ประวัติเทเบิลเทนนิส หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่ากีฬาปิงปองนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เรามาเรียนรู้ประวัติกีฬาประเภทนี้ไปพร้อม ๆ กันเลย

กีฬาเทเบิลเทนนิสหรือที่เรียกกันจนเป็นที่ติดปากคุ้นเคยว่า ปิงปอง นั้น เป็นกีฬาที่รู้จักกันดีมาเป็นระยะเวลานานมาก และยังแพร่หลายได้รับความนิยมเล่นกันอยู่ทั่วโลก กีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาที่สามารถนำมาเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนาน สร้างสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีเพราะลักษณะการเล่นง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้พื้นที่ไม่มาก อุปกรณ์ราคาไม่แพง ไม่สร้างความยุ่งยาก เก็บรักษาได้ง่าย กติกาการเล่นและแข่งขันสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากไม่มีความซับซ้อน สามารถเล่นร่วมกันได้ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีทั้งการเล่นแบบเดี่ยว แบบคู่ และเล่นเป็นทีม โดยวิธีเล่นโดยทั่วไป แค่รู้จักวิธีการส่งลูก (การเสิร์ฟ – Serving) การรับลูก (รีเทิร์น – Return)ตีลูกให้ลงบนโต๊ะฝ่ายตรงข้าม ตีโต้กันไปมา หากฝ่ายใดทำลูกออก หรือ ไม่สามารถตีลูกลงบนโต๊ะของอีกฝ่ายได้ หรือ ตีติดตาข่าย ก็จะเสียแต้ม ผลัดกันส่งลูกฝ่ายละ 2 คะแนนจนจบการแข่งขัน ใน 1 เกมมี 11 คะแนน หากคะแนนเสมอกันที่ 10 คะแนนจะต้องทำการแข่งขันต่อไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีคะแนนนำอีกฝ่าย 2 คะแนนก็ถือว่าชนะในเกมนั้น ซึ่งในการแข่งแต้มที่ 10 เป็นต้นไป จะผลัดกันส่งลูกฝ่ายละ 1 คะแนนสลับกันไปจนกว่าจะได้ผู้ชนะในเกมนั้น ในการแข่งขันเทเบิลเทนนิส นิยมเล่น 1 แมทช์ด้วยเกมการแข่งขันแบบ 2 ใน 3 เกม หรือ 3 ใน 5 เกม หรือ 4 ใน 7 เกม

ประวัติเทเบิลเทนนิส

ความเป็นมาของกีฬาเทเบิลเทนนิส จากการศึกษาค้นคว้าไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าเทเบิลเทนนิสมีถิ่นกำเนิดหรือที่มาจากที่ใดทั้งในสมัยโรมันหรือสมัยกรีกเหมือนเช่นกีฬาประเภทอื่น ซึ่งรัสเซียเองก็เคยอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นการเล่นมาก่อนใคร ซึ่งอังกฤษก็อ้างว่าตนเป็นต้นกำเนิดเช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถแสดงหลักฐานอ้างอิงได้อย่างชัดเจนหรือสามารถคัดค้านแต่ประการใดได้

อย่างไรก็ตามจากหนังสือประวัติศาสตร์กีฬาของแฟรงค์ มอนเก (Frank Monke) ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติเทเบิลเทนนิสไว้ 2 ประการ คือ

  1. อาจเป็นกีฬาในร่มของลอนเทนนิส ซึ่งเริ่มเล่นครั้งแรกในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ราวศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1890)
  2. สันนิษฐานว่าเริ่มเล่นในอินเดียโดยนายทหารชาวอังกฤษซึ่งไปประจำการอยู่ที่อินเดียได้เคยเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬากลางแจ้งมาก่อน ด้วยการเล่นบนโต๊ะ และใช้สมุดกั้นแทนตาข่าย (บางฉบับระบุว่าใช้ไม้กระดานแทนตาข่าย) และยังมีอีกความเห็นหนึ่งว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ หรือบางความเห็นว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน

ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิส

กล่าวโดยสรุปคือ ประวัติเทเบิลเทนนิส ไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ว่า ใครเป็นผู้คิดค้นหรือประเทศใดเป็นต้นกำเนิดของกีฬาเทเบิลเทนนิส แต่มีข้อบันทึกหลักฐานการโฆษณาเกี่ยวกับอุปกรณ์การเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสชาย หรือการโฆษณาเครื่องกีฬาเทเบิลเทนนิสในแมกกาซีนของประเทศอังกฤษ ที่ชื่อว่า British Sports Catalogs Advertised Table Tennis Equipment ในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ชาวอังกฤษน่าจะเป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสขึ้น และได้เล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาในร่มของเทนนิสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850 ด้วย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า Gossima และใช้ลูกบอลทำด้วยไม้คอร์กหรือยางแข็งซึ่งแข็งเกินไป ถ้าไปถูกกระจกก็จะทำให้กระจกแตก โดยเกมกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 เป็นต้นมา อังกฤษก็เริ่มปรับปรุงการเล่นเทเบิลเทนนิสโดยมีพ่อค้าทำลูกเทเบิลเทนนิสที่ทำด้วยยางหรือไม้คอร์กแล้วใช้ผ้าหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ลูกเทเบิลเทนนิสทำความเสียหายกับโต๊ะ และเพื่อให้ลูกเทเบิลเทนนิสหมุนได้ดีขึ้นด้วย จนกระทั้งปี ค.ศ. 1902 วิศวกรชาวอังกฤษชื่อ นายเจมส์ กิ๊บบ์ (Jame Gibb) ได้คิดลูกเทเบิลเทนนิสซึ่งเป็นลูกบอลเซลลูลอยด์ (Celluloid Balls) ซึ่งมีคุณสมบัติและสัดส่วนที่เหมาะสมชวนให้น่าเล่นยิ่งกว่าลูกบอลที่ทำมาจากไม้คอร์กหรือยางแข็ง และในปรเดียวกันนั้นเอง อี.ซี.กู๊ด (E.C. Good) ชาวอังกฤษได้คิดค้นประดิษฐ์ไม้ตีขึ้นใหม่ โดยใช้แผ่นยางติดไว้ที่ด้านที่จะใช้ตีลูก ทำให้ผู้ตีสามารถควบคุมทิศทางและน้ำหนักการตีลูกเทเบิลเทนนิสได้ดีกว่าเดิม ซึ่งเขายังได้ทดสอบให้เห็นได้ด้วยการเป็นผู้ชนะเลิศเทเบิลเทนนิสของชาวอังกฤษในสมัยนั้นอีกด้วย จึงทำให้ไม้ตีแบบใหม่และลูกบอลเซลลูลอยด์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เกมกีฬาเทเบิลเทนนิส จึงแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในประเทศต่าง ๆ และจากการพัฒนาปรับปรุงทั้งในส่วนของไม้ตี และลูกเทเบิลเทนนิสที่ทำจากเซลลูลอยด์ ทำให้เวลาตีจะมีเสียงดัง ปิง (Ping) และเมื่อลูกตกกระทบกับพื้นโต๊ะจะมีเสียงดัง ปอง (Pong) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกที่นิยมเรียกกันว่า ปิงปอง (Ping-pong) ตามสียงที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ประวัติปิงปอง ประวัติเทเบิลเทนนิส โลก

ข้อพิสูจน์ว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีดังนี้

ในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษได้ทรงโปรดให้ตั้งโต๊ะปิงปองขึ้นใน พระราชวังบักกิงแฮม และสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทรงจัดกีฬาปิงปองให้พระราชธิดา (เจ้าฟ้าเอลิซาเบธ) ได้ทรงเล่นเป็นที่สนุกสนานในพระราชวังแบลมอรัล นอกจากนี้ ยังมีเจ้าชายชาห์แห่งเปอร์เซีย บัณฑิตเนห์รูแห่งอินเดีย และกษัตริย์ฟารุกแห่งอียิปต์ในอดีต ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งเสริมกีฬาปิงปองด้วยกันทั้งสิ้น

ในศตวรรษที่ 20 มีนักศึกษาและนักท่องเที่ยวนำเอากีฬาเทเบิลเทนนิสเข้าสู่ประเทศออสเตรีย ฮังการี และอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1895 ศาสตราจารย์ครุศาสตร์ท่านหนึ่งแห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้นำเอาโต๊ะ ตาข่าย และไม่เทเบิลเทนนิส (ไม้ปิงปอง) กลับประเทศญี่ปุ่นมาด้วย ทำให้กีฬาเทเบิลเทนนิส เริ่มเป็นที่รู้จักและเล่นกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และได้แพร่ความนิยมเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ. 1913

ประวัติกีฬาปิงปอง

ประเทศที่มีส่วนในการพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิส

  1. อังกฤษ มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุปกรณ์การเล่น เช่น ไม้แร็กเกตหุ้มด้วยยางและลูกเทเบิลเทนนิสทำด้วยเซลลูลอยด์
  2. ฮังการี มีส่วนช่วยในการพัฒนาเทคนิค การเสิร์ฟ และการเล่นแบบรุกและรับ
  3. เยอรมัน มีส่วนช่วยพัฒนาในการปรับปรุงกติกา ระเบียบ วิธีการเล่นให้รัดกุม และเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
  4. ญี่ปุ่นและจีน มีส่วนช่วยพัฒนาการจับไม้แบบปากกา หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันแบบติดปากว่า การจับไม้แบบจีน

ศตวรรษที่ 20 หรือ ค.ศ. 1920 กีฬาเทเบิลเทนนิส หรือ กีฬาปิงปอง เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในประเทศแถบยุโรป ดังนั้น ทุกประเทศหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงและปฏิบัติในด้านต่าง ๆ แล้ว จึงได้เห็นพ้องร่วมกันในการเปลี่ยนชื่อเรียกกีฬาชนิดนี้ ว่า เทเบิลเทนนิส (Table Tennis) แต่กีฬาชนิดนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักและนิยมเรียกกันว่า กีฬาปิงปอง จนถึงปัจจุบัน

สรุปการพัฒนาของกีฬาเทเบิลเทนนิส | ประวัติเทเบิลเทนนิส

  • ปี ค.ศ. 1850 มีการคิดค้นเกมการเล่นโดยชาวอังกฤษเรียกว่า Gossima
  • ปี ค.ศ. 1900-1902 เจมส์ กิบ (Mr. Jame Gibb) ชาวอังกฤษ คิดค้นทำลูกปิงปองด้วยเซลลูลอยด์แทนการใช้ไม้คอร์กและยางแข็ง และ กู๊ด (Mr. Good) ชาวอังกฤษเช่นกัน ได้คิดค้นการใช้แผ่นยางหุ้มไม้ตี ทำให้สามารถควบคุมบอลได้ดีขึ้น และเวลาตีจะมีเสียงดัง ปิง-ปอง ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อการเล่นกีฬาชนิดนี้ว่า ปิงปอง
  • ปี ค.ศ. 1920 เปลี่ยนชื่อกีฬาปิงปองเป็นเทเบิลเทนนิส
  • ปี ค.ศ. 1926 ก่อตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF) สำนักงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
  • ปี ค.ศ. 1930 พัฒนารูปแบบการจับไม้ในการตีโต้ลูกหน้ามือและหลังมือด้วยการจับไม้แบบ จับมือ (Shake Hand Grip)
  • ปี ค.ศ. 1950 – 1959 ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาการเล่นโดยการจับไม้ แบบถือพู่กัน ทำให้ตีลูกแบบหมุนได้ดี (Top Spin)
  • ปี ค.ศ. 1960 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนาการถือของญี่ปุ่นมาเป็นแบบไม้จีนหรือแบบปากกา (Chinese Pen Holder)
เล่นปิงปองในอดีต

