สรุปภาพรวมทั้งหมด และข้อคิดเห็น จากการศึกษาเชิงปริมาณ และคุณภาพ จากข้อคิดเห็นทั้ง จากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และจากผู้สูงอายุเอง ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงาน ชมรมผู้สูงอายุมาแล้ว ประกอบกับข้อคิดเห็นของคณะศึกษาวิจัย สรุปรวบรวมลงได้ดังนี้

1. ในปัจจุบัน มีชมรมผู้สูงอายุอยู่โดยทั่วไป ทั้งประเทศ ประมาณ 3,487 ชมรม ชมรมดังกล่าวบางชมรมก็ดำเนินการเป็นเอกเทศ บางชมรมก็อยู่ในเครือข่ายสภาผู้สูงอายุ แห่งประเทศไทยฯ บางชมรมก็อยู่ในเครือข่าย ของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ระดับจังหวัด บางชมรมก็อยู่ในเครือข่าย กรมประชาสงเคราะห์ การศึกษาครั้งนี้ ได้พยายามติดต่อโดยทางไปรษณีย์ ไปยังชมรมทุกชมรม แต่พบว่า มีชมรมที่ตอบแบบสอบถามเพียง 1,024 ชมรม ทั้งที่สอบถามไปซ้ำถึง 2 ครั้ง แสดงว่า ในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ที่อ้างว่าเป็นชมรมผู้สูงอายุนั้น ที่ดำเนินการเป็นกิจลักษณะมีอยู่เพียง 1,042 ชมรม (30%) เท่านั้น นอกนั้นอาจมีแต่ชื่อ แต่มิได้มีกลไกดำเนินการอะไร ชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ในเครือข่าย ของสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ดูจะเป็นชมรมที่มีสถานภาพมั่นคง มีการดำเนินการต่อเนื่อง แน่นอนมากที่สุด (ทั้งนี้ อาจเป็นได้ว่า ชมรมผู้สูงอายุที่สมัครเข้าอยู่ใน เครือข่ายของสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ดูจะเป็นชมรมที่มีสถานภาพมั่นคง มีการดำเนินงานต่อเนื่องแน่นอนมากที่สุด (ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ชมรมผู้สูงอายุ ที่สมัครเข้าอยู่ในเครือข่าย ของสภาแห่งประเทศไทยฯ ได้ จะต้องดำเนินการมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1 ปี และมีสมาชิกในชมรมไม่ต่ำกว่า 50 คน เป็นมาตรการกรองคุณภาพอยู่แล้ว)

เมื่อพิจารณาถึงการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุ จะปรากฎว่า ชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (กว่า 70%) เป็นชมรมที่ตั้งขึ้น โดยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และกรมประชาสงเคราะห์ เป็นผู้ชักชวน สนับสนุนให้ตั้งขึ้น จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อตั้งแล้ว หน่วยงานราชการที่ริเริ่มไม่ติดตามต่อเนื่อง ชมรมที่ตั้งขึ้นก็เลิกลาไป บางแห่งตั้งขึ้นแล้ว ก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป จึงมีแต่ชื่อ หาคนรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าจะเป็นไปได้ว่า การก่อตั้งครั้งแรกไม่มีอุดมการณ์แน่นอน ผู้สูงอายุก็อาจไม่ทราบว่า ตั้งขึ้นทำไม ชมรมเป็นของใคร ใครเป็นผู้ดำเนินการ? เพื่ออะไร? และเชื่อว่าผู้ชักชวนชี้นำเอง ในระดับจังหวัด-อำเภอ ก็ไม่อาจเข้าใจในอุดมการณ์ ของชมรมผู้สูงอายุ อย่างถ่องแท้ เมื่อทางส่วนกลาง และหน่วยเหนือแจ้งมาให้จัดตั้ง ชมรมผู้สูงอายุในท้องถิ่นก็จัดตั้ง จงปรากฎเมื่อตั้งขึ้นแล้ว ชมรมมิได้มีการพัฒนาให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อคณะทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ติดต่อไปได้ทั้ง 3,466 ชมรม ตามรายชื่อ จึงมีการตอบรับแบบสอบถามเพียง 1,042 ชมรม

จากแบบสอบถาม และจากข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ชมรมผู้สูงอายุเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ อย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ชมรมผู้สูงอายุ ที่ตั้งขึ้น ดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จเท่านั้น จากการประเมินตนเอง ของชมรมทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถาม ประเมินว่า ชมรมประสบผลสำเร็จในระดับพอใช้ ถึงดี รวมกัน 89.1% ที่ตอบว่าไม่ดีมี 7.4% แต่ถ้าจะคิดว่า ชมรมทั้งหมดมีถึง 3,487 ชมรม ไม่สนใจตอบแบบสอบถามถึง 2,424 ชมรม และถ้าจะประเมินว่า ชมรมที่ไม่สนใจตอบแบบสอบถาม เป็นชมรมที่ไม่ดำเนินการกิจกรรมอะไร หรือคิดว่าเป็นชมรมที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้ชมรมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ มีถึง 70% โดยประมาณ ดังนั้น การศึกษาหารูปแบบ (Model) ชมรมที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

