วันสตรีสากล (International Women’s Day – IWD) คือวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ความสำคัญของวันนี้ คือ กิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรี เพื่อความเท่าเทียมกัน

วันสตรีสากล

หลังจากพรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกาจัดงาน วันสตรี (Woman’s Day) ที่เมืองนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1909 นักปฏิวัติชาวเยอรมัน ชื่อ Clara Zetkin ได้เสนอในที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมสากล 1910 (1910 International Socialist Woman’s Conference)  ว่า วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ควรเป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญของผู้หญิงวัยทำงาน โดยให้ยึดถือวันดังกล่าวเป็น วันสตรีสากล หรือ วันสตรีแรงงานสากล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ ที่สหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1917 หลังจากที่ผู้หญิงได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ทำให้วันที่ 8 มีนาคม กลายเป็นวันหยุดประจำชาติที่นั่น นับแต่นั้นมา วันนี้ก็มีอิทธิพลถูกใช้ประกอบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยนักเคลื่อนไหวทางสังคมและในประเทศคอมมิวนิสต์ จนกระทั่ง ถูกเริ่มนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิสตรีในช่วงปี ค.ศ. 1967 ในระดับองค์กรนานาชาติ  องค์การสหประชาชาติ เริ่มต้นเฉลิมฉลองวันนี้ ในปี ค.ศ. 1975

กิจกรรมที่ระลึกในวันสตรีสากลนั้น ในบางประเทศ บ้างก็เป็นวันสำคัญที่ถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ บ้างก็เป็นวันที่ปล่อยผ่านโดยไม่ให้ความสำคัญ บ้างก็เป็นวันแห่งการประท้วงเรียกร้องสิทธิต่างๆ บ้างก็เป็นวันเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง

ประวัติวันสตรีสากล

การฉลองวันสตรีที่เก่าแก่ที่สุดเรียกว่า วันสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Day) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909 ที่นิวยอร์ก โดยพรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกา ตามคำแนะนำของนักกิจกรรม Theresa Malkiel อย่างไรก็ตาม มีนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ได้อธิบายความเป็นมาของวันที่ 8 มีนาคม โดยกล่าวอ้างว่า เป็นวันที่ระลึกถึงการประท้วงของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857

ประวัติวันสตรีสากล

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1910 มีการจัดการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมสากล (International Socialist Women’s Conference) เพื่อนำร่องการประชุมทั่วไปของกลุ่มนักสังคมนิยมที่สอง ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากนักสังคมนิยมอเมริกัน โดยผู้ที่เสนอการจัดตั้ง วันสตรีประจำปี คือ นักสังคมนิยมชาวเยอรมัน ชื่อ Luise Zietz ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิก และต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนโดย ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ Clara Zetkin และนักกิจกรรมสังคมนิยม Käte Duncker โดยการประชุมดังกล่าวไม่ได้ระบุวันที่ไว้ โดยผู้ที่เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมประชุม (ผู้หญิง 100 คนจาก 17 ประเทศ) เห็นด้วยกับแนวคิดและกลยุทธ์ในการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมกันรวมถึงสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง

ในปีต่อมา ในวันที่ 19 มีนาคม 1911 นับเป็น วันสตรีสากล เป็นครั้งแรกโดยคนมากกว่าหนึ่งล้านคนทั้งในประเทศ ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ให้การยอมรับ ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมีการประท้วงกว่า 300 ครั้ง ในกรุงเวียนนา ผู้หญิงเดินขบวนที่ริงสตราเซ่ และถือป้ายแสดงความเคารพต่อผู้เสียสละของคอมมูนปารีส (Paris Commune ซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรงและนักปฏิวัติ) ซึ่งทำไปเพื่อเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียง และสิทธิในการทำงานฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ ยังได้ประท้วงเพื่อต่อต้านการกีดกันทางเพศในการจ้างงานด้วย

สัญลักษณ์ วันสตรีสากล ในอดีต

ชาวอเมริกันยังคงเฉลิมฉลอง วันสตรีแห่งชาติ ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์