ประวัติปิงปอง

ประวัติการตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ

เมื่อกีฬาเทเบิลเทนนิสได้รับความนิยมและแพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศในยุโรปจึงได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาขึ้นที่กรุงบอนน์ เยอรมันตะวันตก ในเดือน มกราคม 1926 มีประเทศที่เข้าร่วมประชุม คือ เยอรมันตะวันตก ฮังการี และออสเตรีย โดยที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (International Table Tennis Federation) ขึ้น หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ITTF เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และทำการจดทะเบียนตามกฎหมายเลขที่ 1907

ปี ค.ศ. 1926 สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ ได้เปิดประชุมผู้แทนประเทศต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ห้องสมุดของ เลดี้ สเวย์ธลิ่ง ซึ่งเป็นมารดาของ เซอร์มองตากูร์ แห่งอังกฤษ ได้มีการมอบถ้วยรางวัลประเภททีมชายในการแข่งขันชิงแชมป์โลก จึงได้ตั้งชื่อการแข่งขันนี้ว่า สเวย์ธลิ่งคัพ (Swaythling Cup) และในที่ประชุมยังมีมติให้ผ่านกฎบัตรของสหพันธ์ฯ ให้มีการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งในระยะแรก ได้กำหนดให้มีการจัดการแข่งขันปีละหนึ่งครั้ง ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็น 2 ปีต่อครั้ง และให้การประชุมผู้แทนเป็นองค์การที่มีอำนาจสูงสุดของสหพันธ์ โดยที่ประชุมได้คัดเลือกเอากติกาของการแข่งขันเทเบิลเทนนิสฉบับร่างของประเทศฮังการีที่เสนอต่อสหพันธ์ เพื่อใช้กติกาให้เป็นมาตรฐานสากล และที่ประชุมยังได้เลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นองค์กรนำและเป็นผู้แทนสหพันธ์ฯ ซึ่งได้เซอร์มองตากูร์ เป็นประธานกรรมการของสหพันธ์ และมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นนับแต่บัดนั้นมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปีจนถึงปัจจุบัน สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติมีสมาชิกกว่า 100 ประเทศจากทุกทวีปทั่วโลก

International Table Tennis Federation Logo

เซอร์มองตากูร์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ และเป็นประธานคนแรกของสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ เกิดเมื่อ ปี ค.ศ. 1905 ที่ประเทศอังกฤษ และชอบเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานโดยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหพัน์ติดต่อกันถึง 4 สมัย คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 – 1966 และท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ริเริ่มบัญญัติกติกาเทเบิลเทนนิสขึ้น เป็นผู้จัดตั้งและเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นอย่างมาก จนกระทั้งได้รับฉายานามจากประชาชนชาวจีนว่า เป็นวิศวกรแห่งกีฬาเทเบิลเทนนิส ท่านเป็นผู้ที่มีส่วนผลักดันให้กีฬาเทเบิลเทนนิสได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง และได้บริหารปกป้องความสามัคคีของสหพันธ์มาโดยตลอดจนกระทั่งเกษียณอายุการทำงานในปี ค.ศ. 1967 หลังจากนั้นท่านยังคงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกิติมศักดิ์ของสหพันธ์ฯอยู่

พัฒนาการของกีฬาเทเบิลเทนนิสของโลก | ประวัติเทเบิลเทนนิส

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กีฬาเทเบิลเทนนิสกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นที่ยอมรับและนิยมเล่นกันอย่างจริงจัง คือ ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และฮังการี และได้มีการคิดค้นเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเกมการเล่นและอุปกรณ์มาโดยตลอด จนกระทั่งมีการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 1 มีการจัดตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเกิดขึ้น วงการเทเบิลเทนนิสจึงมีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงแรกการเล่นนั้นจะเป็นการเล่นลูกช้าตีโต้กันไปมา เล่นลูกตัดกันเป็นส่วนมาก ต่อมาก็พัฒนามาเป็นการเล่นที่มีความเร็ว ความแรง และเทคนิคลูกหมุนสลับกันไป เพื่อทำคะแนนกับคู่แข่งขันได้ดีมากขึ้น

ระยะสำคัญของการพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิส

ประวัติเทเบิลเทนนิส จากพัฒนาการกีฬา อาจสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928-1951 กีฬาเทเบิลเทนนิสส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนประเทศในทวีปยุโรป อังกฤษ ฮังการี หรือเรียกได้ว่าในช่วงนั้น ยุโรปเป็นเจ้าแห่งกีฬาเทเบิลเทนนิสของโลก โดยได้รับตำแหน่งชนะเลิศเกือบทุกประเภททั้งชายและหญิง ต่อมากีฬาเทเบิลเทนนิสได้แพร่หลายเข้าสู่ประเทศเยอรมัน ยูโกสลาเวีย สวีเดน ออสเตรเลีย เชคโกสโลวาเกีย อเมริกา และอียิปต์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ ได้เข้าร่วมการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกด้วย และผู้ชนะคือ วิคเตอร์ บารืเนอร์ (Victor Barner) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1930-1934 การแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกมีการจัดการแข่งขันขึ้นทั้งหมดรวม 18 ครั้ง โดยเกือบทั้งหมดจัดการแข่งขันขึ้นในยุโรป มีเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นที่จัดการแข่งขันที่ประเทศอียิปต์เมื่อปี ค.ศ. 1937 ซึ่งการแข่งขันเกือบทุกประเภท นักกีฬาจากยุโรปมักเป็นแชมป์โดยส่วนใหญ่ จะมีเพียงบางประเภทเท่านั้นที่ อเมริกาสามารถแย่งเอาตำแหน่งชนะเลิศมาได้ เช่น ประเภททีมชาย ทีมหญิง และประเภทบุคคลบางรายการเท่านั้น