2. อุดมการณ์ของชมรมผู้สูงอายุ เพื่อเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ หารูปแบบชมรมผู้สูงอายุที่เหมาะสม คณะศึกษาวิจัยเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องตั้งสมมติฐาน ของอุดมการณ์ของชมรมผู้สูงอายุขึ้น เป็นหลักในการดำเนินงาน

จากการศึกษา ชมรมผู้สูงอายุทั้ง ปริมาณและคุณภาพแล้ว จะเห็ว่า ถ้าพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ และวิธีดำเนินกิจกรรม ของชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่แล้ว เมื่อนำมาประมวลเข้าด้วยกัน นำไปสู่แนวคิดได้ว่า อุดมการณ์ของชมรมผู้สูงอายุ น่าจะเป็นว่า

“ชมรมผู้สูงอายุ เป็น ชมรมของผู้สูงอายุ ในแต่ละชุมชนที่รวมตัวกันตั้งขึ้นมา แล้วดำเนินกิจกรรมของชมรม โดยผู้สูงอายุ ที่เป็นสมาชิก เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทุกด้าน หรือตามความมุ่งหมายของ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ นั้นๆ และ เพื่อสังคมโดยรวม

ซึ่งอาจขยายความให้ละเอียดได้ว่า ชมรมผู้สูงอายุในอุดมการณ์นั้น ใครจะริเริ่ม ใครจะก่อตั้งก็ตาม ชมรมนั้นจะต้องเป็นของสมาชิกในชมรม ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ มิใช่ของโรงพยาบาล มิใช่ของทางราชการ มิใช่ของวัด มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น แนวความคิด ทัศนคติในการจะดำเนินการ ย่อมต้องมาจากเจ้าของ คือ สมาชิกชมรม ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุ และการดำเนินการกิจกรรม ของผู้เป็นเจ้าของ ต้องรับผิดชอบดำเนินการ มิใช่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ คนอื่นอาจช่วยดำเนินการให้ได้ แต่ผู้สูงอายุต้องรับผิดชอบ ในการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสมาชิกในชมรมนั้นเอง และเพื่อผู้สูงอายุอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ ตลอดทั้งสังคมโดยรวม

3. สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุจะดำเนินการไปได้ด้วยดี ปัจจัยหลักน่าจะอยู่ที่ คุณภาพของสมาชิกชมรม ในหลายๆ ด้าน ดังนี้ ก. อายุ ชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ รับสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ ตามชื่อของชมรม กล่าวคือ มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีหลายชมรมที่รับสมัครสมาชิก ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และบางชมรมรับสมัครสมาชิกเป็น 2 ประเภท ประเภทสามัญ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ประเภทวิสามัญ ตั้งแต่ 60 ปีลงมา ถ้าชมรมใดมีสมาชิก ที่มีอายุมากขึ้น เป็นส่วนใหญ่ ชมรมนั้นมักขาดคนดำเนินการ ที่เข้มแข็ง เพราะขาดแรงงาน ดังนั้น สมาชิกของชมรมผู้สูงอายุ ควรจะหลากหลายช่วงอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นไปได้ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุแต่ละชมรม ควรมีสัดส่วนช่วงอายุที่เหมาะสม ดังนี้

อายุ 50-59 ปี มีสัดส่วน 15%
อายุ 60-69 ปี มีสัดส่วน 65%
อายุ 70-80 ปี มีสัดส่วน 15%
อายุ 80+ ปี มีสัดส่วน 5%

สัดส่วนดังกล่าว เป็นสัดส่วนโดยประมาณ ด้วยแนวความคิดว่า การมีหลากหลายช่วงอายุ จะทำให้ชมรมมีสมาชิกที่มีร่างกายแข็งแรง ช่วยดำเนินกิจกรรมของชมรม และมีแนวความคิดหลากหลาย ไม่ล้าสมัยจนเกินไป จะเป็นผลทำให้ชมรมมีศักยภาพ และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์โดยทั่วไปในที่สุด

