ประวัติตะกร้อ ประวัติกีฬาตะกร้อไทย ความเป็นมาของกีฬาตะกร้อ สามารถอ้างอิงได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร ที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1785 ซึ่งภาพศิลปะเรื่องรามเกียรติ์ มีภาพการเล่นตะกร้อแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ เป็นภาพหนุมานกำลังเล่นเซปัก ตะกร้อ อยู่ท่ามกลางกองทัพลิง นอกเหนือจากหลักฐานภาพจิตรกรรมดังกล่าว ยังมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงกีฬาชนิดนี้

ประวัติตะกร้อ มีบันทึกมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2133 – ปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • พ.ศ. 2133-2149 (ค.ศ. 1590-1606) ในยุคของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ประเทศไทย เดิมชื่อ ประเทศสยาม มี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ และมีกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง คนไทยหรือคนสยาม มีการเริ่มเล่นตะกร้อที่ทำด้วย หวาย ซึ่งเป็นการเล่น ตะกร้อวง
  • พ.ศ. 2199-2231 (ค.ศ. 1656-1688) มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้ว่า ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวง มีคณะสอนศาสนาชาว ฝรั่งเศส มาพำนักในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2205 มีการสร้างวัดนักบุญยอเซฟ นิกายโรมันคาทอริก ซึ่งมีบันทึกของ บาทหลวง เดรียง โลเนย์ ว่าชาวสยามชอบเล่นตะกร้อกันมาก
  • พ.ศ. 2315 (ค.ศ. 1771) เป็นช่วงหมดยุค กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตอนต้นแห่งยุคสมัย กรุงธนบุรี เป็นเมืองหลวง ได้มีชาวฝรั่งเศสชื่อ นายฟรังซัว อังรี ตุระแปง ได้บันทึกในหนังสือชื่อ HISTOIRE DU ROYAUME DE SIAM พิมพ์ที่ กรุงปารีส ระบุว่า ชาวสยามชอบเล่นตะกร้อในยามว่างเพื่อออกกำลังกาย
  • พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1850) ในยุค กรุงรัตนโกสินทร์ หรือ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง ยังมีข้ออ้างอิงในหนังสือ ชื่อ NARATIVE OF A FESIDENCE IN SIAM ของชาวอังกฤษชื่อ นายเฟรเดอริค อาร์ เซอร์นีล ระบุว่ามีการเล่นตะกร้อในประเทศสยาม

ประวัติตะกร้อ

การเล่นตะกร้อ ของคนไทยหรือคนสยาม มีหลักฐานอ้างอิงค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการเล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็น เมืองหลวง พยานหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันหรืออ้างอิงได้ดีที่สุด น่าจะเป็นบทกวีในวรรณคดีต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยที่ร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึงตะกร้อ ไว้ เช่น

  • พ.ศ. 2276-2301 (ค.ศ. 1733-1758) ในยุคสมัย พระเจ้าบรมโกศ ครองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นยุคที่วรรณคดีหรือวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์เฟื่องฟู ก็มีกวีหลายบทเกี่ยวพันถึงตะกร้อ
  • พ.ศ. 2352-2366 (ค.ศ. 1809-1823) เป็นยุคตอนต้นของ กรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร) เป็นเมืองหลวง สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชนิพนธ์ร้อยกรองของวรรณคดีเรื่อง อิเหนา และเรื่องสังข์ทอง มีบทความร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง ตะกร้อ ด้วย
  • พ.ศ. 2366-2394 (ค.ศ. 1823-1851) ในยุคสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวง สมัย สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ในบทกวีของ สุทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนบทกวี นิราศเมืองสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) มีร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง ตะกร้อ ไว้เช่นกัน

เหตุผลหรือข้ออ้างที่กล่าวมาทั้งหลายทั้งปวง ย่อมถือเป็นพยานหลักฐานไว้ว่า คนสยามหรือคนไทย ได้เล่น ตะกร้อ มาเป็นเวลาช้านานแล้ว

  • พ.ศ. 2468-2477 (ค.ศ. 1925-1934) ในยุคสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวง สมัย สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 7) ได้มีการปรับปรุงหรือดัดแปลงการเล่นตะกร้อขึ้นหลายรูปแบบ ซึ่งมี ตะกร้อลอดห่วง,  ตะกร้อข้ามตาข่าย,  ตะกร้อชิงธง,  ตะกร้อพลิกแพลง และ การติดตะกร้อตามร่างกาย
  • พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) โดย หลวงมงคลแมน ชื่อเดิม นายสังข์ บูรณะศิริ เป็นผู้ริเริ่มวิธีการเล่น ตะกร้อลอดห่วง และเป็นผู้คิดประดิษฐ์ ห่วงชัยตะกร้อ ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเดิมห่วงชัยตะกร้อ เรียงติดกันลงมา มี 3 ห่วง แต่ละห่วงมีความกว้างไม่เท่ากัน กล่าวคือ ห่วงบนเป็นห่วงเล็ก, ห่วงกลางจะกว้างกว่าห่วงบน และห่วงล่างสุดมีความกว้างกว่าทุกห่วง เรียกว่า “ห่วงใหญ่” ต่อมาได้มีการปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง รูปทรงของห่วงชัยเป็น “สามเส้าติดกัน” โดยทั้ง 3 ห่วง (สามด้าน) มีความกว้างเท่ากัน ดังที่ใช้ทำการแข่งขันในปัจจุบัน

