยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะในแถบชนบท

นอกจากกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว พนักงานบริษัททั่วไปก็ได้รับการดูแลครอบคลุมผ่านรูปแบบการออมในกองทุนประกันสังคม รวมทั้งการออมด้วยความสมัครใจผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ในขณะที่ข้าราชการสามารถพึ่งพาระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และระบบบำนาญที่ลูกจ้างไม่ต้องออกเงินสมทบ

ดังนั้น หากมองในเรื่องของความเพียงพอ ยังมีความเสี่ยงว่าผู้เกษียณจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงหลังเกษียณ แต่หากมองในเรื่องของความยั่งยืน ถือว่ายังมีข้อดี เพราะระบบบำนาญที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้เกิดภาระที่มากเกินไปต่อสถานะทางการเงินของประเทศ

เก็บเงินเกษียณ

ทั้งนี้ หากผู้สูงวัยมีฐานะจนลงมากหลังเกษียณ รัฐบาลอาจต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ และนั่นอาจนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของระบบบำนาญก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในมาตรการที่น่าจะได้ผลมากที่สุดเพื่อให้เกิดความเพียงพอ คือ การยืดอายุการทำงาน ถือเป็นการลดความเสี่ยงของการใช้ทรัพย์สินหมดก่อนสิ้นชีวิต และยังเป็นการเพิ่มระยะเวลาการออม และเพิ่มโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินที่ได้ออมไว้

ข่าวจาก ไทยโพสต์