สะอึก วิธีแก้สะอึก วิธีแก้อาการสะอึก (Hiccup)

สะอึก วิธีแก้สะอึก แก้สะอึก วิธีแก้อาการสะอึก (Hiccup)

สะอึก

อาการสะอึก

สะอึก (hiccup) เกิดจากกะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

สะอึก มีสาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก

อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ แต่หากสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น

คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้

เทคนิคที่ทำให้หยุดสะอึก

เทคนิคหยุดอาการสะอึกมีหลายวิธี การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ สามารถแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ได้แก่

  • สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก
  • หายใจในถุงกระดาษ
  • กลืนน้ำแข็งบดละเอียด
  • เคี้ยวขนมปังแห้ง
  • บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก
  • ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก
  • จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน
  • ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที
  • อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย
  • แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว
  • ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ
  • กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก
  • นวดเพดานปาก
  • ทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวก่อน
  • ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ

ข้อแนะนำ

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการสะอึกไม่หยุดนานกว่า 1 วัน มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกวิงเวียนร่วมด้วย หรือสะอึกทุกครั้งหลังจากรับประทานยาที่แพทย์จัดให้

ในการค้นหาสาเหตุของการสะอึกเป็นเวลานานๆ แพทย์อาจต้องตรวจระบบทางเดินอาหาร ว่า มีการอักเสบของหลอดอาหารที่เกิดจากการย้อนกลับของน้ำย่อยที่มาจากกระเพาะอาหารหรือไม่ ต้องตรวจความผิดปกติในลำคอ หู จมูก ระบบทางเดินหายใจ และระบบสมองและประสาท

แต่หากสะอึกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่นานนัก แต่เป็นหลายครั้ง อาจสังเกตจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ ว่ามีความสัมพันธ์กับการสะอึกหรือไม่ ถ้าสัมพันธ์กัน ก็ควรจะปรับเปลี่ยนกิจวัตรเหล่านั้น

บทความโดย โดย เอมอร คชเสนี
manager.co.th/ managerradio.com

บทความสะอึกอื่น

สะอึก เป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคน หากสะอึกแค่เดี๋ยวเดียว อาจไม่เป็นปัญหากวนใจนัก แต่หากใครสะอึกติดต่อกันเป็นวัน หรือ หลายๆ วัน แม้หาสารพัดวิธีช่วยให้หายสะอึก ทั้งกลั้นหายใจ ดื่มน้ำ กลืนน้ำตาล ทำอย่างไรก็ไม่เป็นผล นั่นอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะอาการเช่นนี้อาจเป็นเพราะโรคได้!

นพ.นรินทร์ อจละนันท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วยไขข้อข้องใจให้หายสงสัยเกี่ยวกับการสะอึกว่า อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอดและช่องท้องที่เกิดขึ้นเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากมีสิ่งมากระตุ้นเส้น ประสาท 2 ตัว คือ Vagus nerve และ Phrenic nerve ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเสียงสะอึกที่เกิดขึ้น มาจากการหายใจออกขณะที่กะบังลมเกิดการกระตุกทันทีทันใด ทำให้เกิดเสียงดังของการสะอึกขึ้น

สำหรับลักษณะอาการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.อาการสะอึกช่วงสั้นๆ อาจเพียง 2-3 นาที 2.การสะอึกหลายๆ วันติดกัน 3. สะอึกติดๆ กันหลายสัปดาห์ และ4.การสะอึกตลอดเวลา โดยที่การสะอึกกลุ่มแรกเป็นการสะอึกช่วงสั้นๆ ที่ไม่มีอันตรายใดๆ แต่การสะอึกติดต่อกันหลายๆ วัน เป็นอาการที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางสมอง การเป็นอัมพาต การเป็นโรคทางเดินอาหาร การอักเสบในช่องท้องบริเวณกะบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง รวมถึงอาการทางภาวะจิตใจ และผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด

ส่วนมากผู้ป่วยที่มาหาหมอด้วยการสะอึกเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน เนื่องมาจากมีอาการผิดปกติทางสอง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถให้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้ แต่ก็อาจมีการสะอึกเกิดขึ้นมาอีก เพราะอาการสะอึกเป็นเพราะต่อเนื่องที่เกิดจากการเจ็บป่วย นพ.นรินทร์อธิบาย

ส่วนวิธีการรักษาบรรเทาอาการสะอึกนั้น นพ.นรินทร์บอกว่า หากเป็นการสะอึกธรรมดาๆ สามารถใช้วิธีการกลั้นหายใจ การกลืนน้ำตาล กระตุ้นบริเวณหลังคอ แต่หากสะอึกติดต่อกันควรที่จะพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการสะอึกว่าเกิดมาจากอาการของโรคใด โดยอาการสะอึกไม่ถือว่าเป็นโรคแต่เป็นผลมาจากการเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ดังนั้นหากสามารถทราบสาเหตุของโรคให้ยาตามอาการก็สามารถที่ช่วยให้อาการสะอึกดีขึ้น