ประวัติตะกร้อไทย

การติดตะกร้อตามร่างกาย สมควรต้องบันทึกหรือเขียนไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะถือว่าเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งการติดลูกตะกร้อไว้ตามร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องได้รับการฝึกอย่างมากประกอบกับพรสวรรค์ เพราะการติดลูกตะกร้อ ต้องกระทำกันโดยลูกตะกร้อลอยมาในอากาศ และผู้เล่นต้องใช้อวัยวะของร่างกาย เช่น หน้าผาก, ไหล่, คอ, คาง, ข้อพับแขน, ข้อพับขาด้านหลังหรือขาหนีบ เป็นต้น โดยไม่ให้ลูกตะกร้อตกพื้น ผู้ที่สมควรบันทึกไว้เป็นหลักฐานหรือเกียรติประวัติ มีจำนวน 5 คนได้แก่

  1. พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) หม่องปาหยิน (คนพม่า) สามารถติดตะกร้อได้จำนวน 5 ลูก การที่นำเอาชื่อ หม่องปาหยิน บันทึกไว้เป็นประวัติการติดลูกตะกร้อของไทย ก็เพราะว่า หม่องปาหยิน อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม มีภรรยาเป็นคนไทย, ประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทย จนเสียชีวิต
  2. นางชลอศรี ชมเฉวก เป็นชาว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถติดลูกตะกร้อได้ จำนวน 9 ลูก
  3. นายแปลง สังขวัลย์ เป็นชาว กรุงเทพมหานคร สามารถติดลูกตะกร้อได้ จำนวน 9 ลูก
  4. นายคล่อง ไตรสุวรรณ เป็นชาว อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถติดลูกตะกร้อได้ 11 ลูก
  5. นายประสงค์ แสงจันทร์ เป็นชาว จังหวัดสิงห์บุรี สามารถติดลูกตะกร้อได้จำนวน 24 ลูก ซึ่งมีการดัดแปลงลูกตะกร้อบางลูกให้เล็กลง

ในช่วงปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) คนสยามหรือคนไทย มีความชื่นชอบกีฬาตะกร้อกันอย่างแพร่หลายขึ้น เพราะตามเทศกาลงานวัดต่าง ๆ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดสระเกศ (ภูเขาทอง), วัดโพธิ์ท่าเตียน, วัดอินทรวิหาร (บางขุนพรหม) ได้เชิญ หม่องปาหยิน ไปแสดงโชว์การติดลูกตะกร้อตามร่างกาย ซึ่งมีการเก็บเงินค่าชมด้วย หลังยุค หม่องปาหยิน ยังมี หม่อมราชวงศ์อภินพ นวรัตน์ (หม่อมป๋อง) เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถเล่นตะกร้อพลิกแพลง ซึ่งก็ได้รับเชิญไปเดาะตะกร้อโชว์ตามเทศกาลงานวัด, โรงเรียน และมหาวิทยาลัยด้วย

การเตะตะกร้อ | ประวัติตะกร้อ

กดเพื่อขยายภาพ การเตะตะกร้อ | ประวัติตะกร้อ

  • พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง สมาคมกีฬาสยาม อย่างเป็นทางการ โดยมี พระยาภิรมย์ภักดี เป็น นายกสมาคมกีฬาสยาม คนแรก ซึ่งได้จัดให้มีการแข่งขัน ตะกร้อข้ามตาข่าย ที่ท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) นายผล พลาสินธุ์ ร่วมกับ นายยิ้ม ศรีหงส์, หลวงสำเร็จวรรณกิจ และ ขุนจรรยาวิทิต ได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการเล่น ตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งบางคนก็ได้อ้างว่า กลุ่มของ นายผล พลาสินธุ์ เป็นผู้คิดวิธีการเล่นตะกร้อ ข้ามเชือก มาก่อน โดยดัดแปลงจากกีฬาแบดมินตัน และได้มีการจัดการแข่งขันที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรก

ข้ออ้างดังกล่าว ผู้เขียนคือ คุณปิยศักดิ์ มุทาลัย ไม่สามารถยืนยันได้ และขอยกคุณงามในคุณูปการให้แก่ทุกท่านที่กล่าวนามไว้เป็นสาระสำคัญ