เทคนิคการเล่นของนักกีฬายุโรปในตอนต้นของยุคนี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการตีโต้บุกซ้าย-ขวา เกมบุกจะไม่เร็วและรุนแรง ในลักษณะกึ่งบุกกึ่งรับ ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการเล่นไปอย่างรวดเร็ว สาเหคุเพราะการที่ประเทศฮังการีนำไม้ตีที่มียางหุ้มที่อังกฤษคิดค้นมาใช้ในการแข่งขัน ซึ่งสามารถเล่นเกมบุกได้ดีกว่า การควบคุมลูก การตีลูกหมุน (Spin) การบังคับทิศทางของลูก การตีลูกตัด ได้ดีมีประสิทธิภาพกว่าไม้แบบเดิมเป็นอย่างมาก ทำให้วงการเทเบิลเทนนิสพัฒนารูปแบบการเล่นได้อย่างรวดเร็ว

กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศฮังการีเป็นผู้นำในการนำไม้ที่ปิดด้วยยางที่ประเทศอังกฤษคิดค้น มาใช้ในการแข่งขัน ซึ่งช่วยพัฒนาวงการเทเบิลเทนนิสได้อย่างก้าวกระโดด

ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1940-1947 เกิดสงครามฟาสต์ซิส ทำให้กีฬาเทเบิลเทนนิสต้องหยุดชงักลงจากการจัดการแข่งขันระดับโลกนานถึง 7 ปี

ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิสปิงปอง

ระยะที่ 2 ระหว่างปี 1950-1959 ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 ได้สร้างปรากฏการณ์คว้าตำแหน่งแชมป์ในประเภท ทีมหญิง ชายเดี่ยว ชายคู่ และหญิงคู่เอาได้ โดยประเทศญี่ปุ่นส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันเพียง 5 คนเท่านั้น เป็นนักกีฬาชาย 3 คน และนักกีฬาหญิง 2 คน ได้แก่ Ogimara, Tanaka, Tomida, Murakami, Kimura โดยเป็นการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 19 จัดที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1953 ต่อมาอีก 1 ปี ในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 20 ที่เมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย มีประเทศจีนเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศ แต่นักกีฬาญี่ปุ่นก็ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภททีม ที่สามารถครองแชมป์ได้อย่างต่อเนื่องถึง 5 สมัยติดต่อกัน (ครั้งที่ 21 – 25) รวมทั้งได้แชมป์ประเภทบุคคลอีกหลายประเภท รวมแล้ว 24 ตำแหน่งด้วยกัน อันเป็นสถิติที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการแข่งขันมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักกีฬาญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงนี้นั้น คือ

  1. การค้นพบเทคนิคใหม่ในการดัดแปลงไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเพิ่มฟองน้ำเสริมเข้าไปด้วย ทำให้สามารถตีลูกให้มีความเร็วมากขึ้นได้
  2. นักกีฬาญี่ปุ่นใช้เทคนิคการตีโดยใช้ใช้สรีระในส่วนของทั้งลำตัวในการถ่ายน้ำหนักการตีลูก รวมถึงเทคนิคการตีโต้กลับด้วยการบุกตีตบลูกยาว
  3. นักกีฬาญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่น มีความมานะอดทน ขยันในการฝึกซ้อม

เทคนิควิธีการเล่นของนักกีฬาญี่ปุ่นที่ใช้ทั้งลำตัวในการตี และการตีโต้กลับปะทะกับการรุก คล้ายกับการโจมตีแบบ กามิกาเซ คือการรุกแบบกล้าหาญ กล้าได้กล้าเสีย และยอมเสี่ยง การบุกด้วยลูกทอปสปิน (Top Spin) การใช้ลูกตัด (Chop) ของแบบยุโรปได้เป็นอย่างดี ประกอบกับนักกีฬาญี่ปุ่นมีฟุตเวิร์คที่ดี มีความคล่องตัวสูง จึงทำให้ญี่ปุ่นครองความเป็นแชมป์โลกของเทเบิลเทนนิสในระยะนี้ได้

นักกีฬาปิงปองชาวญี่ปุ่น

ระยะที่ 3 ระหว่างปี ค.ศ. 1961-1978 การพัฒนาการของเทเบิลเทนนิสเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งชนะเลิศบ้าง โดยจีนใช้เทคนิควิธีการการเล่นคือการบุกอย่างรวดเร็วและยืนตำแหน่งชิดโต๊ะ และเปลี่ยนการหมุนของลูกเข้ากับการตีโต้ตอบคู่ต่อสู้และมีการตั้งรับที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของนักกีฬาจีน ทำให้การแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกในปี ค.ศ. 1963 ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของจีนสามารถเอาชนะญี่ปุ่นแชมป์เก่าได้ถึง 11 ประเภท จึงได้รับฉายานามว่า “ราชาปิงปองของโลก” และต่อมาในการแข่งในปี ค.ศ. 1965 นักกีฬาเทเบิลเทนนิสจีนก็ได้ครองแชมป์ประเภททีมชาย ทีมหญิง อีกโดยใช้วิธีการเล่นแบบบุกอย่างรวดเร็ว โดยการจับไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน คือ แบบไม้ตั้งหรือไม้จีน นั่นเอง