ข. สถานภาพทางความรู้ ของสมาชิกชมรม การใช้ระดับการศึกษาวัดความรู้ของสมาชิก คณะศึกษาวิจัยเห็นว่า ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อความสำเร็จ ของการดำเนินกิจการชมรม แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ชมรมผู้สูงอายุใด ที่สมาชิกมีสถานภาพทางความรู้ ใกล้เคียงกัน หรือแตกต่างกันไม่มาก จะทำให้การบริหารชมรม เป็นไปได้ด้วยดี สมาชิกเข้าใจ พูดจากันได้สนิทสนม ไม่มีช่องว่าง ในการสื่อความหมาย ส่วนใหญ่ชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน หรือชุมชน สมาชิกมักมีสถานภาพทางความรู้ ใกล้เคียงกัน ไม่มีปัญหาในเรื่องพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ชมรมในเมือง หรือกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะที่ใช้โรงพยาบาล หรือสถานที่ทางราชการ เป็นที่ตั้งชมรม มักมีความแตกต่างกัน ในสถานภาพของความรู้ ของสมาชิก ทำให้การสื่อความหมายกันลำบาก ทัศนคติและแนวความคิดก็แตกต่างกันไป ทำให้ความสนิทสนมกลมเกลียว ในระหว่างมวลสมาชิกไม่แนบแน่น เท่าที่ควร ชมรมประเภทนี้ มักมีจำนวนสมาชิกมาก ทำให้เกิดเป็นกลุ่มขึ้นในชมรม แยกกันไปตามความสนใจ (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด)

ค. สถานภาพทางเศรษฐกิจ (การเงิน) ของสมาชิก ชมรมที่สมาชิกมีสถานภาพทางการเงินใกล้เคียงกัน จะทำให้การบริหารชมรมเป็นไปได้ด้วยดี ้เช่น ชมรมผู้สูงอายุในชุมชน หรือหมู่บ้าน สถานภาพทางการเงินของสมาชิก มักไม่แตกต่างกันมากนัก จึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องข้อจัดแย้งทางการเงิน แต่ชมรมในเมือง หรือในกรุงเทพมหานคร หรือชมรมที่ใช้สถานที่ราชการ เป็นสถานที่ดำเนินการ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น สมาชิกมักมีหลากหลายสถานภาพ มีความแตกต่างกัน ในเรื่องฐานะทางการเงินค่อนข้างมาก เป็นผลทำให้สมาชิก ผู้มีฐานะทางการเงินสูง มีส่วนในการบริหารจัดการชมรม มากกว่าสมาชิกผู้มีฐานะการเงินต่ำ ชมรมผู้สูงอายุในโรงพยาบาลของรัฐ บางแห่งมีกรรมการ และสมาชิกเป็นผู้มีฐานะการเงินดี มักมีกิจกรรมหารายได้ ให้โรงพยาบาลที่ตั้งชมรมนั้นด้วย จึงเข้าลักษณะโรงพยาบาลก็ได้ประโยชน์ จากชมรมผู้สูงอายุด้วย ฐานะทางการเงินของสมาชิก จะเป็นปัจจัยในการดำเนินกิจกรรม ของชมรมอย่างหนึ่ง เช่น ชมรมใดมีฐานะทางการเงินดี ก็มีกิจกรรมท่องเที่ยวสูง ชมรมใดฐานะทางการเงินของสมาชิกไม่ดี ก็จะมีกิจกรรมเรื่องเสริมรายได้สูง ดังนั้น สถานภาพทางการเงินที่แตกต่างกัน ของผู้สูงอายุ จะเป็นสิ่งชี้นำผู้สูงอายุ ในการเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกในชมรม โดยอัตโนมัติ

3. อุดมการณ์ของสมาชิก จากสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่า อุดมการณ์ของชมรมผู้สูงอายุคือ ชมรมผู้สูงอายุเป็นของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุ เพื่อผู้สูงอายุ และสังคมนั้น จากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก พบว่า ส่วนใหญ่สมาชิกชมรม มักไม่เข้าใจในอุดมการณ์ ของการตั้งชมรม ทุกคนมักจะคิดว่า เป็นสมาชิกจะได้อะไร ดังจะเห็นได้ว่า สมาชิกชมรมที่ก่อตั้งโรงพยาบาล จะมีสมาชิกมาก ด้วยผู้สูงอายุมุ่งหวังว่า คงจะได้รับความช่วยเหลือด้านเจ็บป่วย จากโรงพยาบาล ผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร บางคนเป็นสมาชิกขมรมผู้สูงอายุในโรงพยาบาล เกือบทุกโรงพยาบาลที่มีชมรมผู้สูงอายุ และเลือกไปชมรมที่ให้ประโยชน์ที่สุด ดังนั้น การชี้แจงเรื่อง อุดมการณ์แก่สมาชิกชมรม ในการก่อตั้งครั้งแรก หรือการสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรม จึงเป็นเรื่องสำคัญ ชมรมใดที่ตั้งขึ้นมา โดยสมาชิกไม่เข้าใจในอุดมการณ์ จะประสบปัญหายุ่งยาก ในการบริหารชมรม ให้ประสบผลสำเร็จ เพราะทุกคนคิดแต่ จะได้อะไร แต่ไม่คิดจะทำอะไร ชมรมใดสมาชิกเข้าใจในอุดมการณ์ แม้จะมีสถานภาพทางความรู้ และการเงินต่ำ ก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี (ตามอัตภาพ)

