วันตรุษจีน 2563 ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 ตรุษจีน เป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญ ของชาวจีน

วันตรุษจีนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหลากหลายตำนานและประเพณี งานเทศกาลแต่เดิมนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะสักการะเทพเจ้าและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ในประเทศจีน ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองปีใหม่นั้น มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ในช่วงเย็นก่อนถึง วันตรุษจีน (วันปีใหม่จีน) จะเป็นเวลาที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะนัดรวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์และรับประธานอาหารเย็นร่วมกันเป็นเหมือนงานรวมญาติประจำปี (คล้ายเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา) และมีบางครอบครัวที่มีธรรมเนียมการทำความสะอาดบ้านร่วมกัน โดยเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าความโชคร้ายออกไป และช่วยให้ความโชคดีเข้ามาแทน

ประเพณีอีกอย่าง คือ การประดับตกแต่งหน้าต่างและประตู ด้วยแผ่นกระดาษตัดสีแดงที่เขียนข้อความเป็นคู่ และบทกลอนที่มีจำนวนคำเท่ากัน ธีมยอดนิยมของการประดับการดาษสีแดงนั้น มักเป็นบทกลอน หรือคำที่ให้ความหมายเกี่ยวกับ ความโชคดี การอวยพรให้มีความสุข มีความมั่งคั่ง และมีอายุยืน กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การจุดประทัด และการให้อั่งเปา (การมอบเงินโดยใส่ไว้ในซองกระดาษสีแดง) สำหรับภูมิภาคทางตอนเหนือของประเทศจีน มีเมนูอาหารที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ใช้เฉลิมฉลองเทศกาลวันตรุษจีน คือ เกี๊ยว (Dumpling) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยในการเฉลิมฉลองตามประเพณีนั้น เกี๊ยวมักทานเป็นอาหารมื้อแรกของปี โดยอาจทานหลังจากเริ่มต้นวันตรุษจีน (ผ่านช่วงเที่ยงคืนของวันก่อนถึงวันตรุษจีน) หรือทานเป็นอาหารเช้าในวันตรุษจีน

วันตรุษจีน

เนื้อหาในหน้านี้

ประวัติวันตรุษจีน

ประวัติวันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ของจีน มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ตรุษจีนนั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีน นั้นมี มานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก)

ประวัติวันตรุษจีน

เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น

วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี

สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชน อวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการ ไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า “Let bygones be bygones” (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ในวันตรุษนี้ อารมณ์โมโหโกรธจะถูกลืม และไม่สนใจ

การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลองวันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน

 

ตำนานวันตรุษจีน

เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียง หนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหารและกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับ ไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมา แสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย

ตำนานวันตรุษจีน

ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียง แส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับ จุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกัน อย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า “ตรุษจีน”

ตำนานตรุษจีน

การไหว้เจ้า ในเทศกาลตรุษจีน

เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ

การไหว้เจ้าตรุษจีน

  • ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
  • ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
  • ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
  • ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
  • ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”

ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ

  • ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
  • ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
  • ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
  • ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
  • ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี

ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”

การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดินเมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะ ไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมการไหว้ที่เรียกว่า”ไป๊เจีย “คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “กา” ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

ของไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน

ของไหว้เจ้าตรุษจีน

ประวัติตรุษจีน

ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพง และหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”

หมู มีความหมายถึงความมั่งคั่ง ด้วยความอ้วนของตัวหมู สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี

ไก่ มีมงคล 2 อย่างคือ

  • หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน
  • ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า สะท้อนถึงการรู้งาน
  • ตับ คำจีนเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง
  • ปลา คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ฮื้อ โดยมีวลีมงคล อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง แปลว่า ให้เหลือกินเหลือใช้ ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ
  • กุ้งมังกร ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่ มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา

– ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย”ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้ ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว

  • ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
  • องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม
  • สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
  • กล้วย มีความหมายถึง การมีลูกหลานสืบสกุล