ปี ค.ศ. 1913 ที่ประเทศรัสเซีย  ผู้หญิงรัสเซียได้เริ่มจัด วันสตรีสากล เป็นครั้งแรกในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ (ตามปฏิทิน Julian ที่ใช้ในรัสเซีย)

ปี ค.ศ. 1914 ที่ประเทศเยอรมัน วันสตรีสากล ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม สาเหตุที่วันนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ โดยมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงของผู้หญิง ซึ่งการรณรงคืดังกล่าวไม่เป็นผล จนกระทั่งปี ค.ศ. 1918 ในภายหลัง นานาประเทศก็ยึดถือเอาวันที่ 8 มีนาคมนี้ เป็น วันสตรีสากล เช่นเดียวกัน

ในลอนดอนมีการเดินขบวนจาก โบว์ ไปยัง จตุรัสทราฟัลการ์ เพื่อสนับสนุนการมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1914 นักเคลื่อนไหว Sylvia Pankhurst ถูกจับกุมที่ด้านหน้าสถานีชาร์ริงครอส ระหว่างทางไปปราศรัยที่จัตุรัสทราฟัลการ์

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1917 ตามปฏิทินเกรกอเรียน ในเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซีย ที่ Petrograd (รู้จักกันในปัจจุบันว่า เซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์ก) คนงานสตรีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เริ่มการเดินขบวนซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งเมือง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งใกล้เคียงกับเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องให้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย โดยเหล่าผู้หญิงในเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กนัดหยุดงานประท้วงในวันนั้นเพื่อ “ขนมปังและสันติภาพ” โดยเรียกร้องให้ยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งลง เพื่อหยุดปัญหาการขาดแคลนอาหารในรัสเซียและให้ยกเลิกลัทธิจักรพรรดิ

ความเป็นมา วันสตรีสากล

ผู้นำปฏิวัติ ลีออนทรอทสกี้ บันทึกไว้ว่า “วันที่ 23 กุมภาพันธ์ (8 มีนาคม) เป็นวันสตรีสากล และการประชุม และการกระทำต่าง ๆ ถูกคาดการณ์ไว้แล้ว แต่พวกเราก็ไม่ได้คาดคิดว่า วันสตรี นี้จะเป็นการเปิดฉากการปฏิวัติ โดยการปฏิบัติการนั้นได้ถูกคาดการณ์ไว้แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ระบุวันที่แน่นอน ในตอนเช้า ไม่ว่าจะมีคำสั่งอย่างไรก็ตาม คนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็พากันเดินออกจากโรงงาน และส่งตัวแทนไปขอแรงสนับสนุนการประท้วง ซึ่งนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ทุกคนออกไปชุมนุมกันที่ถนน เจ็ดวันต่อมาซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ก็สละราชบัลลังก์ และรัฐบาลเฉพาะกาล อนุมัติ ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนได้

หลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม กลุ่มบอลเชวิค นำโดย อเล็กซานดร้า โคลลอนไต และ วลาดีมีร์ เลนิน ตั้งใจประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในสหภาพโซเวียต แต่วันดังกล่าวก็ยังคงเป็นวันทำการจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1965 โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1965 โดยคำสั่งของคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจเต็มแห่งรัฐสภาโซเวียต ประกาศว่า วันสตรีสากล เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในสหภาพโซเวียต “เพื่อเป็นการรำลึกถึง คุณงามความดีอันโดดเด่นของผู้หญิงโซเวียตในโครงสร้างคอมมิวนิสต์ และเพื่อระลึกถึงความเสียสละในการป้องกันประเทศบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงสงครามเพื่อมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่ และเพื่อระลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง รวมทั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมอันยิ่งใหญ่ของเหล่าผู้หญิงที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชนและการต่อสู้เพื่อสันติภาพ ดังความสำคัญที่กล่าวมานั้น วันสตรี จึงสมควรยกย่องให้เป็นวันเฉลิมฉลองเฉกเช่นวันหยุดสำคัญอื่น”

ประวัติวันสตรีสากล (ต่อ)

