คาถาชินบัญชร

คาถาชินบัญชร

ความเป็นมาของ  คาถาชินบัญชร  ชินบัญชร นั้นแปลว่า กรง หรือ เกราะป้องกันภัยของพระพุทธเจ้า คำว่า ชิน หมายถึง พระพุทธเจ้า คำว่า บัญชร หมายถึง กรง หรือ เกราะ

โดยที่เนื้อหาในคาถาในชินบัญชรนั้นจะเป็นการอัญเชิญการสวดพระคาถาชินบัญชร (ซึ่งถือเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตอยู่กับเรา) พุทธคุณทั้ง ๙ ประการ มีดังนี้เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปราศจากโรค ได้ลาภ ได้ยศ ค้าขายดี มีวิชาความรู้ เจริญรุ่งเรือง

ประโยชน์ของการสวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความสิริมงคลต่อชีวิต และคุ้มครองป้องกันภัย รวมถึงยังเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณอีกด้วย

ถกเถียงกันมานานนับทศวรรษ เกี่ยวกับปริศนาที่ว่า ใครกันแน่เป็นผู้แต่ง คาถาชินบัญชร ระหว่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสีแห่งวัดระฆังโฆษิตาราม กับพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญบาลีปกรณ์รูปหนึ่งจากเชียงใหม่

กรณีของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ภายหลังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ท่านเป็นเพียงผู้นำคาถาชินบัญชรมาเผยแพร่ให้ผู้คนรู้จักเท่านั้น ทว่า มิได้เป็นผู้เริ่มต้นรจนา

ดังที่บันทึกไว้ว่า ท่านได้ไปสวดคาถานี้ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งว่าถ้อยคำไพเราะดี ทรงซักถามว่า “ขรัวโตได้มาจากไหน แต่งเองหรือเปล่า” ท่านถวายพระพรตอบว่า “หามิได้ เป็นสำนวนเก่าของเมืองเหนือ นำมาแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้”

* ข้ามไปยัง บทสวด คาถาชินบัญชร

ถ้าอย่างนั้น คำตอบก็น่าจะเบนเข็มไปที่ พระภิกษุชาวล้านนารูปหนึ่ง ในยุคทองสมัยพระเจ้าติโลกราชหรือเช่นไร เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีการสนับสนุนให้พระเถระหลายร้อยรูปเดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกา ครั้นกลับมาแล้วต่างแข่งขันกันรจนาบาลีปกรณ์อย่างเอิกเกริก จนกิตติศัพท์ขจรขจายไกลไปถึงพม่า กรุงศรีอยุธยา สิบสองปันนา และล้านช้าง ทำให้เมืองเหล่านั้นต้องขอคัมภีร์ภาษาบาลีที่จารโดยพระภิกษุล้านนาไปศึกษา

ผู้รู้บางคนกล้าฟันธงว่า สำนวนร้อยกรองสุดยอดเช่นนี้ จะเป็นพระภิกษุรูปอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก “พระสิริมังคลาจารย์” ปราชญ์เอกแห่งล้านนา ผู้ฝากผลงานคลาสสิคไว้แก่แผ่นดินถึง 4 เรื่อง ได้แก่ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา

พระสิริมังคลาจารย์ เป็นผู้รจนาคาถาชินบัญชรจริงล่ะหรือ?

หากเป็นผลงานของท่านแล้วไซร้ ไฉนเลยจึงไม่ใส่ชื่อไว้ให้เป็นอมตะเหมือนดั่งผลงานชิ้นเอกอุอื่นๆ เล่า

พระสิริมังคลาจารย์ แห่งเชียงใหม่
หรือ พระชัยมังคละ แห่งลำพูน ?

โปรดสังเกตชื่อของพระภิกษุทั้งสองรูปนี้ให้ดี ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันทีเดียว

กล่าวคือ มีคำว่า “มังคลา-มังคละ” เหมือนๆ กัน ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ชาวล้านนารุ่นหลังเกิดความสับสนจดจำชื่อของผู้รจนาคาถาชินบัญชรผิด จาก “พระชัยมังคละ” กลายมาเป็นการยกผลประโยชน์ให้ “พระสิริมังคลาจารย์”

ยิ่งรูปหลังนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเบียดบังชื่อของพระชัยมังคละให้ลบเลือนหาย

พระชัยมังคละ คือใคร เป็นผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรจริงหรือ ทำไมคนทั่วไปไม่รู้จัก?