ชุดกับข้าว หลากหลายอย่าง บางบ้านเหมือน บางบ้านต่าง ซึ่งก็ไม่เป็นไร

  • ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ แปลว่า ลูกปลากลมๆ ฮื้อหรือปลา คือให้เหลือกินเหลือใช้ อี๊ แปลว่ากลมๆ หมายถึงความราบรื่น
  • ผัดต้นกระเทียม เพราะคนจีนแต้จิ๋ว เรียกกระเทียมว่า สึ่ง พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ ไหว้ต้นกระเทียม เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ
  • ผัดตับกับกุยช่าย ตับคือ การเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า ขุนนาง กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย แปลว่า แพง รวย
  • แกงจืด คนจีนเรียกว่า เช็ง-ทึง เช็ง แปลว่า ใส หวาน ซดคล่องคอ การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น
  • เป๊าฮื้อ เป๊า หรือ เปา แปลว่า ห่อ ส่วน ฮื้อ คือเหลือกินเหลือใช้ ไหว้เป๊าฮื้อ เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน
  • ผัดถั่วงอก คนจีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า เต๋าแหง๊ แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า เต้าเหมี่ยว เหมี่ยว แปลว่า งอกงาม ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง
  • เต้าหู้ เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้ ฮก คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า โต ฟู ฟู แปลว่า บุญ ความสุข
  • สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้ ก็แปลว่า โชคดี ร่ำรวย

ชุดขนมไหว้ ก็ล้วนมีความหมายมงคล เช่นกัน

  • ซาลาเปา เล่นเฉพาะคำว่า เปา แปลว่า ห่อ ไหว้ซาลาเปาเพื่อให้เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน
  • ขนมถ้วยฟู คือไหว้เพื่อให้เฟื่องฟู คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวกก้วย ก้วย แปลว่า ขนม ฮวก แปลว่างอกงาม
  • ขนมคัดท้อก้วย คือขนมไส้ต่างๆ เช่น ไส้ผักกะหล่ำ มันแกว ไส้กุยช่าย ทำเป็นรูปลูกท้อสีชมพู ลูกท้อ เป็นผลไม้มงคลมีนัยอวยพรให้อายุยืนยาว
  • ขนมไข่ คนจีนเรียกว่า หนึงก้วย ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต ไหว้ขนมไข่เพื่อให้ได้มีการเกิดและการเจริญเติบโต
  • ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง ก็เรียก คือ ขนมแห้ง 5 อย่าง จะเรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง หรือ ขนม 5 สี ก็ได้ ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ฟักเชื่อม และข้าวพองฟัก เพื่อฟักเงินฟักทอง ฟักเชื่อม คือการฟักความหวานของชีวิต ข้าว ถั่ว งา คือ ธัญพืช ธัญญะ แปลว่า งอกงาม ไหว้เพื่อให้งอกงาม และชีวิตหวานอย่างขนม
  • ขนมอี๊ อี๊ หรืออี๋ แปลว่ากลมๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ต้มกับน้ำตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูหรือลูกเดือยก็ได้ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน

ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์)โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้ แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ

 

โชคลางในวันตรุษจีน

โชคลาง

ความเป็นมาวันตรุษจีน

  • ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
  • หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
  • การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดง เป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตน ในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
  • วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
  • บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
  • การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี
  • ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมา แต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน

 

วันแห่งการฉลองวันตรุษจีน

สิบห้าวันแห่งการฉลองวันตรุษจีน

สิบห้าวันแห่งการฉลองวันตรุษจีน

  • วันแรกของปีใหม่ เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า จะเป็นการต่ออายุ และนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน
  • วันที่สอง ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าว อาบน้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด
  • วันที่สามและสี่ เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน
  • วันที่ห้า เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใคร เพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย
  • วันที่หก ถึงสิบ ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข
  • วันที่เจ็ด ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิดของมนุษย์ในวันนี้อาหารจะเป็น หมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ
  • วันที่แปด ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
  • วันที่เก้า จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
  • วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน
  • วันที่สิบสาม ถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย
  • วันที่สิบสี่ ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้น ในคืนของวันที่สิบห้า
  • วันที่สิบห้า งานฉลองโคมไฟ