หลังจากมีการประกาศอย่างเป็นทางการในสหภาพโซเวียต หลังจากการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1917 วันหยุดได้รับการเฉลิมฉลองอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ และนักเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ในปี ค.ศ. 1936 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ Dolores Ibárruri เป็นผู้นำในการเดินขบวนของผู้หญิงที่กรุงมาดริด ในคืนก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองสเปน

วันสตรีสากล จีน

เพื่อเป็นการระลึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนปี ค.ศ. 1922 ในปี ค.ศ. 1927 มีการเดินขบวนของผู้หญิงและผู้สนับสนุนชายรวม 25,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้แทนของก๊กมินตั๋ง, YWCA และองค์กรแรงงานที่เมืองกวางโจว  โดยหลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่ประชุมสภาแห่งรัฐ ได้ประกาศในวันที่ 23 ธันวาคมว่า วันที่ 8 มีนาคม จะเป็นวันหยุดราชการ โดยผู้หญิงจะได้หยุดครึ่งวัน

วันสตรี ยังคงเป็นวันหยุดเพื่อการเฉลิมฉลองของคอมมิวนิสต์จนถึงปี ค.ศ. 1967 เมื่อเกิดเหตุการณ์เริ่มต้นในการสนับสนุนและเรียกร้องสิทธิสตรีระลอกสองขึ้น โดยในวันดังกล่าว ได้กลายเป็นวันแห่งการเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประเทศในแถบยุโรปได้เรียกวันนี้ว่า “วันสตรีสากลแห่งการต่อสู้” (Women’s International Day of Struggle) ในปี ค.ศ. 1970 และ ปี ค.ศ. 1980 กลุ่มสตรีได้ร่วมกับฝ่ายซ้ายและองค์กรแรงงาน เพื่อเรียกร้อง ความเท่าเทียมในการได้รับค่าตอบแทน ความเท่าเทียมทางโอกาสทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมในสิทธิทางกฎหมาย สิทธิในการมีบุตร สิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร และการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิง

องค์การสหประชาชาติเริ่มเฉลิมฉลอง วันสตรีสากล ในปีสตรีสากล 1975 และในปี ค.ศ. 1977 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้เชิญประเทศสมาชิก เห็นชอบประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็น วันสหประชาชาติเพื่อสิทธิสตรีและสันติภาพโลก

ความเป็นมาวันสตรีสากล

วันสตรีสากล ได้เป็นชนวนเหตุของความรุนแรงในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2007 เมื่อตำรวจได้ทุบตีชายหญิงหลายร้อยคนที่วางแผนชุมนุม (การชุมนุมครั้งก่อนหน้า จัดขึ้นที่กรุงเตหะรานในปี ค.ศ. 2003) ตำรวจจับกุมผู้หญิงหลายสิบคน ซึ่งบางคนถูกปล่อยตัวหลังจากถูกกักตัวและสอบปากคำนานหลายวัน Shadi Sadr, Mahbubeh Abbasgholizadeh และนักกิจกรรมชุมชนอีกหลายคนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2007 ยุติการอดอาหารประท้วงสิบห้าวัน

ในศตวรรษที่ 21 ในประเทศชาติตะวันตก วันนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจาก บริษัทยักษ์ใหญ่ และใช้เพื่อส่งเสริมความรู้สึกดี มากกว่าการใช้การปฏิรูปทางสังคมที่รุนแรง ในปี 2009 บริษัทด้านการตลาดของอังกฤษชื่อ Aurora Ventures ได้จัดทำเว็บไซต์ “International Women’s Day” พร้อมการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ทางเว็บไซด์เริ่มโปรโมตแฮชแท็กเป็น ธีมของวัน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นที่นิยมและถูกใช้ในระดับสากล วันดังกล่าวได้รับการโปรโมทเพื่อการระลึกถึงความสำคัญ โดยธุรกิจอาหารเช้า และการสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงการอวยพรในวันแม่ด้วย

