ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ชื่อเล่น : เอก) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เป็นนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อดีตรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

ประวัติ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ในขณะที่ประสบความเร็จเป็นอย่างมากด้านธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เขาได้ตัดสินใจวางมืออย่างสิ้นเชิงจากกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมจดจัดตั้งอีก 24 คน ยื่นจดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 และต่อมาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรค ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

ประวัติ

ชื่อ – นามสกุล : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

วันเกิด : 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

เขาเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ของนายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาเป็นประธานบริหารของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท โดยรับสืบทอดตำแหน่งนี้จากสามี นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2545) บิดาของธนาธร และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

ธนาธรเปิดเผยบนเวทีประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่าเขาเริ่มทำงานครั้งแรกช่วงปิดเทอมชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อพ่อแม่ส่งเขาไปนั่งนับชิ้นส่วนเหล็กในโรงงาน ได้รับค่าแรงวันละ 30 บาท ขณะที่พี่สาวคนโตต้องฝึกฝนงานส่วนออฟฟิศในโรงงานเดียวกัน ช่วงวัยรุ่นธนาธรเคยทำงานเป็นพนักงานล้างจานเต็มเวลาในร้านอาหารของครอบครัวที่สหรัฐอเมริกา

เขามีศักดิ์เป็นหลานอาของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมืองและอดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาธรและสุริยะเปิดให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าทั้งสองไม่ลงรอยกันมาตั้งแต่สมัยธนาธรยังเป็นนักศึกษา เพราะธนาธรไม่เห็นด้วยกับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ เป็นอย่างมาก การเข้าร่วมประท้วงโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ นำไปสู่ความขัดแย้งกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อาแท้ๆ ของเขาเอง ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในเวลานั้น

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 เกือบ 20 ปีหลังความกระทบกระทั่งระหว่างกันครั้งนั้นของอา-หลาน นายสุริยะได้ประกาศเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับพรรคอนาคตใหม่ที่ธนาธรเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา สุริยะกว่างถึงธนาธรในการสัมภาษณ์ว่า “ถ้าคุณพ่อเขาไม่เสีย ทุกวันนี้เขาคงไปเดินสายเอ็นจีโอ สมัยที่เขายังเรียนอยู่ บางที CNN ออกข่าวเรื่องการต่อต้านอะไร คุณจะได้เห็นธนาธรโผล่ไปหมดแหละครับ ต่างประเทศก็ด้วย เพราะจริงๆ เขาอยากจะเห็นโลกที่สมบูรณ์แบบ”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – การศึกษา

  • ประถม : โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
  • มัธยม : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • ปริญญาตรี : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ (Twinning Engineering Programmes)
  • ปริญญาโท : ใบที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง) ใบที่ 2 มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (สาขาการเงินระหว่างประเทศ) ใบที่ 3 มหาวิทยาลัยซังคท์กัลเลิน (ธุรกิจระหว่างประเทศ)

การเคลื่อนไหวทางสังคมและความสนใจทางการเมือง

ระหว่างที่เรียนอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาธรได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องความเป็นธรรม และยืนหยัดเพื่อความถูกต้องกับผู้คนหลากหลายกลุ่มในหลายสถานการณ์ เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน, กรรมกรไทยเกรียง, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, การประท้วงกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ เป็นต้น ในปีพ.ศ. 2543 ขณะร่วมประท้วงกับกลุ่มสมัชชาคนจน เขายืนกันชาวบ้านสมัชชาคนจนตอนที่เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างบุกทำเนียบรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย จนตัวเองได้รับบาดเจ็บ เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ธนาธรไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มศึกษาทฤษฎีของคาร์ล มากซ์และวลาดีมีร์ เลนิน ธนาธรระบุว่าตัวเองในช่วงนี้มีหัวคิดแบบสังคมนิยม และเขาได้เข้าร่วมกลุ่ม Socialist Worker Student Society ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งระดับนักศึกษาในอังกฤษ หลังจากธนาธรสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เขาได้กลับมาทำงานกับองค์การนอกภาครัฐในประเทศไทยได้ราวครึ่งปี ต่อมาบิดาของเขาเสียชีวิตจากโรงมะเร็งในปี พ.ศ. 2545 ธนาธรวัย 23 ปี ในฐานะลูกชายคนโตของครอบครัว จึงจำใจต้องกลับมารับช่วงการบริหารธุรกิจต่อจากบิดา ทั้งที่เขาอยากทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า