ประวัติตะกร้อ ช่วงปี พ.ศ. 2475

  • พ.ศ. 2475-2479 (ค.ศ. 1932-1936) นายยิ้ม ศรีหงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ โรงพิมพ์ศรีหงส์ เป็น นายกสมาคมกีฬาสยาม คนที่ 2 ได้จัดการแข่งขันกีฬาไทยหลายอย่าง เช่น กีฬาว่าว,ตะกร้อลอดห่วง, ตะกร้อข้ามตาข่าย, ตะกร้อวงเล็ก, ตะกร้อวงใหญ่ และตะกร้อชิงธง ที่ท้องสนามหลวง เป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของประเทศสยาม หรือประเทศไทย
  • พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้ก่อตั้ง กรมพลศึกษา และท่านก็ได้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา คนแรก จึงได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งกรมพลศึกษา ซึ่งท่านเป็นผู้มีความสำคัญยิ่ง ในการปรับปรุงแก้ไข วิธีการเล่นตะกร้อ โดยมีผู้ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ จำนวน 5 คน คือ คุณพระวิบูลย์, คุณหลวงมงคลแมน, คุณหลวงประคูณ, พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ และ พระยาภักดีนรเศรษฐ (นายเลิด) เป็นเจ้าของกิจการรถเมล์และโรงน้ำแข็ง
  • พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) พระยาจินดารักษ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา คนที่ 2 ท่านได้เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไข กติกากีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่ง กรมพลศึกษา ได้ประกาศใช้กติกากีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และจัดให้มีการแข่งขันระหว่างโรงเรียนมัธยมชาย ขึ้นทั่วประเทศไทยด้วย
  • พ.ศ. 2480-2484 (ค.ศ. 1937-1941) นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้เป็น นายกสมาคมกีฬาสยาม
  • พ.ศ. 2482 (ปี ค.ศ. 1939) ประเทศสยาม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย จึงทำให้ นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ดำรงตำแหน่งสองสถานภาพในคราวเดียวกัน กล่าวคือ ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาสยาม และ นายกสมาคมกีฬาไทย ด้วย เพราะว่า สมาคมกีฬาสยาม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกีฬาไทย ตามการเปลี่ยนชื่อของประเทศ นั่นเอง
  • พ.ศ. 2484-2490 (ค.ศ. 1941-1947) พระยาจินดารักษ์ เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
  • พ.ศ. 2490-2498 (ค.ศ. 1947-1955) พันเอกหลวงรณสิทธิ์ เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
  • พ.ศ. 2497-2498 (ค.ศ. 1954-1955) จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้อุปถัมภ์พิเศษ
  • พ.ศ. 2498-2500 (ค.ศ. 1955-1957) จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น. เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
  • พ.ศ. 2500-2503 (ค.ศ. 1957-1960) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
  • พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) พลเอกประภาส จารุเสถียร ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ขอให้ สมาคมกีฬาไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • วันที่ 18 เมษายน 2503 (18 April 1960) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงรับ สมาคมกีฬาไทย ไว้ใน พระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาไทย จึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
  • พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาแหลมทอง หรือ เซียพเกมส์ ครั้งที่ 1 ประเทศพม่า ได้นำนักกีฬาตะกร้อ (พม่า เรียกตะกร้อว่า ชินลง) มาเล่นหรือแสดงตามรูปแบบของพม่า ให้คนไทยได้ชมในลักษณะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
  • พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ประเทศพม่า เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 2 ได้เชิญนักกีฬาตะกร้อไทยไปร่วมโชว์แสดง ซึ่งประเทศไทย ได้ส่งทีมตะกร้อลอดห่วง ไปทำการโชว์แสดง และได้รับการชื่นชอบจากชาวพม่าเป็นอย่างมาก
  • พ.ศ. 2504-2511 (ปี ค.ศ. 1961-1968) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็น นายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปฐมเหตุแห่งการบรรจุเข้าสู่กีฬาระดับชาติ

ความเป็นมาตะกร้อไทย

กำเนิดกีฬาเซปักตะกร้อ ประวัติตะกร้อ

ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน 2508 (March-April 1965) สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเทศกาล กีฬาไทย โดยจัดให้มีการแข่งขัน ว่าว, กระบี่-กระบอง และตะกร้อ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนั้น สมาคมกีฬาตะกร้อ จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้นำวิธีการเล่นตะกร้อของ มาเลเซีย คือ เซปัก รากา จาริง มาเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก ในเชิงเชื่อมสัมพันธไมตรี และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกติกาของตะกร้อไทยด้วย

สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการสาธิตกีฬาตะกร้อของทั้งสองประเทศ ระหว่างไทย กับ มาเลเซีย โดยผลัดกันเล่นตามกติกาของ มาเลเซีย 1 วัน, เล่นแบบกติกา ของไทย 1 วัน

กติกาตะกร้อไทยสมัยก่อน เรียกว่า ตะกร้อข้ามตาข่าย สาระสำคัญของกติกาพอสังเขป ดังนี้

1. สนามแข่งขันและตาข่ายคล้ายกันกับ กีฬาแบดมินตัน (ความยาวสนามสั้นกว่า)
2. จำนวนผู้เล่นและคะแนนการแข่งขัน
2.1 การเล่น 3 คน แต่ละเซท จบเกมที่ 21 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
2.2 การเล่น 2 คน (คู่) แต่ละเซท จบเกมที่ 15 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
2.3 การเล่น 1 คน (เดี่ยว) แต่ละเซท จบเกมที่ 11 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
3. ผู้เล่นแต่ละคน-แต่ละทีม สามารถเล่นได้ไม่เกิน 2 ครั้ง (2 จังหวะ)
4. ผู้เล่นแต่ละคน-แต่ละทีม ช่วยกันไม่ได้ หากผู้ใดถูกลูกตะกร้อจังหวะแรก ผู้นั้นต้องเล่นลูกให้ข้ามตาข่ายต่อไป
5. การเสิร์ฟ แต่ละคนต้องโยนและเตะลูกด้วยตนเองตามลำดับกับมือ ซึ่งเรียกว่ามือ 1, มือ 2 และมือ 3 มีลูกสั้น-ลูกยาว