การเดินขบวนของผู้หญิง

วันสตรีสากล การเฉลิมฉลองวันสตรีสากล

วันสตรีสากล 2010

  • เนื่องในโอกาส วันสตรีสากล 2010 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับความยากลำบากของผู้หญิงพลัดถิ่น การพลัดถิ่นของประชากรเป็นหนึ่งในผลที่แย่ที่สุดอันเป็นผลที่ตามมาจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มผู้หญิงจำนวนมาก

วันสตรีสากล 2011

  • แม้ว่าการเฉลิมฉลองในกลุ่มประเทศตะวันตกจะประกอบกิจกรรมกันแบบเรียบง่ายและไม่ค่อยดึงดูดความสนใจ แต่งานเฉลิมฉลองในวันที่ 8 มีนาคม 2011 ก็ถูกจัดขึ้นในกว่า 100 ประเทศ เพื่อเป็นการฉลอง วันสตรีสากล ครบรอบ 100 ปี
  • ในสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศว่าเดือนมีนาคม 2011 เป็น “เดือนแห่งประวัติศาสตร์ของผู้หญิง” เรียกร้องให้ชาวอเมริกันทำเครื่องหมาย IWD เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “ความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาของผู้หญิง” ในประวัติศาสตร์ของการสร้างประเทศ
  • ในช่วงคืนก่อนถึงวันสตรีสากล รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ได้เปิดตัว “100 ความคิดริเริ่มของผู้หญิง: การพัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิงผ่านการแลกเปลี่ยนในระดับสากล” และในช่วงเวลาก่อนถึงวันสตรีสากล 2011 สภากาชาดได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ยอมลดละความพยายามในการป้องกันเหตุข่มขืน การคุกคามทางเพศ และความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง ซึ่งเกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในในจุดที่มีความขัดแย้งในทุกพื้นที่
  • ที่ประเทศออสเตรเลีย มรการออกเหรียญที่ระลึกครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล
  • ในประเทศอียิปต์ ที่ จัตุรัสทาห์รีร์ กรุงไคโร ผู้ชายหลายร้อยคนออกมาไม่ให้การสนับสนุน รวมถึงข่มขู่ผู้หญิงที่ออกมายืนเพื่อดำรงซึ่งสิทธิของตน ในขณะที่ตำรวจและทหารยืนเฝ้ามองเหตุการณ์โดยไม่มีการเข้าไประงับเหตุเพื่อหยุดกลุ่มผู้ชายดังกล่าว

วันสตรีสากล 2012

  • ออกซ์แฟม อเมริกา (Oxfam America) เชื้อเชิญให้ผู้คนเฉลิมฉลองให้กับผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตโดยการส่ง อีการ์ดวันสตรีสากล ให้ฟรี หรือ ให้เกียรติผู้หญิงที่พยายามสร้างความแตกต่างในการต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน ด้วยการให้รางวัลวันสตรีสากลจากอ็อกแฟม
  • เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 2012 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือมารดาและภรรยาของผู้ที่หายตัวไปในระหว่างการสู้รบ คนส่วนใหญ่ที่หายตัวไปเนื่องจากความขัดแย้งคือผู้ชาย ซึ่งสร้างความปวดร้าวที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีหรือลูกชายที่หายตัวไป โดยผู้หญิงหลายคนประสบความยากลำบากทั้งปัจจัยทางทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เน้นย้ำถึงหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในการค้นหาบุคคลที่สูญหาย รวมถึงให้ข้อมูลความคืบหน้ากับทางครอบครัวผู้สูญหายด้วย

วันสตรีสากล 2013

  • คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ให้ความสำคัญไปที่ชะตากรรมของผู้หญิงที่ถูกจองจำในคุก

วันสตรีสากล 2014

  • นักร้องชาวอเมริกัน บียอนเซ่ ได้โพสต์วิดีโอ วันสตรีสากล ไปยังบัญชี YouTube ของเธอ ตลอดวิดีโอเพลงของเธอ “*** Flawless” ซึ่งรวมถึงส่วนหนึ่งของคำพูด “เราทุกคนควรสนับสนุนสิทธิสตรี” (We Should All Be Feminists) โดยผู้แต่ง Chimamanda Ngozi Adichie