พระชัยมังคละเป็นพระมหาเถระชาวเมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ.1981 ท่านได้จารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) ไว้ฉบับหนึ่ง ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สามารถใช้เป็นเครื่องยุติปริศนาข้อที่ว่า ใครรจนาพระคาถาชินบัญชรได้ชะงัดนัก

คัมภีร์ดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ “อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม” ข้าราชการบำนาญ อดีตนักจารึกวิทยา-นักภาษาโบราณแห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เนื้อหาในคัมภีร์กล่าวถึง การเดินทางไปกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุที่เมืองลังกา ณ ที่นั้น พระชัยมังคละได้พบกับครูบานักปราชญ์ชาวลังการูปหนึ่ง ซึ่งได้มอบ “คาถาชัยบัญชร” (คนไทยเรียกชินบัญชร) จำนวน 14 บท พร้อมด้วยประวัติความเป็นมาของการแต่งอีกด้วย

เมื่อพระชัยมังคละเดินทางกลับมาลำพูน ได้สวดถวายแด่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ในคราวเสด็จมานมัสการพระธาตุหริภุญไชย

*- ข้ามไปยัง บทสวด คาถาชินบัญชร

จากนั้นพระเจ้าติโลกราชโปรดให้นำมาเป็นคาถาสวดประจำราชสำนัก เพื่อปัดเป่าเวทมนตร์คุณไสยเสนียดจัญไรในเชียงใหม่ พร้อมให้คัดลอกเผยแผ่กระจายไปสู่วัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือจนถึงราชสำนักอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ

แม้แต่ในยุคที่บุเรงนองตีล้านนาแตก แล้วให้โอรสผู้มีนามว่า นรธามังช่อ (อโนรธา) ปกครองเชียงใหม่นั้น ทั้งบุเรงนองและอโนรธา ต่างก็นำคาถาชัยบัญชรจากราชสำนักล้านนา มาท่องเป็นคาถาสวดคู่กายในยามออกรบแทนคำสวดมนตรยานดั้งเดิมแบบพม่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี
นำพระคาถาชินบัญชรมาจากไหน?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า คาถาชินบัญชร มีต้นกำเนิดมาจากลังกา และได้เข้าสู่แผ่นดินสยามครั้งแรกที่เมืองลำพูน จากนั้นก็เผยแพร่ไปยังเมืองต่างๆ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี ชาตะในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2331 แสดงว่า คาถาชินบัญชร ที่สมเด็จโตวัดระฆัง สวดตลอดชีวิตนั้น มีมาก่อนแล้ว 350 ปี โดยเอาศักราช 1981 เป็นตัวตั้ง หรือหากนับจนถึงปัจจุบัน คาถาชินบัญชรก็มีอายุครบ 574 ปี

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ในเมื่อไม่ได้แต่งเอง แล้วท่านไปนำคาถานี้มาจากใคร ที่ไหน อย่างไร?

เมื่อศึกษาปูมหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้วพบว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณรน้อยด้วยวัยเพียง 5 ขวบ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ในวัย 7 ขวบ สามเณรโตออกเดินธุดงค์ไปในเขตวัดร้างเมืองกำแพงเพชร อันเป็นถิ่นกำเนิดเมืองมารดาของท่านซึ่งเป็นชาวเหนือ มีชื่อว่า นางเกตุ หรือเกสรคำ

ณ เจดีย์ร้างแห่งหนึ่งใกล้ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ ที่เมืองกำแพงเพชรนั้นเอง สามเณรโตได้พบซากคัมภีร์เก่าชำรุด ร้อยเรียงเรื่อง คาถาชัยบัญชร เขียนเป็นภาษาบาลี ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านต้องหันมาศึกษาภาษาบาลี และอักขระล้านนาตั้งแต่ยังเป็นเณรน้อยอย่างแตกฉาน