จ. จำนวนสมาชิกในแต่ละชมรม จากการศึกษาเชิงปริมาณ ชมรมผู้สูงอายุมีจำนวนสมาชิกมากน้อย แตกต่างกันไป จากมากถึง 500 คนขึ้นไป ถึงน้อยที่สุก มีสมาชิกอยู่ 50 คน ลงมา ส่วนใหญ่ 42% จะมีอยู่ระหว่าง ร้อยคนลงมา ชมรมที่อยู่ในเมือง เปิดรับสมาชิกทั่วไป จะมีจำนวนสมาชิกมาก ชมรมที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือชุมชน เปิดรับสมาชิกในหมู่บ้าน หรือชุมชนจะมีจำนวนสมาชิกไม่มากนัก ชมรมผู้สูงอายุที่มีสมาชิกมากๆ บางแห่ง มีกิจการที่เกี่ยวกับฌาปนกิจสงเคราะห์ร่วมอยู่ด้วย จึงทำให้สมาชิกมีมาก การมีสมาชิกมากมีข้อดีที่ ดูคล้ายชมรมใหญ่โต ทำกิจกรรมอะไรก็ดูครึกครื้น แต่ก็มีข้อเสียที่ ส่วนใหญ่สมาชิกมักไม่รู้จักกันหมด ไม่มีความสนิทสนมกันแน่นแฟ้น และเกิดเป็นกลุ่ม ไปในชมรม ตามความสนใจ ซึ่งแตกต่างกัน (เพราะคนจำนวนมาก) การมีสมาชิกน้อย มีข้อดีที่ทุกคนรู้จักกันหมด แต่ดูเงียบเหงาไม่คึกคัก ถ้าใช้อุดมการณ์ของการมีชมรมผู้สูงอายุ เป็นหลักในการวิเคราะห์ คณะศึกษาวิจัยเห็นว่า จำนวนสมาชิกในชมรม แต่ละชมรม ไม่จำเป็นต้องมีมาก และการมีสมาชิกมาก ดูจะทำให้การดำเนินงาน ประสบความยุ่งยากมากด้วย แต่การมีสมาชิกน้อยเกินไป ก็ดูไม่ใช่ชมรม เราเห็นว่า จำนวนที่เหมาะสมที่สุด น่าจะอยู่ระหว่าง 20-100 คน

4. การก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุครั้งแรก การจะก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นที่ใด หรือในชุมชนใด ที่นั้น หรือชุมชนนั้น

  • ควรมีปริมาณผู้สูงอายุมากพอ ที่จะรวมกลุ่มกันได้ ในจำนวนที่เหมาะสม คณะศึกษาวิจัยมีความเห็นว่า จำนวนที่เหมาะสมน่าจะไม่น้อยกว่า 20 คนขึ้นไป
  • ชุมชนนั้น ควรมีหน่วยงานทางราชการ เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาล โรงเรียน หรือวัด คอยให้ความสนับสนุนในทางความรู้ และอื่นๆ จะทำให้ชนมรมที่ตั้งขึ้น สามารถพัฒนาได้ด้วยดี
  • ชุมชนนั้น ควรมีความพร้อมในเรื่อง การบริหารจัดหาร เห็นความสำคัญของ การมีชมรมผู้สูงอายุ และมีผู้นำที่เป็นผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง
  • การริเริ่มครั้งแรก น่าจะเป็นการริเริ่มจากทางราชการ หรือเอกชนเองก็ได้ทั้งนั้น สำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนนั้น เข้าใจในหลักการ หรืออุดมการณ์ ของการมีชมรมผู้สูงอายุ มีขึ้นเป็นของผู้สูงอายุเอง โดยผู้สูงอายุเอง และเพื่อผู้สูงอายุเอง รวมทั้งสังคม เป็นผลพลอยได้อย่างถ่องแท้
  • และพยายามให้การตั้งชมรม เป็นไปตามธรรมชาติ ของการรวมกลุ่มที่มีอยู่แล้ว ในชุมชนให้มากที่สุด
  • การริเริ่มครั้งแรก ถ้ามีผู้นำที่เป็นผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง การก่อตั้งก็เป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ควรที่จะรวบรัดจนเกินไป จนผู้สูงอายุในชมรมยังไม่เข้าใจในอุดมการณ์ ของชมรม อย่างแน่ชัด การนำกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ที่สนใจในการตั้งชมรม ไปดูชมรมผู้สูงอายุในชุมชนอื่น ที่ดำเนินงาน ประสบผลสำเร็จมาแล้ว จะช่วยทำให้การดำเนินงานก่อตั้ง เป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • ในปัจจุบัน สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ มีเครือข่ายสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ อยู่ทั่วทุกจังหวัด และทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ประธานสาขาสภาฯ ประจำจังหวัด และประจำเขต ในกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ชี้แนะวิธีการจัดตั้ง และดำเนินการชมรมผู้สูงอายุ ได้เป็นอย่างดี สมควรที่ผู้สนใจก่อตั้งชมรม จะได้ติดต่อแบบสอบถาม