วันสตรีสากล 2015

  • รัฐบาลและนักเคลื่อนไหวทั่วโลกเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการระลึกถึง งานครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (20th anniversary year of the Beijing Declaration and Platform for Action) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ในอดีตที่กำหนดระเบียบวาระเพื่อการตระหนักถึงสิทธิสต

วันสตรีสากล 2016

  • ประธานาธิบดีแห่งอินเดีย ประณับ มุกเคอร์จี กล่าวว่า “ในโอกาสวันสตรีสากล ผมขอกล่าวทักทายอย่างอบอุ่นและความปรารถนาดีต่อสตรีอินเดีย และขอขอบคุณสำหรับการมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศของเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”
  • กระทรวงสตรีและการพัฒนาเด็ก ประกาศจัดตั้งศูนย์การจัดการภาวะวิกฤตแบบครบวงจร (One-stop Crisis Center) อีก 4 แห่ง ในวันที่ 8 มีนาคม เพิ่มเติมจากศูนย์อีก 8 แห่งที่ดำเนินงานอยู่ทั่วประเทศ และก่อนถึง วันสตรี สายการบินแห่งชาติ Air India จัดเที่ยวบิน ที่อ้างว่าเป็นเที่ยวบินแบบไม่หยุดพักที่ยาวที่สุดในโลกที่มีการจัดการโดยผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ การเฉลิมฉลองวันสตรีสากล โดยเป็นเที่ยวบินที่ออกจาก เดลีไปซานฟรานซิสโก ครอบคลุมระยะทางประมาณ 14,500 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 17 ชั่วโมง

วันสตรีสากล 2017

  • ในข้อความที่สนับสนุน วันสตรีสากล อันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีในปัจจุบันว่า สิทธิสตรียังคง “ลดลง จำกัด และถอยหลัง” โดยเห็นได้จากการที่ผู้ชาย ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้นำและช่องว่างระหว่างเพศทางที่กว้างมากขึ้น เขาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง “โดยการเพิ่มบทบาทของสตรีในทุกระดับ รับฟังเสียงของพวกเธอ และให้พวกเธอมีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตของพวกเธอเอง รวมถึงกำหนดอนาคตของโลกของเรา”

วันสตรีสากล 2019

  • ธีมของสหประชาชาติสำหรับ วันสตรีสากล คือ ‘คิดอย่างเท่าเทียม สร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ (‘Think equal, build smart, innovate for change)  จุดสำคัญของธีม คือ วิธีการที่เป็นนวัตกรรมซึ่งจะช่วยให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ และการเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านระบบการคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงบริการสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
  • สหพันธรัฐเบอร์ลิน ได้ประกาศให้ วันสตรีสากล เป็นวันหยุดราชการเป็นครั้งแรก

กิจกรรม วันสตรีสากล การเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียม

ดอกไม้สัญลักษณ์ วันสตรีสากล

  • อิตาลี รัสเซีย แอลบาเนีย และหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ ดอกมิโมซ่าสีเหลือง (Mimosa)
  • ฝรั่งเศส ได้แก่ ดอกไวโอเล็ตและดอกลิลลี่ ออฟ เดอะ วัลเลย์ (หรือ ดอกลิลลี่แห่งหุบเขา) Viola และ Lily of the Valley

เกร็ดความรู้ วันสตรีไทย ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี ส่วน ดอกไม้สัญลักษณ์วันสตรีไทย ได้แก่ ดอกคัทลียาควีนสิริกิติ์

ดอกไม้สัญลักษณ์ วันสตรีสากล ฝรั่งเศส

ดอกลิลลี่ ออฟ เดอะ วัลเลย์

วันสตรีสากลรอบโลก

ประเทศที่ประกาศว่า วันสตรีสากล เป็นวันหยุดราชการ ได้แก่ อัฟกานิสถาน แองโกลา อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา จีน(สำหรับผู้หญิงเท่านั้น) คิวบา จอร์เจีย กินี-บิสเซา เอริเทรีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ลาว มาดากัสการ์(สำหรับผู้หญิงเท่านั้น) มอลโดวา มองโกเลีย เนปาล รัสเซีย ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ยูกันดา ยูเครน อุซเบกิสถาน เวียดนามและแซมเบีย