กติกาตะกร้อของมาเลเซีย 

เล่นแบบ ข้ามตาข่าย เช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า เซปัก รากา จาริง ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ดัดแปลงการเล่นมาจาก กีฬาวอลเลย์บอล โดยมีนักกีฬาฝ่ายละ 3 คน แต่ละคนสามารถเล่นลูกตะกร้อได้คนละ ไม่เกิน 3 ครั้ง/จังหวะ และสามารถช่วยกันได้ ต้องให้ลูกตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งเมื่อก่อน เซปัก รากา จาริง แต่ละเซทจบเกมที่ 15 คะแนน แข่งขัน 2 ใน 3 เซท เช่นเดียวกันการสาธิตกีฬาตะกร้อระหว่างไทย กับ มาเลเซีย

วันแรก เล่นกติกาของไทย ปรากฏว่าไทยชนะด้วย 21 ต่อ 0 คะแนน นักกีฬาไทยประกอบด้วย 1. จ.ส.ต.เจริญ ศรีจามร 2. ร.อ.จำเนียร แสงสม 3. นายชาญ ธรรมวงษ์ (ซึ่งทั้ง 3 คนได้เสียชีวิตแล้ว)
วันที่สอง เล่นกติกาของมาเลเซีย ปรากฏว่ามาเลเซีย ชนะด้วย 15 ต่อ 1 คะแนน นักกีฬาไทยประกอบด้วย 1. ส.อ.สวัลย์ วงศ์พิพัฒน์ 2. นายประเสริฐ นิ่มงามศรี 3. นายสำเริง หวังวิชา (ซึ่งทั้ง 3 คนได้เสียชีวิตแล้ว)

ลูกตะกร้อ | ประวัติตะกร้อ

จากผลของการสาธิต แสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างถนัดหรือมีความสามารถการเล่นในกติกาของตน จึงได้มีการประชุมพิจารณาร่วมกัน กำหนดกติกาการเล่นตะกร้อขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอเข้าแข่งขันใน กีฬาเซียพเกมส์ ต่อไป

ข้อตกลงสรุปได้ดังนี้
– วิธีการเล่นและรูปแบบสนามแข่งขัน ให้ถือเอารูปแบบของประเทศ มาเลเซีย
– อุปกรณ์การแข่งขัน (ลูกตะกร้อ-เน็ต) และขนาดความสูงของเน็ต ให้ถือเอารูปแบบของประเทศไทย

ที่มาของคำว่า เซปักตะกร้อ ประวัติตะกร้อ 

คำว่า เซปัก-ตะกร้อ เป็นภาษาของ 2 ชาติรวมกัน กล่าวคือคำว่า เซปัก เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า เตะ คำว่า ตะกร้อ เป็นภาษาไทย หมายถึง ลูกบอล

  • พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1695) ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ได้บรรจุ กีฬาเซปักตะกร้อ เข้าแข่งขันระดับชาติเป็นครั้งแรก โดยมีการแข่งขันประเภททีมชุดเพียงประเภทเดียว (แข่งขัน 2 ใน 3 ทีม) ซึ่งมีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 3 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์ การแข่งขันครั้งนั้น ทีมไทยกับทีมมาเลเซีย เป็นคู่ชิงชนะเลิศ ผลของการแข่งขันปรากฏว่า ทีมมาเลเซีย ได้ครองเหรียญทอง สามารถชนะทีมไทยทั้ง 3 ทีม
  • พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 4 มีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 4 ชาติ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และลาว การแข่งขันครั้งนั้น ทีมไทย กับทีมมาเลเซีย เป็นคู่ชิงชนะเลิศ ผลของการแข่งขันปรากฏว่า ทีมไทย ได้ครองเหรียญทอง สามารถชนะทีมมาเลเซีย ทั้ง 3 ทีม
  • พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ประเทศพม่า เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 5 ไม่มีการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อ มีเพียงการโชว์แสดงการเล่นตะกร้อของแต่ละประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทย ได้นำทีมตะกร้อลอดห่วงไปแสดงโชว์
  • พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ประเทศไทย มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุดใหม่
  • พ.ศ. 2512-2516 (ปี ค.ศ. 1969-1973) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หลวงสัมฤทธิ์วิศวกรรม เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หลวงสัมฤทธิ์วิศวกรรม ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องจากสุขภาพไม่ดี
  • พ.ศ. 2518-2526 (ค.ศ. 1975-1983) พลโทผเชิญ นิมิบุตร เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ประวัติกีฬาตะกร้อ ทีมชาติไทย

การก่อตั้งสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ประวัติตะกร้อ ไทย

ในช่วงที่ พลโทผเชิญ นิมิบุตร ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนากีฬาเซปักตะกร้อภายในประเทศไทยอย่างมากมายหลายประการ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญได้แก่

ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าสมาคมกีฬาไทยฯ มีความรับผิดชอบ กีฬาไทย หลายประเภท ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่สามารถพัฒนากีฬาเซปักตะกร้อ ให้ก้าวหน้า

ประวัติสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติและอนุมัติให้ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร ขณะที่ท่านเป็นเลขาธิการสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยกลุ่มหนึ่ง ไปก่อตั้งและขอจดทะเบียนตั้งสมาคมขึ้นมาอีก 1 สมาคม เพื่อบริหารกิจกรรมกีฬาตะกร้อโดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า สมาคมตะกร้อ โดยทำการยื่นขอจดทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ในขณะที่กำลังดำเนินการจดทะเบียน ที่ประชุมได้มีมติให้ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร รักษาการเป็นนายกสมาคมตะกร้อ โดยมีนายนพชัย วุฒิกมลชัย ผู้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคมฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2526 สมาคมได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสมาคม ตามเลขที่อนุญาต ที่ ต.204/2526 เลขคำขอที่ 204/2526 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
2. เป็นการส่งเสริม และสนับสนุนกีฬาตะกร้อให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
3. จัดการแข่งขันภายในประเทศ และนอกประเทศ
4. เผยแพร่ให้เยาวชน สถาบันการศึกษา โรงเรียน และรัฐวิสาหกิจ ให้มีการแข่งขันมากขึ้น
5. จัดให้มีการควบคุมให้อยู่ในขอบข่าย และจัดให้มีการแข่งขันในระดับต่างๆ มากยิ่งขึ้น
6. ตั้งศูนย์อบรม เผยแพร่ให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
7. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

มีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ณ เลขที่ 179 ซอยเจริญพร ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2526 พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร และคณะกรรมการบริหาร (ชุดรักษาการ) และสโมสรสมาชิกในขณะนั้น ได้มีการประชุมใหญ่สามัญ โดยมีวาระที่สำคัญคือให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เมื่อถึงวาระสำคัญ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร ท่านได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ท่านภูมิใจในการที่ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมฯนี้ขึ้นมา แต่ขณะนี้ท่านได้ชรามากแล้ว จึงเห็นควรที่จะมอบหมายหรือเลือกตั้งบุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทนท่าน และท่านได้เป็นผู้เสนอชื่อ พ.อ. จารึก อารีราชการัณย์ (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกสมาคมฯ ด้วยตัวท่านเอง ที่ประชุมไม่มีผู้ใดคัดค้านเห็นชอบตามเสนอ พ.อ. จารึก อารีราชการัณย์ จึงได้รับตำแหน่งนายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบัน

ประวัติกีฬาตะกร้อ

เกร็ดความรู้ตะกร้อ

  • ทางประเทศจีนก็มีกีฬาที่คล้ายกีฬาตะกร้อแต่เป็นการเตะตะกร้อชนิดที่เป็นลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งจะศึกษาจากภาพเขียนและพงศาวดารจีน ชาวจีนกวางตุ้งที่เดินทางไปตั้งรกรากในอเมริกาได้นำการเล่นตะกร้อขนไก่นี้ไปเผยแพร่ แต่เรียกว่าเตกโก (Tek K’au) ซึ่งหมายถึงการเตะลูกขนไก่
  • ทางมาเลเซียก็ประกาศว่า ตะกร้อเป็นกีฬาของประเทศมาลายูเดิมเรียกว่า ซีปักรากา (Sepak Raga) คำว่า Raga หมายถึง ตะกร้า
  • ตะกร้อที่ใช้เดิมใช่หวายถักเป็นลูกตะกร้อ ปัจจุบัน นิยมใช้ลูกตะกร้อพลาสติก
  • ประเทศเกาหลี ก็มีลักษณะคล้ายกับของจีน แต่ลักษณะของลูกตะกร้อแตกต่างไป คือใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก
  • โดยภูมิศาสตร์ของไทยเองก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เราได้ทราบประวัติของตะกร้อ คือประเทศของเราอุดมไปด้วยไม้ไผ่ หวายคนไทยนิยมนำเอาหวายมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านด้วย อีกทั้งประเภทของกีฬาตะกร้อในประเทศไทยก็มีหลายประเภท เช่น ตะกร้อวง ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อชิงธงและการแสดงตะกร้อพลิกแพลงต่างๆ ซึ่งการเล่นตะกร้อของประเทศอื่นๆนั้นมีการเล่นไม่หลายแบบหลายวิธีเช่นของไทยเรา การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า , หนังสัตว์ , หวาย , จนถึงประเภทสังเคราะห์ ( พลาสติก )
  • ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ . ศ . 2525 ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า ตะกร้อ คือ ลูกกลมสานด้วยหวายเป็นตา สำหรับเตะ
  • ท่าเตะตะกร้อมีหลายท่าที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามและความว่องไว ตามปกติจะใช้หลังเท้า แต่นักเล่นตะกร้อจะมีวิธีเตะที่พลิกแพลง ใช้หน้าเท้า เข่า ไขว้ขา (เรียกว่าลูกไขว้) ไขว้ขาหน้า ไขว้ขาหลัง ศอก ข้อสำคัญ คือ ความเหนียวแน่นที่ต้องรับลูกให้ได้เป็นอย่างดีเมื่อลูกมาถึงตัว ผู้เล่นมักฝึกการเตะตะกร้อด้วยท่าต่าง ๆ ลีลาในการเตะตะกร้อมี 4 แบบ คือ การเตะเหนียวแน่น (การรับให้ได้อย่างดี) การเตะแม่นคู่ (การโต้ตรงคู่) การเตะดูงามตา (ท่าเตะสวย มีสง่า) การเตะท่ามาก (เตะได้หลายท่า)
  • เซปักตะกร้อ เป็นกีฬาพื้นเมืองของประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเล่นกีฬา เซปักตะกร้อค่อนข้างคล้าย ๆ กับกีฬาฟุตวอลเลย์ แต่ต่างกันตรงที่ใช้ลูกหวายในการเล่น และอนุญาตให้ผู้เล่นสัมผัสบอลโดยใช้ได้เพียงเท้า เข่า หน้าอก และหัว เท่านั้น โดยกีฬาเซปักตะกร้อนั้นได้รับความนิยมเล่นกันมากที่ประเทศไทย
  • ชื่อที่เรียกกีฬาชนิดนี้ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่เช่น ในประเทศไทย เรียกว่า ตะกร้อ ประเทศลาว เรียกว่า Kataw ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า Sepak Raga (รากา) ส่วนประเทศพม่ารู้จักกันในชื่อของ Chin Lone (ชินลง) ซึ่งเป็นการเล่นที่ไม่มีทีมฝ่ายตรงข้าม การเล่นจะเน้นให้ลูกบอลลอยอยู่กลางอากาศ ซึ่งมีกติกาที่หลากหลายและน่าสนใจ ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์ จะรู้จักกีฬาเซปักตะกร้อในชื่อของ Sipa ซึ่งมีความหมายว่า การเตะ นั่นเอง

