เกณฑ์ใหม่ LTF ยังไม่เคลียร์ แม้ได้ข้อสรุปต่ออายุอีก 3 ปี ถือครอง 7 ปีปฏิทิน แต่กังขาวันเริ่มต้น ติงควรเริ่ม 1 มกราคม 2560 ไม่งั้นขัดข้อกำหนดเดิม บลจ.ย้ำให้รอประกาศที่ชัดเจน มั่นใจไม่กระทบภาวะการลงทุน คนวงในประเมินอาจไม่จูงใจกลุ่มฐานภาษีต่ำ นักวิชาการชี้เกณฑ์ใหม่ลดแรงกดดันช่องว่างทางสังคม บังเอิญทีมเศรษฐกิจที่อนุมัติ LTF ครั้งแรกกับเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้มาจากชุดสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เป็นอันว่าข้อสรุปในเบื้องต้นของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) หรือ LTF ที่กำหนดเดิมระบุว่าให้ซื้อได้จนถึงปี 2559 นั้น คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จากเดิมกำหนดสิ้นสุดการลดหย่อนในปี 2559 ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี

นอกจากนี้ยังเพิ่มการถือครองโดยได้ปรับเงื่อนไขการถือครองจากเดิมนับตั้งแต่วันซื้อกองทุน เพื่อถือครองหน่วยลงทุนจากเดิม 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปี โดยสามารถซื้อวันที่ 31 ธันวาคมของปีแรกในการซื้อ และขายในวันที่ 1 มกราคมของปีที่ 7 สามารถนับเป็น 7 ปีได้

นับเป็นความชัดเจนมากที่สุดหลังจากที่นักลงทุนต่างรอว่าเรื่องของกองทุนรวม LTF จะเป็นอย่างไร โดยที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวจะยุบกองทุนนี้เมื่อครบกำหนดในปี 2559 โดยไม่มีการต่ออายุอีก

แม้จะชัดเจนว่าต่ออายุออกไปอีก 3 ปี ผู้ซื้อ LTF ได้สิทธิทางภาษีจนถึงสิ้นปี 2562 ชัดเจนว่าเกณฑ์ใหม่ต้องถือ 7 ปีปฏิทิน แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนนั่นคือเริ่มนับการถือครองหน่วยลงทุน 7 ปีปฏิทินนั้นเริ่มในวันใด

ชัดแต่ยังไม่เคลียร์

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า การยืดระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนออกไปไม่ได้ทำให้ผู้ที่สนใจลดความนิยมลงไป เพราะ 7 ปีปฏิทินยิ่งยาวยิ่งดี

ตอนนี้ต้องรอให้กรมสรรพากรออกประกาศอย่างเป็นทางการก่อน เพราะในมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบนั้น กำหนดให้เริ่มนับการถือหน่วยลงทุน 7 ปีปฏิทินนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า หากเริ่มต้นการถือกองทุนรวม LTF เป็น 7 ปีปฏิทินโดยเริ่มต้นที่วันที่ 1 มกราคม 2559 นั้นอาจจะขัดกับหลักเกณฑ์เดิมที่ระบุไว้ว่าซื้อได้ถึงปี 2559 นั่นหมายถึงการซื้อ LTF ในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นวันใดก็ยังต้องได้รับสิทธิตามเกณฑ์เดิมคือถือครอง 5 ปีปฏิทิน ตรงนี้อาจเกิดการฟ้องร้องขึ้นได้

ทั้งนี้เพราะทุกคนมองว่าหลักเกณฑ์ใหม่ 7 ปีปฏิทินนั้น ควรจะต้องเริ่มต้นที่การซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ดังนั้นกรมสรรพากรต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงข้อจำกัดดังกล่าวแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ถือนานขึ้นไม่จูงใจคนรีบใช้เงิน

เขากล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การถือหน่วยลงทุนของ LTF ให้นานขึ้นจากเดิม 5 ปีปฏิทินหรือบางคนเรียกว่า 3 ปี 2 วันมาเป็น 7 ปีปฏิทิน หรืออาจเรียกว่า 5 ปี 2 วันนั้น ประเมินได้ยากว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้าซื้อกองทุนรวม LTF จากนี้ไปหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วตามเกณฑ์เดิมคงไม่มีใครถือแค่ 3 ปี 2 วันแล้วขายทันที ถึงอย่างไรก็ต้องถือเกิน เพื่อรอจังหวะให้สภาพตลาดดีขึ้นมาก่อนที่จะตัดสินใจขาย

การเพิ่มเงื่อนไขถือเพิ่มอีก 2 ปีเป็น 7 ปีปฏิทินนั้น เท่ากับบังคับให้ต้องการถือครองนานขึ้น ดังนั้นระดับความเสี่ยงก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ความเสี่ยงที่ว่าคือโอกาสที่ตลาดหุ้นจะไม่ดีเมื่อครบกำหนด ในทางปฏิบัติแล้วไม่ว่าจะเป็น 3 ปีปฏิทินหรือ 5 ปีปฏิทิน ความเสี่ยงก็มีพอๆ กัน เพราะคาดการณ์ได้ยากว่าเหตุการณ์ในอีก 3 หรือ 5 ปีข้างหน้านั้นจะเป็นอย่างไร

บางคนถือ LTF เกินกว่า 5-6 ปีก็ยังมี แม้จะครบกำหนดขายได้แล้ว แต่เขาก็ยังถือต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน

หากแยกกลุ่มของผู้ลงทุน LTF ที่อาจรู้สึกว่าเกณฑ์ใหม่ 7 ปีปฏิทินนั้นนานเกินไป จนอาจเปลี่ยนใจไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ นั้น น่าจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีอายุไม่มากนัก มีฐานภาษีที่ 5-10% ซึ่งความต้องการหลักคือลงทุนเพื่อหักลดหย่อนภาษี และต้องการออมเงินเพียงแค่ช่วงสั้นๆ หวังการงอกเงยของผลตอบแทนที่จะได้ เมื่อครบกำหนดมีเป้าหมายที่จะใช้เงินก้อนดังกล่าวไปใช้ตามที่ต้องการ แต่คงไม่กระทบมากนัก

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ Manager.co.th – LTF ใหม่ไม่เคลียร์