คำอวยพรวันตรุษจีน

  • ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวังปีใหม่ขอให้ร่ำรวย
  • เจาไฉจิ้นเป้า เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติเข้าบ้าน
  • ฟู๋ลู่ซวงฉวน ศิริมงคลเงินทองอำนาจวาสนา
  • กงซีฟาไฉ ขอแสดงความยินดีที่คุณร่ำรวย
  • จู้หนี่เจี้ยนคัง ขอให้คุณสุขภาพแข็งแรง
  • จู้หนี่ฉางโส่ว ขอให้คุณอายุยืนยาว
  • จู้หนี่ซุ่นลี่ ขอให้คุณประสบความสำเร็จ
  • จู้หนี่อี๋ลู่ซุ่นเฟิง ขอให้คุณเดินทางโดยความปลอดภัย
  • จู้เห้อซินเหนียน การอวยพรปีใหม่
  • จู้เห้อเซริงรื่อ การอวยพรวันเกิด
  • จ่ายหงวนก้องเจี่ยน เงินทองไหลมาเทมา
  • หง่อฮกหลิ่มห บุญทั้งห้ามาถึงประตู
  • กิ้มยกหมั่วต๋อง เงินทองเต็มบ้าน
  • จิดจู๋นห้องสูน ราบรื่นลิ่วลม
  • บ่านสู่อยู่อี่ ทุกเรื่องสมปราถนา
  • หับเก้เป่งอ้าน ทั้งบ้านสงบสุข
  • เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ
  • ตั่งตังยู่อี่ ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน

 

อั่งเปาคืออะไร

อั่งเปา คืออะไร

คำอวยพรวันตรุษจีน

  • สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลนี้ คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว
  • อั้งเปา” ในวันตรุษจีน มีคำจีนโบราณเรียกว่า “เอี๊ยบซ้วยจี๊” เป็นเงินสิริมงคลที่ผู้ใหญ่ให้แก่ลูกหลาน เพื่ออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง และเจริญก้าวหน้า
  • ธรรมเนียมหนึ่งในวันตรุษจีนคือการไป “ไป๊เจีย” หรือการไปไหว้ขอพร และอวยพรผู้ใหญ่ หรือญาติมิตร โดยส้มสีทอง 4 ผลห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าผู้ชาย ที่นิยม ใช้กันแต่ส้มสีทอง ไม่ใช้ส้มเขียว เพราะสีทองเป็นสีมงคล ทองอร่ามเรืองจะอวยพรให้รุ่งเรือง เช่นเดียวกับส้ม ที่คนจีนเรียกว่า ไต้กิก แปลว่า โชคดี ส้มสีทองที่ มอบแก่กันคือ นัยอวยพรให้ “นี้นี้ไต้กิก” แปลว่า ทุกๆ ปีให้โชคดีตลอดไป

 

กิจกรรมต่าง ๆ ในวันตรุษจีน

การจุดประทัด ในวันตรุษจีน

ประทัด

13802843595212

ธรรมเนียมจุดประทัด เกิดจากในอดีตมีคนหัวใสนำดินระเบิดไปบรรจุในบ้องไม้ไผ่เล็กๆ แล้วจุด เสียงไม้ไผ่ระเบิดก็ดังสนั่นหู เด็กเล็กได้ยินก็ร้องจ้า บรรดาสุนัข และสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันกลัวเสียงประทัดวิ่งหนีกันได้ ทำให้มีคนคิดว่าเสียงดังโป้งป้างของประทัด น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนได้ ซึ่งเหนียนคำนี้เป็นเสียงจีนกลาง จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า นี้ แปลว่า ปี คนจีนโบราณเชื่อว่าช่วงสิ้นปีที่อากาศหนาวเย็นจัดคนไม่สบายกันมาก เพราะเจ้าตัวเหนียนออกมาอาละวาด การจุดประทัดเสียงดังน่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนและโรคภัยไข้เจ็บให้ตกใจกลัวหนีไปได้ แล้วต่อมาธรรมเนียมนี้ก็ปรับไปว่า จุดประทัดให้เสียงดังๆ นี้จะเรียกโชคดีให้มาหา บ้างก็ว่า เพื่อให้สะดุดหูเทพเจ้า ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครอง

การเชิดสิงโต วันตรุษจีน

การเชิดสิงโต

การเชิดสิงโต ในวันตรุษจีน

เป็นการละเล่นของชาวจีนเหนือ และจีนใต้ ทางเหนือนิยมเล่นกันในช่วงตรุษจีน ส่วนทางจีนใต้นิยมการเชิดสิงโตมากกว่า นอกจากจะเล่นกันในช่วงมีงานแห่เจ้าแล้ว แม้แต่พิธีเซ่นสังเวยเพื่อขอฝนหลังงานเทศกาลงานชุนนุมใหญ่ ก็จะต้องมีรายการเชิดสิงโตด้วยการเชิดสิงโตของชาวจีนใต้ครึกครื้นและโลดโผนกว่า

ทางเหนือมากนัก เมื่อใกล้ถึงวันตรุษจีน ก็จะมีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจัดให้มีการเชิดสิงโต ซึ่งเรียกว่า “ ซิ่งฮุ่ย” โดยไปขอเงินบริจาคจากพวกคหบดี และก็จะมีอีก กลุ่มหนึ่งจัดเครื่องดนตรีและเตรียมทำตัวสิงโตสำหรับวันงานเมื่อเตรียมงานแล้วผู้จัดงานก็จะประกาศเส้นทางที่ขบวนสิงโตจะผ่านให้ชาวบ้านทราบ พอวันงานมาถึงหัวหน้าทีมจะนำเอาสิงโตไปแสดงความเคารพต่อคหบดี และมือกลองก็เริ่มตีกลอง จากนั้นก็เริ่มแสดงการเชิดสิงโต เมื่อมีบ้านใดนำเอาซองรางวัลไปแขวนไว้บนยอดไม้ ยิ่งสูงเท่าใดผู้แสดงก็ต้องต่อตัวกันขึ้นไปเพื่อเอาซองรางวัลนั้น การเชิดสิงโตแบบนี้เรียกว่า “ ซิ่งจือไชชิง” สิงโตที่เชิดนี้มักทำด้วนแกนไม้ไผ่ปะด้วยกระดาษสี แล้วใช้ผ้าปักไหมทำเป็นตัวสิงโตมีการเชิดอีกแบบหนึ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า เรียกว่าชุดสิงโตกินประทัด เนื่องจากการเชิดชุดนี้สิงโตต้องกินประทัดตลอดเวลา

การเชิดมังกร วันตรุษจีน

การเชิดมังกร

การเชิดมังกรในวันตรุษจีน

การเชิดมังกร ในวันตรุษจีน | มังกรแม้เป็นสัตว์ในเทพนิยาย แต่ชาวจีนให้ความสำคัญต่อมังกรมาก เพราะมังกรเป็นเทพผู้กำหนดให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลสามารถ ให้ความอุดมสมบูรณ์ ต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งยังเป็นสัตว์สิริมงคลที่ชาวจีนนับถือมานาน การเชิดมังกรจะเริ่มเมื่อใดนั้นยากที่จะกำหนดให้แน่ชัดลงไปแต่เนื่องจากมังกรเป็นเทพแห่งลม และฝน สามารถเปลี่ยนลมให้กลายเป็นฝน และกลับก้อนเมฆให้ฝนตกพิธีขอฝน จึงขาดการเซ่นไหว้มังกรไปไม่ได้ จากพิธีกรรมทางศาสนาในการเซ่นไหว้นี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านในเวลาต่อมา หมิงตงจิงเปิ่งหวาลู่ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งได้กล่าวไว้ว่าการละเล่นของชาวจีนในวันเทศกาลหยวนเชียว ว่า “มีประตูซ้ายขวา 2 ข้าง จะใช้หญ้าผูกมัดให้ดูเป็นรูปมังกรที่หญ้าจะติดดวงไฟไว้เป็นหมื่นดวงแล้วคลุมด้วยผ้าสีเขียวข้างบนอีกครั้ง ดูไกล ๆ เหมือนตัวมังกรคดเคี้ยวไปมา คล้ายมังกรกำลังเหินฟ้าสวยงามยิ่งนำ”จากข้อความนี้จะเห็นว่าในสมัยราชวงศ์ซ่งนั้น การแสดงโคมไฟมังกรก็เป็นที่นิยมกันแล้วในปัจจุบันนี้การเชิดมังกรเป็น ที่รู้จักกันทั่วไป ทั้งจีนทางเหนือและทางใต้การแสดงดูจะครึกครื้นมากกว่าการเชิดสิงโตเสียอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิดมังกรในวันตรุษจีน ซึ่งเป็นงานเชิดที่ยิ่งใหญ่หรือแม้ในงานแห่เจ้า ก็จะเว้นการเชิดมังกรเงินและมังกรทองเสียไม่ได้เช่นกัน

การเชิดมังกรจะเชิดในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้ ถ้าเชิดเวลากลาวงวันก็ไม่ต้องมีโคมไฟหรือดวงไฟ ถ้าเชิดกลางคืนดวงไฟต่าง ๆ จะทำให้มังกรดูสวยงาม มากขึ้น ทั้งยังสามารถให้ความสว่าง ในเส้นทางที่ขบวนมังกรผ่านอีกด้วย ตัวมังกรจะทำด้วยโครงไม้ไผ่แล้วคลุมด้วยผ้าแพรปักลวดลายสวยงาม โดยเย็บเป็นเกล็ดด้วย ผ้าหลากสีก็ได้หรือจะนำเอาหญ้าและแผ่นกระดาษทำเป็นตัวมังกรแล้วตกแต่งด้วยสีสันก็ได้ เมื่อมีคนเชิดตัวมังกรก็ต้องมีอีกคนหนึ่งเชิดลูกแก้ว ทั้งนี้เพราะลูกแก้ว เป็นของวิเศษที่มังกรชอบมากที่สุด บางครั้งก็จะมีคนใส่หน้ากากเป็นพระหัวโตทำหน้าที่ล่อมังกร ให้เดินไปมาในท่าทางต่าง

ของขวัญวันตรุษจีน

นอกจากการให้อั่งเปาแล้ว ก็ยังมีการ์ดอวยพร ของขวัญซึ่งมักจะเป็นสิ่งของที่เป็นสิริมงคลต่างๆตามความเชื่อของชาวจีนสมัยโบราณ เช่น