ตะกร้อไทย | ประวัติตะกร้อ

วิวัฒนาการการเล่นกีฬาตะกร้อ

การเล่นตะกร้อได้มีวิวัฒนาการในการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยแรกๆ ก็เป็นเพียงการช่วยกันเตะลูกไม่ให้ตกถึงพื้นต่อมาเมื่อเกิดความชำนาญและหลีกหนีความจำเจ ก็คงมีการเริ่มเล่นด้วยศีรษะ เข่า ศอก ไหล่ มีการจัดเพิ่มท่าให้ยากและสวยงามขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็ตกลงวางกติกาการเล่นโดยเอื้ออำนวยต่อผู้เล่นเป็นส่วนรวม อาจแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ แต่คงมีความใกล้เคียงกันมากพอสมควร จนกระทั่งมีการพัฒนาเอาจุดเด่นการละเล่นของทั้งสองประเทศ มาใช้ร่วมกันจนกลายเป็นกีฬา เซปักตะกร้อ ในยุคปัจจุบัน

ประเภทของกีฬาตะกร้อ

1. เซปักตะกร้อ การแข่งขันตะกร้อในระดับนานาชาติ เรียกเกมกีฬาชนิดนี้ว่าเซปักตะกร้อ โดยเป็นการแข่งขันของผู้เล่น 2 ทีม ทำการโต้ลูกตะกร้อข้ามตาข่ายเพื่อให้ลงในแดนของคู่ต่อสู้

กติกา เซปักตะกร้อ สำหรับการรับชม โดยสังเขป

  • ผู้เล่น ประเภทเดี่ยว มีผู้เล่นตัวจริง 3 คน สำรอง 1 คน ประเภททีม ประกอบด้วย 3 ทีม มีผู้เล่น 9 คน และผู้เล่นสำรอง 3 คน
  • เมื่อเริ่มเล่นทั้ง 2 ทีมพร้อมในแดนของตนเอง ผู้เล่นฝ่ายเสิร์ฟจะต้องอยู่ในวงกลมของตนเอง เมื่อเสิร์ฟแล้วจึงเคลื่อนที่ได้ ส่วนผู้เล่นฝ่ายรับจะยืนที่ใดก็ได้
  • เสิร์ฟลูกสัมผัสเน็ต ไม่ถือว่าฟาล์ว แต่จะเสียคะแนนถ้าลูกไม่ข้ามไปฝั่งตรงข้าม หรือข้ามและลูกออก
  • หลังจากที่เสิร์ฟแล้ว ฝ่ายรับจะมีโอกาสเล่นบอลได้ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งลูกกลับมาอีกฝั่ง และพยายามให้ลงสัมผัสกับพื้นที่สนามของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ โดยเกมจะแบ่งเป็นกรณีดังต่อไปนี้

กรณีที่ ฝ่ายเสิร์ฟจะได้คะแนน

– เสิร์ฟลงสัมผัสกับพื้นสนามของฝ่ายรับ
– เสิร์ฟลูกโดนตาข่าย แต่ลูกพลิกไปลงสัมผัสกับพื้นสนามของฝ่ายรับ
– เสิร์ฟลูกแล้วฝ่ายรับสัมผัสบอลแล้วบอลตกในฝั่งของฝ่ายรับเอง หรือ สัมผัสแล้วทำลูกสัมผัสพื้นในส่วนนอกสนาม
– เสิร์ฟลูกแล้วฝ่ายรับเล่นบอลเกิน 3 ครั้ง
– เสิร์ฟลูกแล้วฝ่ายรับเล่นบอลไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถส่งลูกไปยังสนามของฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะเป็น ติดตาข่าย ทำลูกหล่นสัมผัสพื้นในแดนตนเอง หรือส่งข้ามไปแล้วลูกสัมผัสพื้นนอกพื้นที่การเล่น