ด้วยเหตุที่คัมภีร์ฉบับนั้นไม่ระบุนามผู้รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงมิอาจอ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบได้ เมื่อกาลเวลาผ่านผัน คนทั่วไปไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ยิ่งคิดกันเอาเองว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คือผู้แต่งพระคาถาชินบัญชรนั้น

ปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในลังกา

เนื้อหาจากใบลานที่จารโดยพระชัยมังคละ ซึ่ง อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม ได้ถอดความปริวรรตนั้น กล่าวถึงปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในประเทศลังกาไว้อย่างละเอียดว่า

เริ่มจากการที่มีพระราชาของลังกาอยู่องค์หนึ่ง ได้ถูกโหรหลวงทำนายทายทักว่าดวงชะตาของพระโอรสเมื่อมีอายุครบ 7 ปี 7 เดือน ในวันใด ราชกุมารจักถึงฆาตด้วยถูกอัสนีบาต

ในช่วงแรกๆ พระราชารู้สึกว่าเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระไม่ทรงเชื่อมากนัก

แต่ครั้นเมื่อพระโอรสอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7 กำลังน่ารักน่าชัง พระราชาพลันเกิดความกังวลและเริ่มกลัวคำทำนาย

เมื่อนำข้อปริวิตกไปปรึกษากับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงภยันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่พระโอรสในอีกไม่ช้า พระมหาเถระลังกาจำนวน 14 รูปจึงได้ประชุมตกลงกันคิดหาหนทางอาราธนาพระพุทธคุณของพระอดีตพุทธ 28 พระองค์ พร้อมกับพระธรรมเจ้า 9 ประการ และบารมีธรรมของพระอรหันตสาวกที่เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ ให้มาประมวลรวมกันทั้งหมด จนเกิดความขลังสร้างพลังในการปกป้องคุ้มภัยให้แก่ราชบุตร

จากนั้นจึงวางแผนแบ่งหน้าที่ช่วยกันรจนาคาถารูปละ 1 บทรวมเป็น 14 บท เนื่องจากสถานที่รวมตัวกันประพันธ์บทคาถานั้น อยู่ในพระมหาปราสาทชั้นที่ 7 ของพระราชา ตั้งอยู่ใกล้กับ “ปล่องเบ็งชร” (คูหาที่เปิดเป็นช่องหน้าต่าง) คาถานั้นในลังกาจึงมีชื่อเรียกว่า “ชัยบัญชร” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “ชินบัญชร” โดยเชื่อกันว่าเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยสมเด็จโตวัดระฆังฯ

ในเมื่อคนทั่วไปไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ จึงพยายามให้คำนิยามว่า “ชิน หรือ ชินะ” คือชัยชนะของพระชินเจ้า

(เมื่อเปรียบเทียบกับคำเดิมคือ “ชัย” พบว่า “ชิน” มีความหมายลึกซึ้งกว่า) ส่วน “บัญชร” ถูกตีความเป็น ซี่กรงของหน้าต่าง อุปมาอุปไมยดั่งแผงเหล็กหรือเกราะเพชรอันแข็งแกร่งที่ช่วยปกป้องคุ้มกันภยันตรายจากศัตรูหมู่มารทั้งปวง ถือว่าการตีความของคนรุ่นหลังนี้ล้ำลึกไม่เบา

ครั้นแต่งคาถาเสร็จแล้ว พระมหาเถระทั้ง 14 รูปได้มอบให้พระโอรสนำเอาไปท่องบ่นทุกวันจนจำให้ขึ้นใจ

กระทั่งเมื่อถึงวันครบกำหนดคือพระโอรสมีอายุ 7 ปี 7 เดือน พอดิบพอดี ได้เกิดสายฟ้าฟาดผ่าลงมากลางกรุงลังกาอย่างรุนแรงจริงๆ แต่ไม่ตกต้ององค์พระโอรส กลับแฉลบไปผ่าลงเอาหินก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวัง

เป็นที่ร่ำลือกันทั่วลังกา ว่าเพราะพระโอรสได้ท่องบ่นคาถา “ชัยบัญชร” อย่างอุกฤษฏ์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั่นเอง จึงแคล้วคลาดจากเคราะห์กรรมไปได้ราวปาฏิหาริย์