ประวัติเทเบิลเทนนิส กับการแข่งขัน | การเปลี่ยนแปลงในวงการเทเบิลเทนนิสโลก

ประวัติเทเบิลเทนนิส จากการเปลี่ยนแปลตามยุคสมัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา การแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลก ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการแข่งขันปีละหนึ่งครั้ง เป็น จัดการแข่งขัน 2 ปี ต่อ 1 ครั้ง

ระหว่างปี ค.ศ. 1967-1969 เป็นการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 27 และ 28 โดยมีเยอรมันตะวันตกเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทางสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากมีการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม อันเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา จึงทำให้ ญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นแชมป์โลกได้อีกครั้ง และสลับสับเปลี่ยนกับประเทศอื่น ๆ เช่น สวีเดน สหภาพโซเวียต แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเทคนิควิธีเล่นของยุโรปจากการรับมาเป็นแบบรุกรวมทั้งการเล่นลูกทอปสปินที่ถนัดอยู่แล้วควบคู่กันไป โดย เค เจลล์ โจฮันสัน และ เอช. แอลเซอร์  (K. Jell Johansson และ H. Alser) ของสวีเดนเป็นคู่ชนะเลิศ การแข่งขันประเภทชายคู่ ในปี ค.ศ. 1967 และ ปี ค.ศ. 1969 ซึ่งได้เป็นผู้ปูทางให้ชาวยุโรปเล่นลูกยาวแบบญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนเคยวิจารณ์ว่า ชาวยุโรปเล่นลูกยาวแบบชาวญี่ปุ่นไม่ได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว 2 หนุ่มชาวสวีเดนกิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้สำเร็จ

ปี ค.ศ. 1970 ชาวยุโรปได้ชิงเอาตำแหน่งชนะเลิศไปได้โดยใช้เทคนิควิธีการบุกแบบใหม่ และการจับไม้แบบ จับมือ ต่อมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 1970 สมาคมเทเบิลเทนนิสในโลกอาหรับ อเมริกา และกลุ่มละตินอเมริกา ได้พัฒนาการอย่างจริงจัง โดยใช้วิธีการเล่นแบบผสมผสาน และการเล่นลูกตัดฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เมือ่จีนได้ประดิษฐ์ยางเม็ดที่เล็กกว่าเดิม แต่มีความยาวมากกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตีลูกหมุน (Spin) ได้ดีมากขึ้น เมื่อลูกหมุนกระทบหน้าไม้เม็ดยาง ซึ่งยาวและเล็กจะล้มลง ทำให้ลูกที่ถูกตีโต้กลับไปเป็นลูกที่อันตราย เพราะมีการหมุนน้อยมากทำให้ยากต่อการบุกทำคะแนน เนื่องจากคาดคะเนน้ำหนักของลูกยากมาก ซึ่งเรียกกันว่า Phantom Rubber

การจับไม้แบบจีนและแบบญี่ปุ่น ประวัติเทเบิลเทนนิส

ปี ค.ศ. 1971 เป็นการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 31 ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง และได้ตำแหน่งชนะเลิศประเภทหญิงเดี่ยว หญิงคู่ คู่ผสม และประเภททีมชาย ส่วนประเภทเดี่ยวนั้น สเตลา เบงสัน นักกีฬาเทเบิลเทนนิสวัยรุ่นชาวสวีเดน ชนะนักกีฬาทั้งจีนและญี่ปุ่นไปได้ โดยใช้เทคนิคผสมผสานการเล่น ทั้งลูกทอปสปินแบบญี่ปุ่น การบุกเร็วแบบจีน และพื้นฐานการเล่นแบบยุโรป ได้ครองแชมป์ไป ส่วนแชมป์ประเภทชายคู่ เป็นของนักกีฬาฮังการี ประเภททีมหญิงนักกีฬาที่ได้แชมป์คือ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในการแข่งขันในครั้งนี้ มีนักกีฬาจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย โดยประเภททีมชายประเทศไทยได้อันดับที่ 23 จากประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 39 ประเทศ และประเภททีมหญิง ประเทศไทยได้อันดับที่ 22 จากประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 27 ประเทศ

การแข่งขันครั้งที่ 31 นี้ ได้รับการกล่าวขวัญกันเป็นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ เพราะในการแข่งขันครั้งนี้ จีนมีโอกาสได้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งมาระยะหนึ่ง ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นสื่อกลางให้ประเทศยักษ์ใหญ่ 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพราะหลังจากการแข่งขันในครั้งนี้แล้ว จีนได้เชิญนักปิงปองของสหรัฐอเมริกาไปเยือนกรุงปักกิ่ง  รวมทั้งทีมจากประเทศแคนาดา โคลัมเบีย และไนจีเรีย ด้วย โดยสหรัฐอเมริกา ตกลงตอบรับคำเชิญของจีน ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงมีโอกาสเข้าสู่ประเทศจีนหลังจากที่จีนปิดประเทศอยู่นานถึง 22 ปี

นักปิงปองจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 15 คน จึงเป็นกลุ่มแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อนักกีฬาปิงปองของอเมริกาไปจีนแล้ว ประธานาธิบดีอเมริกาในขณะนั้น ริชาร์ด นิกสัน จึงโอนอ่อนนโยบายทางการค้ากับจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า การเมืองกับการกีฬาแยกกันไม่ออก บางครั้งการเมืองก็ทำให้การกีฬาหยุดชะงัก บางครั้งการกีฬาก็ช่วยยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ หากนักกีฬามีอคตินำเอาการเมืองมาเกี่ยวพันกับเกมการแข่งขัน ก็อาจทำให้เสียโอกาสและไม่แสดงถึงความมีจิตใจเป็นนักกีฬา เฉกเช่น การแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 31 มีนักกีฬาจีนคนหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมลงแข่งกับนักกีฬาของเขมรและเวียดนาม จึงถูกตัดสิทธ์ให้แพ้บายและตกรอบในการแข่งขัน

ปี ค.ศ. 1973 ในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกครั้งที่ 32 ซึ่งในครั้งนี้ กีฬาปิงปองดูมีสีสันมากขึ้นกว่าเดิม โดยทีมนักกีฬาชายสวีเดนได้ครองตำแหน่งแชมป์ในการแข่งประเภททีมให้กับยุโรป ซึ่งแต่เดิม ทีมนักกีฬาชายจากทวีปเอเชียครอบครองแชมป์ไว้ได้นานถึง 20 ปี

ประวัติเทเบิลเทนนิส การเสิร์ฟลูก

ต่อมาปี ค.ศ. 1975 ในการแข่งขันครั้งที่ 33 เป็นการชิงกันเองของนักกีฬายุโรป ระหว่าง จอห์นเยอร์ กับ ซาติ เบนนิส ทำให้นักกีฬาปิงปองของจีนและญี่ปุ่นได้รับสารท้ารบครั้งใหม่ และต้องพยายามพัฒนาฝีมือเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์คืนมา ซึ่งแม้ว่าจะพลาดในประเภทเดี่ยว แต่ทีมจีนและญี่ปุ่นก็สามารถชิงเอาตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมชายและทีมหญิงได้อีกครั้ง ในการแข่งครั้งที่ 33 และครั้งที่ 34 โดยนักกีฬาญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงสามารถเอาชนะทีมที่แข็งแกร่งจากทางยุโรปได้ นอกจากนี้ ยังมีนักกีฬาดาวรุ่งหญิง ปาร์ค ยังซัน อายุเพียง 17 ปี สามารถครองตำแหน่งแชมป์หญิงเดี่ยวได้ต่อเนื่องถึง 2 สมัยอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาฝีมือของนักกีฬาของทั้งฝั่งเอเชียและยุโรปดูจะคู่คี่สูสีไล่เลี่ยกัน แต่หากพิจารณาจากการประสบความสำเร็จของนักกีฬาจากการแข่งขัน ทางฝั่งเอเชียน่าจะมีพัฒนาการที่เหนือกว่าทางฝั่งยุโรปอยู่บ้าง

ปี ค.ศ. 1979 การแข่งขันเทเบิลเทนนิส ชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 35 ที่เมืองเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ทีมของประเทศฮังการีเป็นทีมที่มีประสบการณ์ในการเล่นมาก และได้ตำแหน่งชนะเลิศประเภททีมชาย ส่วนนักกีฬาชายของหลายชาติ อาทิเช่น ยูโกสลาเวีย สวีเดน เชคโกสโลวาเกีย และอังกฤษ ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาที่มีประวัติการเล่นมาอย่างยาวนาน มีการพัฒนาการเล่นการเล่นในระดับที่สูงขึ้นอย่างเด่นชัด ในการตีลูกทอปสปินผสมผสานกับการบุกเร็ว รวมถึงใช้เทคนิคการตีลูกทอปสปิน รอจังหวะคู่แข่งโต้ลูกมาแล้วตามด้วยลูกตบได้อย่างสบาย นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคการเสิร์ฟลูก การรับลูกเสิร์ฟของจีนได้อีกด้วย ส่วนประเภทชายคู่นั้น ได้แก่ยูโกสลาเวีย ประเภทชายเดี่ยว เซอิจิ โอโน่ (Seiji Ono) ของญี่ปุ่น ชิงชนะเลิศกับนักกีฬาของจีน โกโยหัว (Koyohoa) โดนเกมการแข่งขันดำเนินไปจนถึงเกมที่ 4 นักกีฬา โกโยหัว ของจีน กล้ามเนื้อฉีก ไม่สามารถทำการแข่งขันต่อไปได้ ทำให้ญี่ปุ่นได้ครองแชมป์ประเภทนี้ไป ส่วนจีนก็ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศประเภททีมชาย ชายเดี่ยว และคู่ผสม แสดงให้เห็นว่าผลงานและสมรรถภาพของนักกีฬาของเอเชียและยุโรป ในปี ค.ศ. 1979 มีมาตรฐานใกล้เคียงกันมาก ส่วนประเภทหญิง ทางฝั่งเอเชียยังคงเหนือกว่า

ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิสในประเทศไทย ประวัติกีฬาปิงปองในประเทศไทย

คำว่า เทเบิลเทนนิส ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แต่จะรู้จักกันดีในชื่อ กีฬาปิงปอง โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงปรากฏว่าเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดแน่นอน และใครเป็นผู้นำเข้ามา แต่ปรากฏว่ามีการเรียนการสอนมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสมาคมเทเบิลเทนนิสสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จัดให้มีการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงตลอดหลักสูตรการเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จนถึงปัจจุบันได้มีการบรรจุกีฬาเทเบิลเทนนิสไว้เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในส่วนของประชาชนโดยทั่วไปนิยมเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเพื่อเป็นเกมนันทนาการ เป็นการแข่งขัน เป็นการออกกำลังกาย และเพื่อการพักผ่อนในช่วงว่างเว้นจากภารกิจตามหน้าที่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กีฬาปิงปองเป็นที่นิยมเล่นสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย

ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิสไทย

การพัฒนาการเทเบิลเทนนิสของไทย

สำหรับนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก และได้คว้าตำแหน่งชนะเลิศหลายครั้งในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยสามารถสรุปตามช่วงเวลาเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้ดังนี้

  • เดือนพฤศจิกายน 2518 สมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทยได้ส่งผู้ฝึกสอนเข้ารับการอบรมด้านเทคนิคของสหพันธ์เทเบิลเทนนิสแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1
  • เดือนมีนาคม 2519 ก็ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งนายมาจินเป้า ผู้ฝึกสอนทีมชาติจีนมาให้การฝึกสอนกับนักกีฬาไทยเป็นระยะเวลาเดือนเศษ
  • ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม 2521 จีนได้ส่งนายเหยา จินสู มาฝึกสอนให้นักกีฬาไทยอีก
  • ในเดือนกรกฎาคม 2523 – มิถุนายน 2524 องค์การ ส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยได้ติดต่อนายเซียว ซิงโก (Siaq Xinzquo) โค้ชอดีตนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของจีน ซึ่งขณะนั้นทำงานด้านวิจัยและวิเคราะห์กีฬาเทเบิลเทนนิส กระทรวงกีฬาของจีน มาให้การอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาเทเบิลเทนนิสตามโครงการผู้ฝึกสอนกีฬาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำปี 2523-2524 เป็นเวลา 1 ปี
  • 15 กันยายน – 15 ธันวาคม 2523 กรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งนายสมชาย คงเสรีดำรง จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ นายชาติชาย ฑีฆวีรกิจ จากโรงเรียน สีตบุตรบำรุง ไปเข้ารับการฝึกอบรมการเล่นเทเบิลเทนนิสที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทุนจากยูเนสโก เป็นเวลา 3 เดือน หลักจากนั้น ไทยกับจีน ก็ได้ติดต่อสัมพันธ์กันจนมาถึงปัจจุบัน และจีนยังคงส่งโค้ชมาช่วยฝึกซ้อมนักกีฬาให้กับประเทศไทยอยู่

ประวัติเทเบิลเทนนิส - ไม้และลูกปิงปอง

เรียนการโรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์

ประโยชน์ของกีฬาเทเบิลเทนนิส

กีฬาทุกชนิดทุกประเภทล้วนแต่คิดค้นขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายและบุคคลในการนำไปใช้ในการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขพลานามัยที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเพื่อให้เกิดการพัฒนาการขึ้น กีฬาเทเบิลเทนนิส เป็นกีฬาสากลที่สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย อุปกรณ์การเล่นราคาไม่แพง สถานที่สามารถจัดเตรียมได้ง่ายและสะดวก

มาร์ติน ชกลอร์ซ (Martin Sklarz) ให้ทัศนะไว้ว่า กีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สามารถใช้เป็นได้ทั้งเกมนันทนาการ หรือจัดการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์แบบของกีฬาระดับประเทศจนถึงระดับโลกเช่นเดียวกับกีฬาบาสเกตบอลและกีฬาวอลเล่ย์บอล โดยได้สรุปประโยชน์ของกีฬาเทเบิลเทนนิสซึ่งเป็นที่ยอมรับกันไว้ดังนี้

  1. สามารถเล่นได้ทุกสถานที่
  2. เล่นได้ในทุกฤดูกาล
  3. เล่นได้ทั้งประเภททีม และประเภทบุคคล
  4. มีกฎกติกาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  5. เล่นได้ทุกเพศทุกวัย
  6. ช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น คุณเสงี่ยม พรหมบัญพงศ์ (2522) ได้กล่าวถึงประโยชน์และคุณค่าของกีฬาเทเบิลเทนนิสไว้ว่า เทเบิลเทนนิส ถึงแม้จะเป็นกีฬาเบา ๆ แต่ก็เป็นกีฬาที่เหมาะกับบุคคลทุกเพศทุกวัย อุปกรณ์การเล่นราคาไม่แพงเกินไป ตลอดจนสถานที่เล่นกีฬาก็หาได้สะดวก อาจจะเล่นได้บนโต๊ะหลายขนาด ถ้าไม่มีโต๊ะ ก็สามารถเล่นบนพื้นซีเมนต์ได้ด้วย กีฬาเทเบิลเทนนิสจึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ซึ่งนอกจากผู้เล่นจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินทางจิตใจแล้ว ยังมีประโยชน์และคุณค่าต่อผู้เล่นอีกหลายด้าน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1.) ประโยชน์ทางร่างกาย หากเล่นเทเบิลเทนนิสเป็นประจำ วันละ 30 – 60 นาที สุขภาพร่างกายจะสมบูรณ์แข็งแรง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ โดยอาจแยกประโยชน์ที่ได้รับทางร่างกายได้เป็น 2 ทางคือ

1.1) ช่วยพัฒนาสมรรถภาพทางกาย การออกกำลังด้วยการเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสจะทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การย่อยอาหารก็เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ การสูบฉีดโลหิตหมุนเวียนได้อย่างคล่องแคล่วและมีปริมาณมากกว่าคนที่ไม่ได้เล่นกีฬา การหายใจ ปอดสามารถขยายตัวได้มากกว่าปกติ การเปลี่ยนจากโลหิตดำเป็นโลหิตแดงได้ปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบต่าง ๆ ยังมีโอกาสทำงานประสานกันได้ได้อย่างดีอีกด้วย เช่น ระบบกล้ามเนื้อกับระบบประสาท เราจะเห็นได้ว่าขณะที่เราออกกำลังโดยเล่นเทเบิลเทนนิสอยู่ ตาก็จะต้องคอยจับอยู่ที่ลูกเทเบิลเทนนิส มือ แขน ขา เท้า และลำตัวจะเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ประสาทสั่งอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว จะทำให้สามารถเล่นปิงปองได้ดี มีสมรรถภาพทางกายสูงขึ้น มีความอดทน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความแข็งแรง มีพลัง สามารถทำงานได้มากได้นานเหนื่อยช้าและหายเหนื่อยเร็ว