เสิร์ฟตะกร้อ | ประวัติตะกร้อไทย

กรณีที่ ฝ่ายรับจะได้คะแนน

– ฝ่ายเสิร์ฟ เสิร์ฟติดตาข่าย และลูกไม่ข้ามมาลงพื้นที่สนามของฝ่ายรับ หรือเสิร์ฟออก
– ฝ่ายรับสามารถเตะบอลลงสัมผัสพื้นสนามของฝ่ายเสิร์ฟได้
– ฝ่ายรับเตะบอลสัมผัสถูกผู้เล่นของฝ่ายเสิร์ฟ และลูกตกสัมผัสพื้นในแดนของฝ่ายเสิร์ฟ
– ฝ่ายรับเตะบอลสัมผัสถูกผู้เล่นของฝ่ายเสิร์ฟ และลูกสัมผัสพื้นที่นอกสนาม
– ฝ่ายเสิร์ฟสัมผัสถูกตาข่ายระหว่างการเล่น

  • หากฝ่ายรับเล่นบอลส่งไปฝั่งตรงข้ามและฝ่ายเสิร์ฟรับได้ ให้ใช้กฎเดียวกันคือ ฝ่ายเสิร์ฟมีโอกาสเล่นบอลได้ไม่เกิน 3 ครั้ง เพื่อส่งลูกกลับไป เกมจะดำเนินไปจนกว่าจะมีฝั่งใดได้คะแนน
  • อนุญาตให้ฝ่ายที่ไม่ได้เล่นบอล กระโดดบล็อกการเล่นที่ไม่ใช่ลูกเสิร์ฟได้
  • ฝ่ายที่ได้คะแนนจะเป็นผู้ได้สิทธิ์ในการเสิร์ฟ
  • การแข่งขันใช้แบบ 2 ใน 3 เซต ในเซตที่ 1 และเซตที่ 2 จะมีคะแนนสูงสุด 15 คะแนน ทีมใดได้ 15 คะแนนก่อน จะเป็นผู้ชนะในเซตนั้นๆ ทั้ง 2 เซต จะไม่มีดิวส์ หากทั้งสองทีมได้ 13 ก่อน หรือ 14 เท่ากัน พักระหว่างเซต 2 นาที ถ้าเสมอกัน 1:1 เซต ให้ทำการแข่งขันเซตที่ 3 ด้วยไทเบรก โดยเริ่มด้วยการเสี่ยงใหม่ โดยใช้คะแนน 6 คะแนน ทีมใดได้ 6 คะแนนก่อนเป็นผู้ชนะ แต่จะต้องแพ้ชนะอย่างน้อย 2 คะแนน ถ้ายังไม่แพ้กันไม่น้อยกว่า 2 คะแนน ก็ให้ทำการแข่งขันอีก 2 คะแนน แต่ไม่เกิน 8 คะแนน เช่น 8:6 หรือ 8:7 ถือเป็นการยุติการแข่งขันระบบไทเบรก เมื่อฝ่ายใดก็ตามได้ 3 คะแนน และขอเวลานอกได้เซตละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที สำหรับไทเบรก ขอเวลาได้ 1 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที

เล่นตะกร้อ

2. ตะกร้อที่เล่นเป็นทีมโดยไม่มีฝ่ายตรงข้าม เช่น ตะกร้อวง | ผู้เล่นจะล้อมเป็นวง ผู้เริ่มต้นจะใช้เท้าเตะลูกตะกร้อไปให้อีกผู้รับหนึ่ง ผู้รับจะต้องมีความว่องไวในการใช้เท้ารับและเตะส่งไปยังอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกวิธีเล่นนี้ว่า “เตะตะกร้อ” ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อที่จะเตะไปยังผู้ใด ถ้าผู้เตะทั้งวงมีความสามารถเสมอกัน จะโยนและรับไม่ให้ตะกร้อถึงพื้นได้เป็นเวลานานมาก กล่าวกันว่าทั้งวันหรือทั้งคืนก็ยังมี แต่ผู้เล่นยังไม่ชำนาญก็โยนรับได้ไม่กี่ครั้ง ลูกตะกร้อก็ตกถึงพื้น

ประวัติตะกร้อชินลง

3. การติดตะกร้อ (เล่นเดี่ยว) เป็นศิลปะการเล่นตะกร้อ คือ เตะตะกร้อให้ไปติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องถ่วงน้ำหนักให้อยู่นาน แล้วใช้อวัยวะส่วนนั้นส่งไปยังส่วนอื่นโดยไม่ให้ตกถึงพื้น เช่น การติดตะกร้อที่หลังมือ ข้อศอก หน้าผาก จมูก เป็นต้น ผู้เล่นต้องฝึกฝนอย่างมาก