5. สถานที่ตั้งชมรมผู้สูงอายุ การแจ้งว่า สถานที่ตั้งของชมรมผู้สูงอายุ อยู่ที่ใด ในการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้ความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชมรมผู้สูงอายุต่างๆ ควรจะได้สังวรณ์อย่างยิ่ง กล่าวคือ ส่วนใหญ่ชมรมมักจะแจ้งสถานที่ตั้ง ของตนตามที่จัดกิจกรรม เช่น ถ้าจัดกิจกรรมกันที่วัด ก็ตั้งป้ายขึ้นที่วัด ว่าเป็นที่ตั้งชมรม เมื่อผู้ติดต่อส่งจดหมายไปที่สัด ที่วัดไม่มีคนรับจดหมายๆ ถูกส่งคืน หรือบางทีก็ทิ้งจดหมายไว้ที่วัด ไม่มีใครเปิดดู ทำให้การติดต่อเป็นไปไม่ได้ ตามกำหนดนัดหมาย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ แม้ชมรมจะแจ้งสถานที่ตั้ง ตามสถานที่จัดกิจกรรม แต่ควรแจ้งสถานที่ติดต่อให้ทราบว่า ติดต่อที่ใด ซึ่งเป็นที่ๆ ประธาน หรือเลขานุการชมรม สามารถทราบข่าวสาร หรือผู้อื่นๆ สามารถติดต่อได้ทางไปรษณีย์ ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย สถานที่ตั้งของชมรม จากการศึกษาพบว่า ใช้สถานที่ราชการถึง 34.9% ใช้วัดรองลงมา 32.9% ใช้บ้าน 27.3% กรณีใช้บ้านเป็นที่ตั้ง เมื่อมีการจัดกิจกรรม ส่วนมากจะไปจัดกิจกรรม ในสาธารณสถาน เช่น โรงแรม โรงเรียน ฯลฯ ตามที่เห็นสมควร สถานที่ตั้งของชมรม ถ้าเป็นทั้งที่จัดกิจกรรม และเป็นที่ติดต่อได้ทางไปรษณีย์ (กล่าวคือ สถานที่นั้น มีคนประจำอยู่) ก็จะทำให้การบริหารกิจการชมรม เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น) โดยหลักการแล้ว สถานที่ตั้งของชมรม จะใช้ที่ใดก็ได้ แต่ขอให้เป็นที่สมาชิกชมรม ไปมาสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาก และมีบริเวณที่เหมาะสม ขอให้ข้อสังเกตสถานที่ ที่ใช้ในการตั้งชมรมดังต่อไปนี้

ก. การใช้วัดเป็นที่ตั้งชมรม เหมาะสำหรับชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน หรือชุมชนที่มีสัดเป็นศูนย์กลาง ยิ่งถ้าวัดนั้นมีเจ้าอาวาสสูงอายุ ก็ยิ่งทำให้การดำเนินชมรม เป็นไปได้สะดวก อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า เจ้าอาวาส แม้จะสนใจในกิจการ ของชมรมเพียงใดก็ตาม ก็ไม่น่าจะเลือกท่านเป็นประธานชมรม ผู้สูงอายุเสียเอง ชมรมผู้สูงอายุนั้น เป็นชมรมของวัด มิใช่ชมรมของผู้สูงอายุ (ตามอุดมการณ์) และการปรับเปลี่ยนประธาน จะเป็นไปได้ด้วยยาก
ข.การใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ตั้งชมรม พบว่า มีการใช้โรงพยาบาล ทั้งระดับโรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอ เป็นที่ตั้งชมรมผู้สูงอายุกันมาก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ โรงพยาบาลเป็นผู้ริเริ่ม ชักชวนให้เกิดมีชมรมผู้สูงอายุขึ้น เพื่อความสะดวกในการที่ ทางโรงพยาบาลจะได้ให้สุขศึกษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ แก่ผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุก็หวังจะได้รับบริการ จากโรงพยาบาลได้สะดวก เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย จึงเกิดมีชมรมผู้สูงอายุขึ้น ในโรงพยาบาล หรือวิทยาลัยพยาบาลกันมาก

ข้อดีที่ชมรมผู้สูงอายุ ตั้งในโรงพยาบาล ก็คือ โรงพยาบาลมีสถานที่ห้องประชุมสะดวก มีอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ เครื่องกระจายเสียง มีเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการ ให้ความอนุเคราะห์ ในการจัดบริการ และจัดการต่างๆ ให้ ทำให้ผู้สูงอายุสะดวกสบายไปทุกอย่าง จนเกือบไม่ต้องทำอะไร คอยแต่รับบริการเท่านั้น