ในบางประเทศ เช่น แคเมอรูน โครเอเชีย โรมาเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย และชิลี วันนี้ไม่ได้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ก็เป็นวันที่มีประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง ในวันนี้เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายจะให้ดอกไม้และของขวัญเล็กๆน้อยๆ กับผู้หญิง ที่รู้จัก เช่น เพื่อน มารดา ภรรยา แฟนสาว เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น ในบางประเทศ เช่น บัลแกเรีย และโรมาเนีย พบว่า วันนี้เปรียบเสมือนวันแม่ ที่เด็กจะให้ของขวัญเล็กๆน้อยๆ กับมารดาและยายของตน ในรัสเซีย บริบทเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ได้ถูกเอ่ยถึงไปตามกาลเวลา กลายเป็นเพียงวันที่ให้เกียรติผู้หญิง และความงดงามของผู้หญิง

ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเช็ก มีการจัดงานเฉลิมฉลองขนาดใหญ่ สไตล์โซเวียตเป็นประจำทุกปี แต่หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ วันหยุดซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของระบอบการปกครองสมัยเก่า วันสตรีสากล ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ให้เป็น วันสำคัญอย่างเป็นทางการ โดยรัฐสภาของสาธารณรัฐเช็กในปี ค.ศ. 2004 ตามข้อเสนอของพรรคเดโมแครตและพรรคคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งของภาครัฐในวงกว้างรวมทั้งสิทธิทางการเมืองที่เห็นว่า วันหยุดนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันของชาติคอมมิวนิสต์ในอดีต

ดอกมิโมซ่า ดอกไม้วันสตรีสากล

ดอกมิโมซ่า ดอกไม้วันสตรีสากล

วันนี้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศส วันสตรีสากล ในภาษาฝรั่งเศส คือ Journée Internationale des femmes ส่วนที่อิตาลีเพื่อเฉลิมฉลอง วันสตรีสากล ผู้ชายจะให้ดอกมิโมซ่าสีเหลืองกับผู้หญิง

ในปี ค.ศ. 1946 นักการเมืองคอมมิวนิสต์ เทเรซา มัตเตอิ เลือกดอกมิโมซ่าเป็นสัญลักษณ์ของวันสตรีสากลในอิตาลี เพราะเธอรู้สึกว่าสัญลักษณ์ของวันสตรีสากลในฝรั่งเศสคือ ดอกไวโอเล็ตและดอกลิลลี่ ออฟ เดอะ วัลเลย์ (หรือ ดอกลิลลี่แห่งหุบเขา) ซึ่งหาได้ยากและราคาแพงเกินกว่าจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ที่แพร่หลายในอิตาลีได้

ที่สหรัฐอเมริกา นักแสดงและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน Beata Pozniak ได้ทำงานร่วมกับนายกเทศมนตรีเมืองลอสแองเจลิสและผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อชักชวนให้สมาชิกในสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา เสนอรับรองวันหยุดอย่างเป็นทางการ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994  มติร่วม316 ใจความสำคัญที่จะผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล อย่างเป็นทางการ โดยผู้แทน Maxine Waters พร้อมกับผู้สนับสนุน 79 คน ร่างกฎหมายได้ถูกดำเนินการเป็นลำดับจนกระทั่งส่งเรื่องถึงสภาคองเกรส ซึ่งไม่มีการลงคะแนนคัดค้านของทั้งสภาสูงและสภาล่าง จึงผ่านกฎหมายนี้ได้สำเร็จ

ในปี ค.ศ. 2019 วันสตรีสากล ได้รับการเฉลิมฉลองเป็นวันหยุดราชการในสหพันธรัฐเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ในปากีสถาน การเดินขบวนของสตรี Aurat March (Women’s March) ได้ท้าทายกับความเกลียดชังผู้หญิง และเรียกร้องหาความเท่าเทียมกัน โดยมีการจัดงานตั้งแต่ปี 2018