ตะกร้อเดี่ยว

4. ตะกร้อติดบ่วง การเตะตะกร้อติดบ่วง ใช้บ่วงกลมๆแขวนไว้ให้สูงสุด แต่ผู้เล่นจะสามารถเตะให้ลอดบ่วงไปยังผู้อื่นได้ กล่าวกันว่าบ่วงที่เล่นเคยสูงสุดถึง 7 เมตร และยิ่งเข้าบ่วงจำนวนมากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความสามารถ ถือเป็นการฝึกฝนได้ดี

ตะกร้อลอดบ่วง

มารยาทในการเล่นตะกร้อที่ดี

การเล่นกีฬาทุกชนิด ผู้เล่นจะต้องมีมารยาทในการเล่นและการแข่งขัน ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามขั้นตอนของการเล่นกีฬาแต่ละประเภท จึงจะนับว่าเป็นผู้เล่นที่ดีและมีมารยาท ผู้เล่นควรต้องมีมารยาทดังนี้ คือ

  1. การแสดงความยินดี ชมเชยด้วยการปรบมือหรือจับมือเมื่อเพื่อนเล่นได้ดี แสดงความเสียใจเมื่อตนเอง หรือเพื่อนร่วมทีมเล่นผิดพลาดและพยามปลอบใจเพื่อน ตลอดจนปรับปรุงการเล่นของตัวเองให้ดีขึ้น
  2. การเล่นอย่างสุภาพและเล่นอย่างนักกีฬา การแสดงกิริยาท่าทางการเล่นต้องให้เหมาะสมกับการเป็นนักกีฬาที่ดี
  3. ผู้เล่นที่ดีต้องไม่หยิบอุปกรณ์ของผู้อื่นมาเล่นโดยพลการ
  4. ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ต้องไม่แสดงอาการดีใจหรือเสียใจจนเกินไป
  5. ผู้เล่นต้องเชื่อฟังคำตัดสินของกรรมการ หากไม่พอใจคำตัดสินก็ยื่นประท้วงตามกติกา
  6. ผู้เล่นต้องควบคุมอารมณ์ให้สุขุมอยู่ตลอดเวลา
  7. ก่อนการแข่งขันหรือหลังการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะก็ตาม ควรจะต้องจับมือแสดงความยินดี
  8. หากมีการเล่นผิดพลาด จะต้องกล่าวคำขอโทษทันทีและต้องกล่าวให้อภัยเมื่อฝ่ายตรงข้ามกล่าวขอโทษด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส
  9. ต้องแต่งกายรัดกุม สุภาพ ถูกต้องตามกติกาที่กำหนดไว้
  10. ไม่ส่งเสียงเอะอะในขณะเล่นหรือแข่งขันจนทำให้ผู้เล่นอื่นเกิดความรำคาญ
  11. ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับตามกติกาอย่างเคร่งครัด
  12. มีความอดทนต่อการฝึกซ้อมและการเล่น
  13. หลังจากฝึกซ้อมแล้วต้องเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
  14. เล่นและแข่งขันด้วยชั้นเชิงของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ในการเล่นกีฬา

มารยาทของผู้ชมตะกร้อที่ดี

  1. ปรบมือให้นักกีฬาและผู้ตัดสินเมื่อเขาดินลงสนาม
  2. ปรบมือแสดงความยินดีเมื่อผู้เล่นเล่นได้ดี หรือชนะการแข่งขัน
  3. นั่งชมด้วยความสงบเรียบร้อยไม่ส่งเสียงเอะอะ
  4. ไม่แสดงท่าทางยั่วยุให้ผู้เล่นขาดสมาธิ
  5. ไม่ใช้เสียงเพลงที่มีเนื้อหาหยาบคาย สร้างความแตกแยก
  6. อย่าแสดงกิริยาไม่สุภาพหรือใช้วัสดุสิ่งของขว้างปาลงสนาม นักกีฬา หรือกรรมการ
  7. ผู้ดูต้องยอมรับการตัดสินของผู้ตัดสิน
  8. ไม่ส่งเสียงโห่ร้องหรือแสดงกิริยาเย้ยหยัน เมื่อผู้เล่นเล่นผิดพลาดหรือผู้ตัดสินผิดพลาด
  9. ผู้ดูควรเรียนรู้กติกาการแข่งขันกีฬาชนิดนั้นๆ พอสมควร
  10. ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในสนามแข่งขัน
  11. สนับสนุนให้กำลังใจและให้เกียรตินักกีฬาทุกประเภทเพื่อเป็นการส่งเสริมการกีฬาของชาติ

กองเชียร์ไทย | ประวัติตะกร้อ

Referral ประวัติตะกร้อ รวบรวมมาจาก

  • บันทึก ประวัติตะกร้อ คุณปิยศักดิ์ มุทาลัย (PIYASAK MUTALAI)
  • บันทึก ประวัติตะกร้อ คุณนพชัย วุฒิกมลชัย (อุปนายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย)
  • ประวัติตะกร้อ จาก วิกิพีเดีย
  • sepaktakrawworld.com
  • กรมพลศึกษา

คำค้นอื่นๆ  ประวัติตะกร้อ ประวัติตะกร้อไทย ประวัติกีฬาเซปักตะกร้อ ความเป็นมา Sepak Takraw ประโยชน์ของตะกร้อ และ มารยาทที่ดีในการเล่นและชมตะกร้อ