ข้อเสียที่ชมรมผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลก็คือ ชมรมผู้สูงอายุนั้น มีลักษณะเป็นของโรงพยาบาล ไม่ใช่เป็นของผู้สูงอายุ เพราะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จะช่วยทำให้เสียทุกอย่าง ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น มิได้ดำเนินการอะไรด้วยตนเองเลย ถ้าเจ้าหน้าที่มิได้ริเริ่มดำเนินการ ชมรมก็เกือบจะเลิกล้มไป โดยปริยาย บางโรงพยาบาล เมื่อตั้งชมรมขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้อำนวยการเป็นคนสนใจเรื่อง ผู้สูงอายุ กิจการชมรมก็รุ่งเรือง แต่พอเปลี่ยนผู้อำนวยการใหม่ ไม่ให้ความสนใจ เรื่องผู้สูงอายุ ชมรมก็เงียบเหงา จนไม่มีกิจกรรมอะไร บางโรงพยาบาลมีการขยายงานของโรงพยาบาล ก็จำเป็นต้องขยับขยาย ชมรมผู้สูงอายุออกไป อยู่นอกโรงพยาบาล

เนื่องจากโรงพยาบาล มีความชำนิชำนาญ ในเรื่องสุขภาพอนามัยเท่านั้น ดังนั้น ชมรมที่ใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ตั้ง จึงค่อนข้างจะมีกิจกรรม หนักไปในทางสุขภาพอนามัยเท่านั้น ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นปัญหาของผู้สูงอายุ จะมีไม่มาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อเสียบางส่วน ของการที่ชมรมผู้สูงอายุ ตั้งในโรงพยาบาล คณะผู้ศึกษาวิจัยเห็นว่า ชมรมไม่ควรตั้งในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลไม่ควรสนับสนุน โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้สุขศึกษา หรือดำเนินกิจกรรมเรื่องส่งเสริม ป้องกันสุขภาพ ณ ที่ๆ ชมรมตั้งอยู่ โดยวิธีนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุ ได้รู้จักการบริหารกิจการของชมรมของตนเอง และจะทำให้มีชมรมมากขึ้น เป็นการสะดวกแก่ผู้สูงอายุ ที่ไม่ต้องเดินทางไกลๆ ไปถึงโรงพยาบาลในเมือง หรือในอำเภอ และชมรมสามารถเลือกกิจกรรม ที่ตนต้องการดำเนินการได้ด้วยตนเอง ชมรมจึงจะเป็นชมรม ตามอุดมการณ์

ค. การใช้สถานที่หน่วยงาน หรือสถานที่ราชการอื่นๆ เป็นที่ตั้งชมรม เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โรงเรียน กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ ชมรมที่ใช้สถานที่ดังกล่าวมีไม่มาก ส่วนใหญ่มักเป็นชมรม ที่สมาชิกเป็นเจ้าหน้าที่เก่า ที่เกษียณการงาน ออกไปรวบรวมกันจัดตั้งขึ้น คล้ายชมรมศิษย์เก่า ของสถานที่นั้นๆ ชมรมดังกล่าวนี้ สมาชิกมักอยู่ห่างไกลกัน มักจะนัดหมายมาพบกัน วันมารับเงินบำนาญ หรือตามโอกาสอันควร กิจกรรมมีไม่มาก ผู้เป็นประธาน มักเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งสูงในหน่วยงานนั้น สมาชิกส่วนมาก จะเป็นผู้เคยอยู่ในตำแหน่งระดับกลาง ไปหาสูง มีข้อดีที่ มีสถานที่ เจ้าหน้าที่ประจำคอยช่วยเหลือ สะดวกในการจัดการ มีข้อเสียที่สมาชิกอยู่ห่างไกลกัน จะมาได้ก็แต่ ผู้มีฐานะทางการเงินดีเท่านั้น

6. ระเบียบข้อบังคับของชมรมผู้สูงอายุ ชมรมทุกชมรม มีระเบียบข้อบังคับ ของแต่ละชมรมแตกต่างกันไป ส่วนมากมีความเห็นว่า ระเบียบข้อบังคับควรมี เป็นชมรม จะไม่มีระเบียบข้อบังคับคงไม่ได้ แต่ระเบียบข้อบังคับ ไม่ควรเคร่งครัดมากนัก ที่เน้นมากคือ ระเบียบทางด้านการเงิน ควรทำให้โปร่งใส มีข้อสังเกตว่า ยิ่งชมรมมีสมาชิกจำนวนมาก ก็มีระเบียบข้อบังคับมาก ถ้าชมรมมีสมาชิกน้อย ระเบียบข้อบังคับก็ไม่มาก ชมรมที่สมาชิกเป็นข้าราชการบำนาญ มักมีระเบียบแบบแผนเคร่งครัด ผิดกับชมรมระดับชุมชน โครงร่างต่างๆ ของระเบียบข้อบังคับ มักจะกล่าวถึงเรื่องดังต่อไปนี้