น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุปีศักราชของเหตุการณ์ รวมทั้งพระนามของกษัตริย์และพระโอรสคู่นั้น เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าจุดเริ่มต้นของคาถาชัยบัญชรในลังกานั้นมีขึ้นยุคใด สมัยราชวงศ์อนุราธปุระ หรือโปลนนารุวะ ก่อนหน้าการเดินทางไปศึกษาพระธรรมของพระชัยมังคละนานมาแล้วกี่ร้อยปี

แต่ที่แน่ๆ คาถานี้เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้หนักให้เป็นเบา จากคำทำนายของโหรหลวงในราชสำนักลังกา มิได้เกิดจากพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้า

บทสวด คาถาชินบัญชร

เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้นก่อนเจริญภาวนาชินบัญชร ตั้งนะโม 3 จบก่อน

ระลึกถึง สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แล้วตั้งอธิษฐาน

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

เริ่มบท คาถาชินบัญชร

  1. ชะยาสะนากะตา พุทธา        เชตวา มารัง สะวาหะนัง
    จะตุสัจจาสะภัง ระสัง           เย ปิวิงสุ นะราสะภา
  2. ตัณหังกะราทะโย พุทธา       อัฏฐะวีสะติ นายะกา
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง        มัตถะเกเต มุนิสสะรา
  3. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง          พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง        อุเร สัพพะคุณากะโร
  4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ          สารีปุตโต จะทักขิเณ
    โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง    โมคคัลลาโน จะ วามะเก
  5. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง         อาสุง อานันทะ ราหุโล
    กัสสะโป จะ มะหานาโม        อุภาสุง วามะโสตะเก
  6. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง          สุริโย วะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน             โสภิโต มุนิปุงคะโว
  7. กุมาระกัสสโป เถโร              มะเหสี จิตตะ วาทะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง       ปะติฏฐาสิคุณากะโร
  8. ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ          อุปาลี นันทะ สีวะลี
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา         นะลาเต ติละกา มะมะ
  9. เสสาสีติ มะหาเถรา              วิชิตา ชินะสาวะกา
    เอเตสีติ มะหาเถรา              ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะลันตา สีละเตเชนะ           อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
  10. ระตะนัง ปุระโต อาสิ            ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ         วาเม อังคุลิมาละกัง
  11. ขันธะโมระปะริตตัญจะ          อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ          เสสา ปาการะสัณฐิตา
  12. ชินา นานาวะระสังยุตตา       สัตตัปปาการะ ลังกะตา
    วาตะปิตตาทะสัญชาตา        พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.
  13. อะเสสา วินะยัง ยันตุ            อะนันตะชินะ เตชะสา
    วะสะโต เม สะกิจเจนะ         สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
  14. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ          วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ      เต มะหาปุริสาสะภา
  15. อิจเจวะมันโต                     สุคุตโต สุรักโข
    ชินานุภาเวนะ                     ชิตุปัททะโว
    ธัมมานุภาเวนะ                   ชิตาริสังโฆ
    สังฆานุภาเวนะ                   ชิตันตะราโย
    สัทธัมมานุภาวะปาลิโต         จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ

คำแปล คาถาชินบัญชร

    1. พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์
      ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ
      อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
    2. มี ๒๘ พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
    3. ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
      องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ
      พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง
      พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
    4. พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจพระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา
      พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
    5. พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา
      พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
    6. มุนีผู้ประเสริฐคือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง
      อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
    7. พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ
      มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
    8. พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี
      พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
    9. ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส
      เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน
      รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
    10. พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้าพระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา
      พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
    11. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร
      เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
    12. อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้
      ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง
      สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
    13. ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ
      เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม
      แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน
      อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น
      เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
    14. ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น
      จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร
      ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
    15. ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม
      จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า
      ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพ
      แห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ
บทสวดชินบัญชร

บทสวดชินบัญชร

 

รูปภาพจาก Father150
ข้อมูลจาก : 84000.org matichonweekly.com luangputo.com

คำค้น: คาถาชินบัญชร  บทสวดชินบัญชร

กลับขึ้นไปด้านบน | กลับสู่หน้าหลัก  บทสวดมนต์