คำขวัญวันสตรีสากล

คำขวัญวันสตรีสากล ขององค์การสหประชาชาติ | ธีม วันสตรีสากล

  • ปี ค.ศ. 1996 | Celebrating the Past, Planning for the Future (เฉลิมฉลองให้กับอดีต วางแผนเพื่ออนาคต)
  • ปี ค.ศ. 1997 | Women and the Peace Table (สตรีและเวทีสันติภาพ)
  • ปี ค.ศ. 1998 | Women and Human Rights (สตรีและสิทธิมนุษยชน)
  • ปี ค.ศ. 1999 | World Free of Violence Against Women (โลกที่ปราศจากความรุนแรงต่อผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2000 | Women Uniting for Peace (รวมพลังสตรีเพื่อสันติภาพ)
  • ปี ค.ศ. 2001 | Women and Peace: Women Managing Conflicts (ผู้หญิงและสันติภาพ: สตรีจัดการความขัดแย้ง)
  • ปี ค.ศ. 2002 | Afghan Women Today: Realities and Opportunities (ผู้หญิงอัฟกันวันนี้: ความเป็นจริงและโอกาส)
  • ปี ค.ศ. 2003 | Gender Equality and the Millennium Development Goals (ความเสมอภาคทางเพศและเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ)
  • ปี ค.ศ. 2004 | Women and HIV/AIDS (ผู้หญิงกับเชื้อเอชไอวี / เอดส์)
  • ปี ค.ศ. 2005 | Gender Equality Beyond 2005; Building a More Secure Future (ความเท่าเทียมกันทางเพศ 2005 เสริมสร้างความมั่นคงในอนาคต)
  • ปี ค.ศ. 2006 | Women in Decision-making (บทบาทการตัดสินใจของสตรี)
  • ปี ค.ศ. 2007 | Ending Impunity for Violence Against Women and Girls (การยกเลิกสิทธิในการได้รับการนิรโทษสำหรับคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2008 | Investing in Women and Girls (ลงทุนในบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2009 | Women and Men United to End Violence Against Women and Girls (หญิงชายรวมพลังเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2010 | Equal Rights, Equal Opportunities: Progress for All (สิทธิที่เท่าเทียมกัน โอกาสที่เท่าเทียมกัน: เพื่อความก้าวหน้าของเราทุกคน)
  • ปี ค.ศ. 2011 | Equal Access to Education, Training, and Science and Technology: Pathway to Decent Work for Women (การเข้าถึงการศึกษา ฝึกอบรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน เส้นทางสู่การทำงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2012 | Empower Rural Women, End Poverty and Hunger (พัฒนาบทบาทสตรีนอกเขตเมือง ยุติความยากจนและความหิวโหย)
  • ปี ค.ศ. 2013 | A Promise is a Promise: Time for Action to End Violence Against Women (สัญญาเป็นสัญญา: ถึงเวลาแล้วสำหรับการดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2014 | Equality for Women is Progress for All (ความเท่าเทียมกันเป็นความก้าวหน้าของเราทุกคน)
  • ปี ค.ศ. 2015 | Empowering Women, Empowering Humanity: Picture it! (พัฒนาบทบาทสตรี เพิ่มขีดความสามารถของมนุษยชาติ ลองนึกภาพดูสิ!)
  • ปี ค.ศ. 2016 | Planet 50-50 by 2030: Step It Up for Gender Equality (โลก 50-50 ในปี 2030 ก้าวขึ้นสู่ความเท่าเทียมทางเพศแบบเสมอภาค)
  • ปี ค.ศ. 2017 | Women in the Changing World of Work: Planet 50-50 by 2030 (ผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงาน: โลก 50-50 ในปี 2030)
  • ปี ค.ศ. 2018 | Time is Now: Rural and urban activists transforming women’s lives (เวลาคือขณะนี้: นักเคลื่อนไหวทั้งนอกและในเมืองเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้หญิง)
  • ปี ค.ศ. 2019 | Think Equal, Build Smart, Innovate for Change (คิดอย่างเท่าเทียม สร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง)

สโลแกน วันสตรีสากล 2019

ประวัติวันสตรีสากลแบบย่อ ลำดับเหตุการณ์ ที่มา ความเป็นมา วันสตรีสากล จากองค์การสหประชาชาติ