  • วัตถุประสงค์
  • สมาชิก
  • กรรมการ
  • การเงิน
  • การจัดกิจกรรม

7. การดำเนินกิจกรรมของชมรม รู้สึกว่าการดำเนินกิจกรรม เป็นหัวใจของผู้สูงอายุ เพราะกิจกรรมจะทำให้ผู้สูงอายุ ที่เป็นสมาชิกของชมรม ได้พบปะสังสรรค์ ได้ทั้งประโยชน์ทางร่างกาย และจิตใจ อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมของชมรม เป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จ ของการดำเนินงานของชมรม ก็น่าจะถูกต้อง จากการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ของชมรม จะมีคณะกรรมการชมรม ปรึกษาหารือกันว่า จะจัดกิจกรรมอะไรให้ถูกต้อง ตามความประสงค์ของสมาชิก เมื่อตกลงกันแล้วก็ดำเนินการ พบว่า กิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก ในแต่ละชมรม อาจประมวลกิจกรรมต่างๆ ได้ดังนี้
7.1 กิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่ทำกันมาก ได้แก่ การจัดกิจกรรม ตามวันสำคัญทางศาสนา และตามวัฒนธรรมประเพณีนิยม ของแต่ละท้องถิ่น มักนิยมกันมาก ในชมรมผู้สูงอายุ ในหมู่บ้าน หรือชุมชน เพราะทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ 7.2 กิจกรรมนันทนาการ เป็นการจัดกิจกรรม เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริงตามโอกาส และความพอใจของสมาชิก กิจกรรมประเภทนี้ มักรวมเอาการร่วมรับประทานอาหารเข้าไปด้วย หลังรับประทานอาหาร แาจมีการแสดงเล็กๆ น้อยๆ และร่วมกันร้องเพลงตามอัธยาศัย กิจกรรมชนิดนี้ มักนิยมกันมาก ในชมรมในเมือง หรือชมรมข้าราชการบำนาญ บางชมรมทำทุกเดือน
7.3 กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ได้แก่ การเชิญแพทย์ พยาบาล ผู้รู้ในเรื่องสุขภาพอนามัย มาบรรยายในเรื่องที่สมาชิกสนใจ การตรวจโรคประจำปี ความรู้เรื่องยา ยาสมุนไพร และโภชนาการเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
7.4 กิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และกีฬา เป็นกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน หรือทุกวันเว้นวัน ในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวัน หรือต่อครั้ง กิจกรรมประเภทนี้ เป็นประโยชน์ในทางสุขภาพ แต่ชมรมจะต้องจัดสถานที่ที่เหมาะสม มีผู้ดำเนินการที่เหมาะสม ทำได้ทุกชมรม
7.5 กิจกรรมเสริมรายได้ ได้แก่ กิจกรรมที่สมาชิกร่วมกันทำ หรือผลิตสิ่งของ แล้วนำไปจำหน่ายเป็นการเสริมรายได้ เหมาะสำหรับชมรมในหมู่บ้าน ที่สมาชิกต้องการเสริมรายได้ เช่น บางชมรมร่วมกันสานเข่งปลาทู ทำไม้กวาด ทำดอกไม้จันทน์ ฯลฯ แล้วนำไปจำหน่าย
7.6 กิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะต่างๆ ที่สมาชิกสนใจ เช่น ศิลปะเกี่ยวกับการวาดรูป การดนตรี การขับร้อง การประพันธ์บทกลอน ฯลฯ เหมาะสำหรับชมรมที่มีสมาชิก ที่มีศักยภาพทางศิลปะ และรักทางศิลปะ
7.7 กิจกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากผู้สูงอายุมีเวลาว่างมาก การท่องเที่ยวในสถานที่ และโอกาสอันควร โดยไปเป็นหมู่คณะ นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ เรื่องความรักสามัคคีในหมู่คณะแล้ว ยังได้ความรู้ ความเท่าทันโลกอีกด้วย
7.8 กิจกรรมการกุศล รวมทั้งสาธารณกุศล ที่ชมรมสามารถจะช่วยได้ และการกุศลที่ทำแก่เพื่อร่วมชมรมที่ถึงแก่กรรม หรือการเยี่ยมไข้ เมื่อเพื่อนสมาชิกเจ็บป่วย หรือการเยี่ยมยามเพื่อนสมาชิกโชคร้าย เป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทรต่อกัน ที่ทำให้เกิดความรักสามัคคี ในหมู่คณะได้มาก ทำให้สมาชิกมีความรู้สึกว่า ตนไม่โดดเดี่ยว
7.9 กิจกรรมฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นกิจกรรมที่ให้การสงเคราะห์แก่สมาชิก ที่ถึงแก่กรรม กิจกรรมประเภทนี้ สมาชิกชมรมมีความนิยมค่อนข้างมาก แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน และระเบียบทางราชการ ชมรมใดจะดำเนินการกิจกรรมประเภทนี้ จะต้องมีความพร้อมในเรื่องคน ความรู้ ความเข้าใจ ความซื่อสัตย์สุจริต
7.10 ฯลฯ ยังมีกิจกรรมปลีกย่อยอีกมาก คณะผู้ศึกษาเห็นว่า กิจกรรมอะไรก็ทำได้ ขอให้ทำโดยผู้สูงอายุ เพื่อผู้สูงอายุ หรือสังคมที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ก็น่าจกระทำได้ทั้งนั้น