10 เทคนิคหยุดสะอึก

  • กระตุ้นผิวด้านหลังของลำคอ แถวๆ บริเวณที่เปิดปิดหลอดลม โดยการดึงลิ้นแรงๆ
  • ใช้ด้ามช้อนเขี่ยที่ปิดเปิดหลอดลม
  • กลั้วน้ำในลำคอ
  • จิบน้ำเย็นจัด
  • กลืนน้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ หรือ กลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปัง ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ
  • ดื่มน้ำจากขอบแก้วที่อยู่ด้านนอกหรือด้านไกลจากริมฝีปาก
  • จิบน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด หรือดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย
  • การฝังเข็ม
  • การสวดมนต์ทำสมาธิ
  • กลั้นหายใจเอาไว้โดยการนับ 1 – 10 แล้วหายใจออก จากนั้นดื่มน้ำตามทันที

credit: manager.co.th

แก้สะอึก สาเหตุ การวินิจฉัย ข้อมูลทางวิชาการ ทางการแพทย์

คนทุกคนหรือเกือบทุกคนคงเคยสะอึกมาแล้วอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่ถ้าถามว่าสะอึกนั้นเป็นอย่างไร อาจทำให้งงและตอบไม่ถูก

อาการสะอึกในที่นี้ หมายถึง อาการหายใจเข้าอย่างแรงที่เกิดจากกล้ามเนื้อหายใจ (กะบังลมและกล้ามเนื้อซี่โครง) หดตัวอย่างรุนแรง แต่การหายใจเข้าต้องหยุดชะงักด้วยการปิดของช่องสายเสียง ซึ่งเกิดตามหลังการเริ่มหายใจเข้า ในพริบตาเดียว (ภายใน 35 มิลลิวินาที) ทำให้เกิดเสียงสะอึก (เสียงอึ๊ก ๆ) และเกิดความรู้สึกไม่สบายขึ้น

อาการสะอึกจนถือว่าฉุกเฉิน จะมีอาการอื่นร่วมด้วยดังนี้ เช่น

  1. สะอึกรุนแรงจนหายใจไม่ได้หรือหายใจลำบาก
  2. สะอึกตลอดเวลาจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
  3. มีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ปวดท้องมาก หน้าท้องกดเจ็บและแข็งเป็นดาน อาเจียนมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เจ็บอกมาก ไอมาก ปัสสาวะไม่ค่อยออก หลง เลอะเลือน ชัก เป็นต้น
    ถ้ามีอาการฉุกเฉิน หรือเจ็บหนัก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

สะอึก แนวทางการแก้อาการสะอึก

  1. ถ้ามีสาเหตุที่ทำให้สะอึก หรือสงสัยว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุ ให้บรรเทาหรือกำจัดสาเหตุนั้นก่อน
  2. ถ้าบรรเทาหรือกำจัดสิ่งที่คิดว่าจะเป็นสาเหตุแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจลองวิธีต่าง ๆ ดังนี้ เช่น
  • ให้ดื่มน้ำช้า ๆ จากขวด หรือแก้วน้ำใบใหญ่ ๆ โดยให้ดื่มตลอดเวลา นั่นคือ ให้กลืนน้ำติด ๆ กันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหายใจจนอาการสะอึกหาย หรือจนกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้
  • ทำให้จาม เช่น โดยการใช้เส้นขนหรือสิ่งอื่นเขี่ยภายในจมูก ให้ดมพริกไทย ยานัตถุ์ หรือสิ่งอื่น
  • ให้กลืนน้ำตาลทรายขาว 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ
  • ให้กลั้นหายใจหรือหายใจในถุง หรือหายใจให้ตื้นและช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนอาการสะอึกดีขึ้นหรือหายไป
  • ผู้ที่สะอึนรุนแรง มักจะกังวล กลัว หรือหงุดหงิด ทำให้หายใจเร็วขึ้นหรือมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สะอึกมากขึ้นด้วย
  • ผู้ที่เจาะคอไว้ ถ้าสะอึก มักจะสะอึกนานและรุนแรง เพราะการเจาะคอทำให้ลมเข้าออกทางรูที่เจาะโดยไม่ต้องผ่านช่องสายเสียง ดังนั้นแม่ช่องสายเสียงจะปิด แต่ลมก็ผ่านเข้าออกทางรูที่เจาะไว้ ทำให้หายใจมากกว่าปกติ จึงทำให้สะอึกนานและรุนแรง ควรพบแพทย์
  • ทำให้โกรธ กลัว ตื่นเต้น หรือเกิดอารมณ์รุนแรงอื่น ๆ อาจจะหยุดอาการสะอึกได้
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล  จะได้รับการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.doctor.or.th

ข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ :
เหตุใดถึงง่วงนอน หลังทานอาหาร
ตะคริว สาเหตุของตะคริว วิธีแก้ตะคริว

กลับขึ้นไปด้านบน | ไปหน้า เกร็ดความรู้