1.2) ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ บุคคลที่จะเป็นนักกีฬามักมีรูปร่างได้สัดส่วน มีบุคลิกภาพสง่างาม กระฉับกระเฉง โดตเฉพาะกีฬาเทเบิลเทนนิสที่ต้องใช้ความว่องไวเป็นพิเศษ กีฬาชนิดนี้จึงช่วยให้ผู้เล่นเกิดความคล่องแคล่ว มีความอดทน เป็นการช่วยพัฒนาบุคลิกภาพได้เป็นอย่างดี

การแข่งขันเทเบิลเทนนิสเดี่ยว

2.) ประโยชน์ทางด้านจิตใจและอารมณ์ การเล่นเทเบิลเทนนิสนอกจากจะได้ประโยชน์ทางด้านร่างกายดังกล่าวแล้ว ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านจิตใจอย่างมากด้วย คือไม่ว่าจะเป็นการเล่นหรือการดูการแข่งขันเทเบิลเทนนิส จะทำให้ผู้ดูและผู้เล่นตื่นเต้น สนุกสนาน เร้าใจ เท่ากับเป็นการพักผ่อนทางด้านจิตใจไปในตัวด้วย นักพลศึกษาถือว่าการเล่น การดู การแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกิจกรรมหนึ่งของนันทนาการด้วย นอกจากนี้ การเล่นเทเบิลเทนนิสยังมีคุณค่าทางจิตใจที่พอสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

2.1) ฝึกให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาที่ดี รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักอภัย
2.2) ฝึกให้มีความรักความสามัคคีในหมู่คณะ
2.3) ทำให้จิตใจสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด
2.4) ฝึกให้มีความสุขุมเยือกเย็น ใจคอหนักแน่น จิตใจมั่นคง
2.5) ฝึกให้เป็นคนมีเหตุผล กล้าตัดสินใจ
2.6) ในการเล่นประเภทคู่ ฝึกให้คนทำงานเป็นทีมได้ดี

3.) ประโยชน์ทางด้านสังคม ถ้าผู้เล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสได้ฝึกและเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสจนเป็นนักกีฬาที่ดี มีน้ำใจเป็นนักกีฬาแล้ว นับว่าผู้นั้นเป็นบุคคลที่สังคมประชาธิปไตยพึงปรารถนา ทั้งนี้เพราะการเล่นกีฬาทุกชนิดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกีฬาในร่ม กีฬากลางแจ้ง ประเภทบุคคลหรือประเภททีมก็ตาม ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกติกาของกีฬาประเภทนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เคร่งครัด เท่ากับเป็นการฝึกให้บุคคลอยู่ในกรอบอยู่ในระเบียบอันดีเป็นพื้นฐานแห่งคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของสังคม  ทั้งนี้เพราะสังคมใด ๆ จะอยู่ได้ด้วยความสงบสุขก็อยู่ที่บุคคลในสังคมนั้น ๆ จะต้องเคารพกฎหมาย รู้จักหน้าที่ สิทธิ และมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ การเล่นเทเบิลเทนนิสหรือกีฬาต่าง ๆ จะทำให้คนมีคุณธรรมด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความเสียสละ ความอดทน มีความกล้า ฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของคนที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุขได้

การแข่งขันเทเบิลเทนนิสคู่

ลักษณะเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของกีฬาเทเบิลเทนนิส กีฬาปิงปอง

  1. มีลักษณะของเกมกีฬาอย่างครบครัน คือ มี กฎ กติกา ระเบียบการเล่นอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  2. ให้การพัฒนาการด้านต่าง ๆ กับผู้เล่น ได้แก่ ทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
  3. ไม่มีข้อจำกัดของการเล่น กล่าคือ เล่นได้ทุกเพศทุกวัย สามารถเล่นได้ทั้งประเภททีมและประเภทบุคคล จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ให้แก่บุคคลหรือหน่วยงาน ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  4. สถานที่ อุปกรณ์กีฬา สามารถจัดหาได้ง่าย สะดวก และประหยักดงบประมาณค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทอื่น ๆ
  5. เป็นกีฬาที่ผู้เล่นจะได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย
  6. ช่วยฝึกระบบการทำงานของสายตา มือ และเท้า ตลอดจนการตัดสินใจให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของกีฬาชนิดนี้
นักกีฬาปิงปองอันดับ 1

Ovtcharov Dimitrij นักกีฬาปิงปองอันดับ 1 สัญชาติเยอรมัน ช่วงต้นปี 2561

อันดับโลกของนักปิงปองเช็คได้ที่ https://www.ittf.com/rankings/

ผู้ค้นหายังใช้คำค้นเหล่านี้ด้วย : ประวัติเทเบิลเทนนิส ประวัติปิงปอง ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิสไทย ปิงปองไทย ความเป็นมาปิงปอง

Credits : แบบเรียนปิงปอง PE261

th.wikipedia.org

การกีฬาแห่งประเทศไทย sat.or.th

สมาพันธ์กีฬาเทเบิลเทนนิสสากล ITTF

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้