  • ปี่เซียะ มีหลายชื่อ บางทีเรียก ผีซิ่ว เผ่เย่า กวางสวรรค์ ฯเป็นสัตว์มงคลประจำยุค 8 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2566)ลักษณะ หัวเป็นมังกร ขาเหมือนสิงโต ลำตัวเหมือนกวางมีปีก มีหาง มีเขา หน้าตาดุ อ้าปากกว้าง ไม่มีรูก้นนิสัย กล้าหาญ ตรงไปตรงมา รักเจ้าของ ให้คุณกับผู้บูชาทุกคนกินอย่างเดียว ไม่ถ่าย จึงช่วยให้มีทรัพย์ มีแต่เงินไหลเข้า ไม่ไหลออกใครมีไว้ ช่วยเสริมบารมี เสริมโชคลาภ ทั้งการค้าการขายและด้านเสี่ยงโชค
  • รูปปั้นเต่า เต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน ดังนั้นการวางรูปปั้นเต่าไว้ในบ้านจึงช่วยส่งเสริมให้คนสูงอายุในบ้านมีอายุยืน คนเจ็บคนไข้หายเจ็บป่วย คนหนุ่มคนสาวจะมีโชคมีลาภ และเด็กเล็กเจริญเติบโต ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้เต่าเพื่อสลายพลังปราณชี่พิฆาตได้ด้วย โดยการตั้งเต่าให้หันหน้าไปยังทิศที่มีปราณชี่พิฆาตต่างๆ
  • ผี่อิว (สำเนียงจีนแต้จิ๋ว) หรือ ผีซิว (สำเนียงจีนกลาง) เป็นสัตว์ป่าที่มีรูปร่างคล้ายกับหมี มีลักษณะห้าวหาญ เปิดเผย ตรงไปตรงมา และดุดัน จึงมีการเปรียบเปรยกันว่า ผี่ฮิวคือ ทหารหาญที่ห้าวหาญ สามารถขจัดอสูรร้ายต่างๆได้ด้วยลักษณะของผี่ฮิว จึงนิยมตั้งรูปปั้นผี่ฮิวเพื่อสลายพลังปราณหยินและอสูรร้ายต่างๆ (รวมทั้งให้โชคให้ลาภ) ผี่ฮิวจะมีข้อแตกต่างกับกิเลนตรงที่ ผี่ฮิวไม่สนใจว่าคนไหนจะดีหรือร้าย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าที่ทำกิจการ
    การค้าที่ถูกกฎหมาย หรือร้านค้าสถานบันเทิงเริงรมย์ บ่อนการพนัน ไนท์คลับ ก็สามารถตั้งรูปปั้นผี่ฮิวเพื่อให้โชคให้ลาภได้เช่นกัน
  • คางคกสามขา รูปปั้นคางคกสามขา นิยมใช้ในหมู่คนค้าขาย เพื่อเพิ่มพูนเงินทองให้กับเจ้าของกิจการ ควรจะใช้คางคกสามขาที่เป็นสีทอง หรืออาจจะเป็นคางคก
    สามขาที่ทำจากหยก เพราะหยกถือว่าเป็นสิ่งของที่มีค่า แต่อย่างไรก็ดีหยกก็เทียบค่าของทองไม่ได้
  • หยก มีความเชื่อว่าพลังของหยกจะช่วยให้อายุของพวกเขายืนยาวขึ้น หรือแม้กระทั่งจะเป็นอมตะเหมือนเทพยดาหากได้มีไว้ในครอบครอง เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามในสังคม และมีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดและวัฒนธรรมของชาวจีน

10อย่างที่ต้องทำในวันตรุษจีน

สิบอย่างที่ต้องกระทำใน วันตรุษจีน

คนส่วนมากรู้จัก “ตรุษจีน”ว่าเป็นวันรับ “อั่งเปา” แต่จริงๆ แล้วตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่จีน คนจีนก็มีกิจกรรมคล้ายๆ กับคนไทยกระทำในวันปีใหม่ คือเป็นวันพบปะญาติมิตร ไหว้พระ อวยพรผู้ใหญ่ ส่วนอั่งเปานั้นเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ ที่สร้างความสุขความตื่นเต้นให้กับเด็กน้อย ตรุษจีนคือ “วันชิวอิก” วันแรกของปี จะเริ่มต้นเมื่อหลังเที่ยงคืนของ “วันซาจั๊บ” ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปี เรียกอีกอย่างว่า “วันถือ” เพราะถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นมงคล ทั้งนี้ กิจที่คนจีนจะต้องกระทำในเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่ “วันจ่าย” ซึ่งเป็นวันจ่ายตลาดเตรียมข้าวของสำหรับไหว้ในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งเป็นวันจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง

  1. ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ วันซาจั๊บ ช่วงเช้าหลังจากไหว้เจ้าในบ้าน คือ “ตีจูเอี๊ย” ไหว้บรรพบุรุษแล้ว ในตอนเที่ยงจึงไหว้ ผีไม่มีญาติ ซึ่งของไหว้จะมีทั้งของคาว-หวาน รวมทั้งเป็ด-ไก่ มากหรือน้อยแล้วแต่ฐานะของผู้ไหว้ และมีเครื่องกระป๋อง ข้าวสาร เกลือ เพื่อให้ผีไม่มีญาติพกไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องจุดขี้ไต้ 2 ชิ้นไว้ด้วย เมื่อไหว้เสร็จจะจุดประทัด จากนั้นจะโปรยข้าวสารผสมเกลือ ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป
  2. รวมญาติกินเกี๊ยว ความสำคัญอีกประการของตรุษจีน คือเป็นวัน รวมญาติ โดยทุกคนจะเดินทางมาร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวในวันซาจั๊บมื้อสุดท้ายก่อน ขึ้นปีใหม่ และที่ต้องเป็น “เกี๊ยว” ก็เพราะลักษณะของเกี๊ยวที่เหมือนกับ “เงิน” ของจีน ให้ความหมายว่า ให้มั่งมีเงินทอง
  3. กินเจมื้อเช้า คือมื้อแรกของปี ส่วนในวันชิวอิก คนจีนจะกินเจมื้อแรกของปี เชื่อกันว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี
  4. ทำพิธีรับ “ไช่ซิงเอี้ย” “ไช่ซิงเอี้ย” เป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ส่วนใหญ่จะทำพิธีระหว่างหลังเที่ยงคืนของวันซาจั๊บจน ถึงก่อนตี 1
  5. ห้ามกวาดบ้าน ก่อนตรุษจีน จะมีการทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหยากไย่ครั้งใหญ่ เมื่อถึงวันปีใหม่จะไม่กวาดบ้านจนถึงวันชิวสี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น วันแรกของการเริ่มต้นทำงาน เพราะถือว่าจะกวาดเอาสิ่งที่เป็นมงคลทิ้งไป แต่ถ้าบ้านใครสกปรกจนทนไม่ไหว ก็จะกวาดเข้าคือ กวาดจากหน้าบ้านเข้าไปในบ้าน
  6. ติด “ตุ๊ยเลี้ยง” หรือคำอวยพรปีใหม่ เมื่อก่อนคนจีนที่พอมีความรู้จะเขียน “ตุ๊ยเลี้ยง” เอง โดยใช้หมึกดำหรือสีทองเขียนคำอวยพรลงบน กระดาษสีแดง ถ้าไม่มีความรู้ก็จะไปจ้างมืออาชีพเขียนให้ ซึ่งแหล่งใหญ่ก็คือที่เยาวราช คำอวยพรที่เขียนจะประกอบด้วยตัวอักษร 7 ตัว เขียนเป็นคำกลอน โดยมาก จะอวยพรให้ทำมาค้าขึ้น ให้มั่งมีเงินทอง ติดตามสองข้างประตูบ้าน และมีอีกแผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก เขียนคำว่า “ชุก ยิบ เผ่ง อัง” แปลว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย รวมทั้งติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย ที่เรียกว่า “หนี่อ่วย” ซึ่งเป็นภาพมงคลของจีน ถือเป็นงานศิลปะที่สำคัญอีกอย่างนอกเหนือจาก การตัดกระดาษ มักติดที่ประตูหน้าบ้าน
  7. ใส่เสื้อผ้าใหม่ สีสันสดใส
  8. ส้ม 4 ผล อวยพรผู้ใหญ่ วันชิวอิกทุกคนจะนำส้ม 4 ผล ไปกราบผู้ใหญ่ขอพร เจ้าบ้านเองนอกจากจะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน และลูกสมอจีนไว้รับแขกแล้ว เมื่อมีผู้มาอวยพร จะรับส้มขึ้นมา 2 ผล และนำส้มในบ้านที่เตรียมไว้วางคืนลง 2 ผล
  9. รับอั่งเปา
  10. ไหว้เจ้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

 

เที่ยวตรุษจีนที่ไหนดี

ตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช กรุงเทพมหานคร

ไชน่าทาวน์เมืองไทย โดยเฉพาะถิ่นสัมพันธวงศ์ ทำเลมังกรทองนั้น ถือเป็นชุมชนที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เนื่องจากเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่เก่าแก่ มีที่พัก แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เป็นศูนย์การค้านานาชนิด โดยเฉพาะชื่อเสียงในด้านสินค้าของที่ระลึกเกี่ยวกับทองคำ และเป็นแหล่งรวมอาหารเลิศรส ไม่ว่าจะเป็นอาหารจีนแต้จิ๋วที่ขึ้นชื่อ อาหารทะเลสดอร่อย สิ่งเหล่านี้คือ ความมีเสน่ห์ของเขตสัมพันธวงศ์ ที่เรียกกันว่าทำเลมังกรทองของกรุงเทพฯ