  • ค.ศ. 1909 วันสตรีแห่งชาติวันแรกพบในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกาได้กำหนดวันนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่การประท้วงของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในปี 1908 ที่นิวยอร์กซึ่งผู้หญิงประท้วงต่อต้านสภาพการทำงาน
  • ค.ศ. 1910 การประชุม The Socialist International ที่กรุงโคเปนเฮเกน เพื่อกำหนดวันสตรีสากล ในระดับนานชาติ เพื่อเป็นเกียรติให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเพื่อสร้างแรงสนับสนุนสำหรับสิทธิในการลงคะแนนเสียงของสตรีในระดับนานาชาติ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีด้วยมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมโดยผู้หญิงมากกว่า 100 คนจาก 17 ประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้หญิงสามคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาฟินแลนด์ด้วย อย่างไรก็ตามไม่มีการกำหนดวันในเชิงปฏิบัติในการประชุมครั้งนี้
  • ค.ศ. 1911 ผลจากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน วันสตรีสากล ได้กำหนดวันที่แน่นอนเป็นครั้งแรก (19 มีนาคม) ในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีผู้หญิงและผู้ชายมากกว่าหนึ่งล้านคนเข้าร่วมการชุมนุม นอกจากเรื่องสิทธิในการลงคะแนนเสียง และสิทธิการทำงานในภาครัฐแล้ว พวกเขายังเรียกร้องในเรื่องสิทธิการทำงานของสตรี การฝึกอบรมสายวิชาชีพ และยุติการเลือกปฏิบัติในการทำงานด้วย
  • ค.ศ. 1913 – 1914 วันสตรีสากลได้กลายเป็นกลไกในการประท้วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ซึ่งสตรีชาวรัสเซียได้มีวันสตรีสากลเป็นครั้งแรกในวันอาทิตย์สุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ สถานที่อื่นในยุโรป ได้ดำเนินกิจกรรมในวันที่ 8 มีนาคมหรือวันใกล้เคียงในปีถัดไป ผู้หญิงมีการชุมนุมเพื่อประท้วงต่อสงคราม หรือแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ
  • ค.ศ. 1917 ท่ามกลางฉากหลังของสงคราม ผู้หญิงในรัสเซียเลือกที่จะประท้วงและนัดหยุดงานเพื่อ “ขนมปังและสันติภาพ” ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งลดลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคมในปฏิทินเกรกอเรียน) สี่วันต่อมา ซาร์ได้สละราชบัลลังก์ และรัฐบาลเฉพาะกาลเห็นชอบให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง
  • ค.ศ. 1975 ในช่วง ปีสตรีสากล องค์การสหประชาชาติได้เริ่มฉลองวันสตรีสากลในวันที่ 8 มีนาคม
  • ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (The Beijing Declaration and Platform for Action) แผนยุทธศาสตร์ที่ได้รับการลงนามโดยรัฐบาล 189 ประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ 12 ประเด็นสำคัญที่น่ากังวล และมองโลกที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงสามารถเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง การได้รับโอกาสทางการศึกษา การสร้างรายได้ และการใช้ชีวิตในสังคมที่ปราศจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ
  • การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องสถานภาพสตรี ครั้งที่ 58 (CSW58) เป็นการประชุมประจำปีของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศและสิทธิสตรี โดยมุ่งเน้นไปที่ ความท้าทายและความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิง หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลกใช้คลังข้อมูลความคืบหน้าและเผชิญกับความท้าทายที่เหลืออยู่ในการประชุมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 8 ประการของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) การพัฒนาแห่งสหัสวรรษนี้ มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นความสนใจและทรัพยากร เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและพัฒนาบทบาทสตรี
  • ในปี ค.ศ. 2015 ประเทศต่างๆ นำวาระ ปี 2030 การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ โดยเป้าหมายข้อที่ 5 คือ การบรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศและพัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง

การเคลื่อนไหว วันสตรีสากล ในจีน

ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก: wikipedia, un.org

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้