8. ปัจจัยที่ทำให้ชมรมประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ถ้าพิจารณาจากข้อคิดเห็น ของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนจากผู้มีประสบการณ์ ในการดำเนินการชมรมผู้สูงอายุแล้ว คณะศึกษาวิจัยมีความเห็นว่า ปัจจัยหลักอยู่ที่ตัวผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสมาชิกในชมรมนั้นเอง ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องรองลงมา ถ้าผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรม มีความเข้าใจในหลักการ หรืออุดมการณ์ของการตั้งชมรม ว่าชมรมเป็นของตนเอง โดยตนเอง เพื่อตนเอง และสังคมแล้ว เราเชื่อว่า ชมรมจะประสบผลสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง เพราะชมรมผู้สูงอายุจหาทางช่วยตนเอง แทนการคอยแต่รับความช่วยเหลือ จากผู้อื่น ยิ่งสมาชิกในชมรม เป็นผู้มีศักยภาพในด้านต่างๆ สูง ก็ยิ่งจะประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น หลายชมรมให้น้ำหนักที่ กรรมการของชมรมว่า เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ความจริงกรรมการก็มาจาก สมาชิกของชมรมนั่นเอง ดังนั้น ก่อนการตั้งชมรมผู้สูงอายุ ควรจะได้ให้สมาชิกเข้าใจในหลักการ อุดมการณ์ อย่างถ่องแท้เสียก่อน จะทำให้ชมรมอยู่ได้ยืนยาว มั่นคง แม้จะช้าแต่ก็ดีกว่ารีบร้อน แล้วล้มสลายไป

9. การนำชมรมผู้สูงอายุ เข้าอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน จากการศึกษาเชิงปริมาณ จะเห็นว่า ชมรมผู้สูงอายุมีมากมายทั่วประเทศ แต่ละชมรมต่างก็เป็นเอกเทศ ในการบริหารจัดหารชมรมของตนเอง ปัจจุบันมีสภาผู้สูงอายุ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นเครือข่ายใหญ่ ของชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ เป็นการสมควรที่ชมรมผู้สูงอายุ ที่มีอยู่ทั่วไป จะได้สมัครเข้าไปอยู่ ในเครือข่ายของสภาฯ ซึ่งมีสาขาสภาฯ อยู่ทุกจังหวัด และทุกเขตในกรุงเทพมหานคร การเข้าอยู่ในเครือข่ายสภาฯ จะทำให้ชมรมผู้สูงอายุไม่โดดเดี่ยว ได้รับข่าวสารสนเทศจากสภาฯ เกิดมิตรที่คอยเอื้ออาทรทั่วประเทศ ช่วยทำให้ชมรมผู้สูงอายุ มีพัฒนาการดียิ่งขึ้น อนึ่ง ชมรมนั้น โดยสถานภาพ ไม่ใช่บุคคล และนิติบุคคล จึงไม่สามารถทำนิติกรรมได้ ตามกฎหมาย ความรับนับถือ หรือความเชื่อในด้านธุรกิจจึงต่ำ แต่สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น การอยู่ในเครือข่ายของสภาฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า (วิธีเข้าอยู่ในเครือข่ายสภาผู้สูงอายุฯ ทำได้ง่ายๆ โดย ถ้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ติดต่อกับสาขาสภา ประจำเขตที่ชมรมตั้งอยู่ ถ้าไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ให้ติดต่อสภาฯ โดยตรง โทร/โทรสาร 282-7716 เพื่อจะได้ทราบว่า สาขาสภาฯ ประจำเขตอยู่ที่ใด ถ้าอยู่ต่างจังหวัด ก็ติดต่อที่ประชาสงเคราะห์จังหวัดนั้นๆ หรือจะโทร. ถามที่กรุงเทพฯ ก็ได้)

ที่มา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข | วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 9