ประเภทของกริยา – ความแตกต่างของ Vi และ Vt

  • Vi ก็คือ Intransitive Verb หรือกริยาอกรรม คือคำกริยาที่ไม่จำต้องมีกรรมมารองรับ
  • Vt ก็คือ Transitive Verb หรือกริยาสกรรม คือคำกริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ

ลองคิดตามเป็นภาษาไทยง่าย ๆ

แบบเรากำลังนั่งกินข้าวอยู่กับเพื่อน อยู่ดี ๆ เราโพล่งไปว่า “นี่เมื่อวาน ฉันซื้อ (Yesterday I bought.)” แล้วจบเลย คนพูดงงไหม คนฟังงงกว่าอีก อย่างนี้แปลได้ว่า ซื้อ นี่เป็นกริยาที่ต้องมีกรรมมารับไม่งั้นงง ซื้ออะไร

ประโยคที่สมบูรณ์ก็จะเป็น “นี่เมื่อวาน ฉันซื้อกระเป๋ามาใบนึงล่ะ (Yesterday I bought a bag)” แบบนี้ไม่งงแล้ว คุยกันต่อได้

ดังนั้น buy (ซื้อ) จึงเป็น Vt

แต่ถ้ามาดูตัว Vi หรือคำกริยาที่ไม่จำต้องมีกรรมมารองรับ คือการกระทำที่มันสมบูรณ์แบบในตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องหากรรมใด ๆ มารับ

ยกตัวอย่าง “เมื่อคืนฉันร้องไห้อ่ะแก (Last night, I cried)” ประโยคนี้คนฟังไม่งง แต่อาจจะถามต่อว่าทำไม เพราะอะไรก็ว่าไป เพราะคำว่าร้องไห้ เป็นการกระทำที่จบได้ด้วยตัวเอง แต่อาจจะไม่สวยงาม บางครั้งต้องเติมส่วนขยายเข้าไป “เมื่อคืนฉันดูหนังเรื่องหนึ่ง ฉันร้องไห้อ่ะแก (Last night, I watched a movied then I cried.)” ถ้าไม่อยากให้เพื่อนถามต่อ แบบนี้ค่ะ ได้โปรดอย่างง ส่วนขยายไม่ใช่กรรมนะคะ

ดังนั้น cry (ร้องไห้) จึงเป็น Vi ส่วน watch (ดู) ในประโยคนี้จะเป็น Vt ค่ะ

อีกวิธีหนึ่งที่แยกได้ คือ ถ้าเป็น Vi แบบแท้ ๆ เลย คือ Vi จะไม่ใช้เป็น Passive Voice

ยกตัวอย่าง

Everyone clapped when the speaker finished. ทุก ๆ คนปรบมือให้เมื่อผู้พูดจบการบรรยาย
คำว่า clap (ปรบมือ) เป็น Vi
ถ้าเราเถียงว่า นี่ไง ปรบมือให้กับผู้พูด ผู้พูดเป็นกรรมชัด ๆ เราลองมากลับ Passive Voice กันค่ะ
“The speaker was clapped” ประโยคนี้เราจะไม่ใช้เป็นภาษาอังกฤษนะคะ เพราะมันดูแปลก ๆ

ในขณะที่ vt

Thieves stole his car. พวกโจรขโมยรถยนต์เขาไป เวลาเรากลับ Passive Voice เราจะไม่เคอะเขินเลยค่ะ “His car was stolen” รถของเขาถูกขโมยไป

แต่หลาย ๆ คำกริยา ก็เป็นได้ทั้ง Vi และ Vt นะคะ จริง ๆ ขึ้นกับความหมายและบริบทที่เราต้องการจะสื่อด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น drive, run, take off, stop, break, melt, speak, read, win เป็นต้นค่ะ