ไชน่าทาวน์เมืองไทย

ไชน่าทาวน์เยาวราช

ตรุษจีนที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

งานประเพณีแห่พระสะเดาะเคราะห์ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อต้องการสืบสานประเพณีบุญเทศกาลตรุษจีนของชาวไทยเชื้อสายจีนและอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่ตามความเชื่อ ของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ด้วยการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และทำบุญไหว้พระ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ภายในงานประเพณีแห่พระสะเดาะห์เคราะห์ มีพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารแก่พระโพธิสัตว์ พิธีลุยไฟ ตักบาตรแด่พระสงฆ์ 99 รูป เจริญพุทธมนต์ เวียนเทียน และการแสดงมหรสพ เช่น การแสดงโลโก๊ะ ลิเก และหนังตะลุง มีการจำหน่ายสินค้า OTOP การออกร้านจำหน่ายอาหารพื้นเมือง

ตรุษจีนที่หาดใหญ่

เทศกาลตรุษจีนที่ภูเก็ต

เพอรานากัน คำว่า “พารานากัน” เป็นภาษามลายู หมายถึงผู้ชายชาวจีนโพ้นทะเล ที่มาแต่งงาน กับผู้หญิงพื้นเมืองในคาบสมุทรมลายู เมื่อเกิดลูกออกมาเป็นผู้ชายจะเรียกว่า บาบ๋า ถ้าเป็นผู้หญิงจะเรียกว่ายองย้า วัฒนธรรมของเพอรานากัน จะมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่คล้ายคลึงกันในทุกพื้นที่ กิจกรรมภายในงาน มีการประดับโคมจีน บริเวณตึกโบราณสองฝั่งถนนดีบุกแจกอั่งเปาคำอวยพรของกวมอิมปุดจ้อ แสดงแฟชั่นโชว์ วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย ตามแบบวัฒนธรรมภูเก็ตเพอรานากัน ออกร้านสาธิต และขายอาหารพื้นเมือง แบบวัฒนธรรมภูเก็ตเพอรานากัน

เทศกาลตรุษจีนที่ภูเก็ต

เทศกาลตรุษจีนที่โคราช นครราชสีมา

วันตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ถือเป็นเทศกาลใหญ่เป็นช่วงเทศกาลมหามงคลชาวจีนทุกคนจะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนับแต่พ่อค้า คหบดีจนถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เทศกาลตรุษจีนจึงเป็นการส่งเสริมสายสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวจีน

เทศกาลตรุษจีนที่โคราช

ตรุษจีนกรุงเก่า อยุธยามหามงคล

ประเพณีตรุษจีน นั้นถือได้ว่าเป็นวันสำคัญกับชาวจีนเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทย

ตรุษจีนกรุงเก่า อยุธยามหามงคล

ตามลัทธิประเพณีของชาวจีนแต่เก่าก่อนนั้นเชื่อว่า เมื่อวันตรุษจีนมาถึงจะไม่มีการทำงานใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการหยุดจากการทำงานหนักตลอดทั้งปี แล้วใช้เวลาพักผ่อนให้เต็มที่ และก่อนจะถึงวันตรุษจีน จริง ๆ นั้นทุกคนจะทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านของตนเอง ตามความเชื่อว่า จะเป็นการส่งเทพเจ้ามาคุ้มครองครอบครัวของตน และให้เงินทองไหลมาเทมาด้วย สิ่งที่สำคัญเห็นกันเป็นธรรมเนียมในปัจจุบัน คือเวลาใครมาเยี่ยมเยือนก็จะมีอังเปา (เงินใส่ซอง) ให้เป็นขวัญถุง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน รวมทั้งเป็นการบริจาคทาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าขายกับประเทศจีนมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย และมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล วันตรุษจีน จาก Wiki

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้