การทำงานทางธุรกิจ

หลังเรียนจบธนาธรเกือบจะได้เดินทางไปเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศแอลจีเรียอยู่แล้ว แต่แม่ของเขาโทรศัพท์ข้ามทวีปมาแจ้งอาการป่วยหนักของพ่อซึ่งกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่เสียก่อน แผนชีวิตที่วางไว้ทั้งหมดพลิกกลับไปอีกขั้วหลังการจากไปของนายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ จากที่ไม่เคยคิดและไม่เคยสนใจจะเป็นนักธุรกิจมาก่อนเลยในชีวิต เขากลับต้องเข้ารับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิททันทีด้วยอายุเพียง 23 ปีในขณะนั้น

ตั้งแต่ที่ธนาธรเริ่มเข้าไปบริหารธุรกิจ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทได้เติบโตจากการมีรายได้ 16,000 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2544 จนมีรายได้ 80,000 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2560 เขาทำให้ธุรกิจครอบครัวกลายเป็นกลุ่มบริษัทระดับโลกที่มีโรงงานผลิตใน 7 ประเทศ รวมจำนวนพนักงานมากถึงราว 16,000 คน

ความตกลงทางธุรกิจครั้งสำคัญๆ ก็อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2548 เมื่อธนาธรได้ปิดดีลเป็นผู้ผลิตตัวถังรถยนต์ให้บริษัทเทสลา (Tesla) บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นจำนวนถึง 500,000 คันต่อปี ข้อตกลงนี้ได้สร้างสถิติใหม่ให้กับยอดขายต่อรายของไทยซัมมิท ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึง 7,900 ล้านบาท คิดเป็นผลกำไรอย่างเดียว 5,980 ล้านบาทและด้วยข้อตกลงซื้อขายนี้เอง ที่ได้ทำให้กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทขยายฐานการผลิตกว้างไกลออกไปอีก ด้วยการเปิดโรงงานในสหรัฐอเมริกา และพอถึงปี 2552 ไทยซัมมิทโดยการนำของธนาธรก็ได้ตัดสินใจซื้อ โอกิฮาระ (Ogihara) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผู้ผลิตแบบพิมพ์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกำลังประสบภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างหนักในขณะนั้น แต่ด้วยการเข้าไปบริหารจัดการเต็มรูปแบบของไทยซัมมิท โอกิฮาระก็ผ่านพ้นวิกฤต และกลับมามีผลประกอบการที่มั่นคง เลี้ยงตัวเองได้และมีกำไรในที่สุด

นอกจากธุรกิจที่ดำเนินไปด้วยดี ธนาธรยังได้รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยติดต่อกัน 2 วาระ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 – 2555 และเขายังเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ระหว่างปีพ.ศ. 2550 – 2553 ธนาธรยังมีรายชื่ออยู่ในบอร์ดพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 หลังจากอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทมาเป็นเวลา 16 ปีเต็ม นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการเพื่อทำงานทางการเมือง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การทำงานการเมือง

พรรคอนาคตใหม่

ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ธนาธร และ รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนมหาวิทยาลัยรุ่นราวคราวเดียวกันและผู้สนับสนุนจำนวน 24 คน ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (ภาษาอังกฤษ: Future Forward Party) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และต่อมาธนาธรก็ได้รับเลือกด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรคเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยที่ประชุมเห็นชอบ 473 เสียง ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยตำแหน่งหัวหน้าพรรคดังกล่าวจะมีวาระตามข้อกำหนดของพรรคต่อไปอีก 4 ปี ในขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค

เขาประกาศเจตนารมณ์ของพรรคที่จะนำประเทศไทยออกจากความขัดแย้ง ยุติระบอบรัฐประหาร กลับคืนสู่ระบอบรัฐสภา สร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงในสังคมไทย จัดการกระจายอำนาจออกจากรัฐราชการรวมศูนย์สู่ท้องถิ่นในทุกมิติ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และทำให้การเมืองเป็นไปในรูปแบบที่สร้างสรรค์

ธนาธรให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาตั้งใจจะทำงานการเมืองเต็มตัวจากนี้ไป และแม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2562 เขาก็จะไม่หวนกลับไปเป็นนักธุรกิจอีก

สื่อต่างประเทศหลายสำนักมักจะเปรียบเทียบ ธนาธรกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด ด้วยความที่ทั้งคู่มีพื้นฐานของการเป็นนักธุรกิจ เป็นคนรุ่นใหม่ และมีมุมมองทางการเมืองใกล้เคียงกัน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ตำรวจได้ออกหมายเรียกธนาธร ให้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ หลังจากที่หนึ่งในสมาชิกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาแจ้งความต่อเขาและกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน คือ นางจารุวรรณ ศรันย์เกตุ และนายไกลก้อง ไวทยการ ว่าพูดพาดพิงถึงคสช. ในรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ของพรรค ซึ่งออกอากาศบนเฟซบุ๊กเพจของนายธนาธรเอง

Official Website : https://futureforwardparty.org/

ชีวิตส่วนตัว

ธนาธรแต่งงานกับ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ มีบุตรด้วยกัน 4 คน แม้จะไม่มีเวลาใกล้ชิดกับลูกๆ มากนักตั้งแต่ยังเป็นนักธุรกิจจนถึงเมื่อตัดสินใจลงสู่สนามการเมือง แต่ทุกครั้งที่มีโอกาส ธนาธรจะชอบให้ลูกๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติรอบๆ ตัว เปิดโอกาสให้ ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากที่สุด เขาชอบชวนเด็กๆ เล่นดินโคลน เล่นทราย ปีนต้นไม้ ถือไฟฉายออกไปส่องกบตอนกลางคืน หรือแม้แต่ออกไปเล่นกลางสายฝน ความคิดของเขาคือ อยากให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักและรักสิ่งแวดล้อม เกิดความสงสัยและตั้งคำถาม หาคำตอบ เขาจำกัดการซื้อของเล่นของลูก แต่จะไม่จำกัดเรื่องซื้อหนังสือ

นอกจากนี้ ธนาธรมีงานอดิเรกเป็นกิจกรรมผาดโผนต่างๆ มากมาย อาทิ การปีนเขา การพายเรือคายัค วิ่งระยะไกล ขี่จักรยานทางไกล ปีนผา ไตรกีฬา เขาเคยเข้าแข่งรายการโหดๆ อย่างการวิ่ง 250 กิโลเมตรในทะเลทรายซาฮาร่า เขาเคยทำแม้กระทั่งการใช้กูเกิลเสิร์ชหาการแข่งขันที่โหดที่สุดของโลก แล้วเข้าร่วมรายการ 6633 Arctic Ultra มาราธอน 560 กิโลเมตร ในปีพ.ศ. 2558 เส้นชัยคือเส้นอาร์กติก เป็นการแข่งขันที่ผู้แข่งไม่มีตัวช่วยอะไรเลย ต้องแบกอุปกรณ์ยังชีพทุกอย่างไปกับตัวเองตลอดทางที่มีแต่ทุ่งหิมะในอุณหภูมิต่ำสุดที่ -70 องศาเซลเซียส ในปีนั้นเขาเป็น 1 ในเพียง 8 คนเท่านั้นที่สามารถจบการแข่งขันลงได้อย่างสมบูรณ์ และกลายเป็นคนเอเชียคนแรกที่พิชิตรายการนี้

> เกร็ดความรู้อื่นๆ